ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา ... อันตรายอีกครั้งนอกสถานศึกษา

เผยแพร่เมื่อ 27/11/2567
เขียนโดย ว่าที่ ร.อ.ไพฑูรย์ เหมือนเพ็ชร
           กรรมการ ส.อ.ป.

ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษา...อันตรายอีกครั้งนอกสถานศึกษา

          หากท่านผู้อ่านยังจำเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่นานนัก เปิดศักราชปีงบประมาณใหม่ ตุลาคม 2567 ได้เกิดโศกนาฎกรรมขึ้นถนนวิภาวดีรังสิต รถบัสเกิดอุบัติเหตุ มีไฟไหม้ และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นทั้งครู และนักเรียนกว่า 20 คน สร้างความสะเทือนใจอย่างมากต่อประชาชนที่รับข้อมูลข่าวสาร รับข้อมูลผ่านสื่อจนเกิดวาทะกรรมต่าง ๆ มากมาย เกี่ยวกับการทัศนศึกษา หรือกระบวนการดูแลเรื่องของคุณภาพรถบัสหรือรถโดยสารไม่ประจำทาง รวมถึงมาตรการที่ออกจากหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง จับท่าทีความขึงขังในเรื่องดังกล่าวอยู่พักใหญ่ ๆ และสุดท้ายก็เหมือนไฟไหม้ฟาง ที่โหมกระหน่ำด้วยกระแสแรงอารมณ์ แล้วสุดท้ายก็เจือจางเบาลงไปตามระยะเวลา ณ วันที่ผู้เขียนเริ่มเขียนเรื่องนี้ ก็แทบจะลืมกันไป แทบไม่พูดถึงกันด้วยซ้ำ กว่าจะพูดกันอีกที ถ้าไม่เกิดเหตุซ้ำอีกครั้ง ก็เจออีกครั้งในช่วงครบรอบปี

          ต้องขออนุญาตตรงนี้นะครับว่า ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะตอกย้ำซ้ำเติมใด ๆ กับผู้สูญเสีย รวมถึงผู้ที่มีความรู้สึกอินกับเหตุการณ์เพราะตอนเองมีบุตรธิดาในวัยไล่เลี่ยกับน้อง ๆ ที่เสียชีวิต แต่สิ่งที่เราจะมาพูดกันในบทความนี้คือ จะให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ ได้หรือไม่ เพราะในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นผู้รับผิดชอบโครงการที่จะต้องพานักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยไปทัศนศึกษาต่าง ๆ แม้ว่าจะเป็นนักศึกษาที่เจริญวัยแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอันตรายจากเรื่องนี้อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

 

          จากการค้นข้อมูลเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถบัสที่ได้รับการว่าจ้างให้รับส่งนักเรียน นิสิตนักศึกษาไปทำการทัศนศึกษาแค่เฉพาะในปี พ.ศ. 2567 เอง มีเหตุไปแล้วร่วมถึงครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เรามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วในรอบปีทั้งหมด 6 ครั้ง (https://theactive.net/data/accident-field-trip/) ถ้าตีเฉลี่ยง่าย ๆ ก็คือ สองเดือนมีเหตุการณ์เกี่ยวกับรถบัสทัศนศึกษาหนึ่งกรณี บางกรณีแค่บาดเจ็บเฉพาะคน ที่เหลือปลอดภัยดี แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่จบด้วยการมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ๆ คำถามคือ อะไรคือสาเหตุของเหตุการณ์เหล่านั้น และการยกเลิกการทัศนศึกษามันคือการแก้ปัญหาปลายเหตุหรือเปล่า ? และสุดท้ายทุกอย่างก็เช่นเดิม ไฟไหม้ฟาง ไม่มีวิธีการแก้ไขปัญหาอะไรที่เป็นมาตรการถาวรนัก แต่หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เริ่มเห็นการมีแอ็คชันกับเรื่องนี้ เช่น จะต้องมีการแนะนำทางหนีไฟออกจากรถ สาธิตการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยชีวิตในรถเช่นค้อนทุบกระจก ซึ่งมันก็คือกระบวนการการแนะนำความปลอดภัยอย่างที่เครื่องบินพาณิชย์ใช้กัน แค่เปลี่ยนจากเครื่องบินมาเป็นรถบัส ซึ่งผู้ให้บริการรถบัสขนส่งผู้โดยสารรายใหญ่ในประเทศ ก็จะมีผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นบัสโฮสเตรท คล้าย ๆ แอร์โอสเตรทบนเครื่องบิน ในการแนะนำ ที่ทำมากันตลอดหลายสิบปี

          สรุปแล้ว ประเด็นปัญหาของเรื่องนี้เกิดขึ้นจากอะไร ????

          จากข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้น การสอบสวนของพนักงานสอบสอบสวนต่าง ๆ พบว่าเกิดจากสภาพรถที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน คำถามต่อมาคือ เมื่อสภาพรถไม่พร้อมใช้เหตุใดจึงถูกนำมาใช้งาน ใครคือผู้อนุญาตให้นำรถออกมาวิ่งบริการ แน่นอนไม่พ้นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้แก่ กรมการขนส่งทางบก หรือขนส่งจังหวัดที่จะต้องเป็นผู้ตรวจสอบและอนุญาตการใช้รถ แล้วปล่อยให้รถแบบนี้หลุดมาบริการผู้คนได้อย่างไร สืบสาวราวเรื่องไปปรากฎว่า ตอนไปขึ้นทะเบียนทำถูกต้อง แต่พอเอามาวิ่งจริงก็ดัดแปลงเพิ่มเติมก่อนเอาไปบริการ คราวนี้ ใครผิดหล่ะ ?

          จากที่ผมค้นข้อมูลดูมีบทสัมภาษณ์จากนักเรียนที่นั่งรถคันดังกล่าว รวมถึงนักเรียนที่รอดชีวิต พูดว่าได้กลิ่นแก๊ส แต่จริง ๆ คือกลิ่นที่ทำให้รู้ว่ามีแก๊สรั่ว ถ้ามีการรับรู้กลิ่นเกิดขึ้นจากใครสักคนหรือหลายคนนั่นแสดงว่า ปริมาณของมันต้องมากพอควรที่จะสามารถรับรู้ได้จากประสาทสัมผัสกลิ่น ผู้รู้เหตุการณ์หรือได้รับสัมผัสกลิ่นได้แจ้งต่อคนรถหรือไม่ หรือคนรถรู้หรือไม่ว่ามีอะไรผิดปกติในรถของตน หรือปริมาณก๊าซมันมีมากเกินจนทำให้ผู้ประสบเหตุอาจจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอแล้วเกิดภาวะหมดสติ หรือเกิดการหลับเพราะอ่อนเพลีย ต้องบอกเลยครับว่า มันมีหลายจุดมากที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายได้เกือบจะทุกกรณีที่มีความเป็นไปได้

          ทักษะของการสังเกตเพื่อชี้บ่งอันตรายต่าง ๆ จึงไม่ใช่จำกัดแค่เฉพาะการเรียนรู้ในศาสตร์ด้านความปลอดภัย แต่มันคือทักษะที่ต้องเป็น “ทักษะชีวิต” ที่ใช้ได้ในชีวิตจริง เราต้องทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครูอาจารย์ที่รับบริการหรือว่าจ้าง ผู้ประกอบการขนส่งและคนขับ จะต้องเข้าใจถึงเรื่องนี้ว่าโอกาสของอันตราย อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่าง ๆ นั้น มันคือชั่ววินาทีเดียวของข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่เราสามารถจะ ลด ละ เลี่ยง หรือควบคุมได้ ถ้าเราเอาทักษะนี้เข้ามาใช้ในการทำงาน

          สองบทความก่อนผมจะอ้างไปถึงสิ่งที่เรียกว่า เกณฑ์การประเมินสถานศึกษาปลอดภัย และที่เขียน ๆ มาส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งที่เรามักจะละเว้นการประเมินหรือทำแต่ไม่ได้จริงจัง ให้เกิดความปลอดภัย การละเลยปัญหาต่าง ๆ จนนำมาสู่โศกนาฎกรรม ที่ไม่มีใครคาดคิด และได้แต่ตีโพยตีพายอ้างสิ่งอื่นเพื่อบรรเทาแผลความผิดในใจ เรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่ก็เข้าใจได้ถึงความจำกัดทางงบประมาณของสถานศึกษาที่ได้รับการจัดสรรจากภาครัฐไม่ได้มากพอ รวมถึงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่แสนวุ่นวาย ตีความหลากหลาย ผลประโยชน์ที่ควรจะตกลงกับเด็กที่จะได้ประโยชน์เต็มที่กลับกลายเป็นผู้ประสบเหตุเสียเอง ทุกอย่างนั้นคือความเสี่ยงที่นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ จนถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ผ่านมา

          ถึงเวลาหรือยังครับ ที่เราควรจะต้องแสดงความตระหนัก และเอาบทเรียนมานำเสนอแนวทางการลดปัญหาความเสี่ยง แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในตรงจุด ตรงประเด็น และมีมาตรการที่รัดกุมและเป็นประโยชน์ต่อครูผู้ปฏิบัติงาน ต่อนักเรียนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และต่อคนอื่น ๆ ที่ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมลดความเสี่ยง ป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทักษะเบื้องต้นที่ควรจะมีในเหตุการณ์ดังกล่าง แบ่งหน้าที่ได้ดังนี้

ตารางตัวอย่างแสดงแนวทางการดำเนินการกรณีเกิดอุบัติเหตุและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
จากกระบวนการการขนส่งในกิจกรรมทัศนศึกษา

          จริง ๆ มีอีกเยอะครับ ถ้าให้มาลงหมดคิดว่าบทความน่าจะมีหลายรอบเลย นี่แค่เป็นสกิลพื้น ๆ ที่สอนกันเองได้ และนำไปใช้ในเชิงปฏิบัติได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวว่า นี่คืออีกครั้งกับสถานศึกษาที่ไม่ค่อยปลอดภัยนอกห้องเสียมาก จึงได้ตั้งเป็นหัวข้อในการทำบทความรอบนี้ “รถไฟไหม้ทัศนศึกษา อันตรายอีกครั้งนอกสถานศึกษา”

ที่มาของภาพข่าว
รถบัสทัศนศึกษาเสียหลักพุ่ลงข้างทาง ครู-นักเรียนระทึก ดับหนึ่ง เจ็บนับสิบ”. (2562). [Online] http://www.sanook.com/news/7714914
รถบัสทัศนศึกษาเฉี่ยวเก๋ง พุ่งตกข้างทาง นักเรียน-ครู เจ็บอื้อ สลดพบเสียชีวิต 2 ราย”. (2566). [Online] http:// hilight.kapook.com/view/231761
เผยเหตุรถบัสทัศนศึกษา ไฟไหม้กลางวิภาวดี สลดนักเรียนมา 44 คน ลงจากรถแค่ 19 คน”. (2567). [Online] https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_9439115

Visitors: 420,910