แรงงานหญิงมีครรภ์ควรรู้
เผยแพร่เมื่อ 15/11/2566
เขียนโดย คุณชลธิชา ขำคม
แรงงานหญิงมีครรภ์ควรรู้
ปัจจุบันแรงงานหญิงได้ปฏิบัติงานอยู่เกือบทุกสาขาอาชีพ แต่เนื่องจากมีความแตกต่างกันทางสรีระระหว่างเพศชายกับเพศหญิง โดยเฉพาะความแข็งแรงและการมีครรภ์ของเพศหญิง หญิงที่ตั้งครรภ์จึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ให้กำเนิดแรงงานรุ่นใหม่ ภาวะตั้งครรภ์นั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจไปจากภาวะปกติ ซึ่งมีผลต่อการทำงาน และงานบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ ดังนั้นในช่วงระหว่างตั้งครรภ์นี้ จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของทั้งแม่และเด็ก ดังนั้นจึงมีการออกกฎหมายในการคุ้มครองแรงงานหญิงเป็นกรณีพิเศษ เพื่อมิให้ทำงานหนักเกินกำลังและมีความปลอดภัยในการทำงาน และสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับโดยแรงงานหญิงมีครรภ์ทุกคนควรรู้ ดังนี้
1. ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานนอกเวลาปกติ
ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานในช่วงเวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่หญิงมีครรภ์ต้องได้รับการพักผ่อน รวมถึงการทำงานล่วงเวลาและการทำงานในวันหยุด โดยถ้าหากหญิงตั้งครรภ์เคยทำงานในกะกลางคืน นายจ้างต้องเปลี่ยนช่วงเวลาในการทำงานเป็นกะกลางวันให้แทน
ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์ทำงานตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ ธุรการ การเงิน บัญชี นายจ้างอาจให้ทำงานล่วงเวลาได้เท่าที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป
2. ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
- งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
- งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
- งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
- งานที่ทำในเรือ
- งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
3. หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร
หญิงที่กำลังตั้งครรภ์สามารถลางานเพื่อตรวจครรภ์และคลอดบุตรได้ ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง โดยนับรวมวันหยุดต่างๆ เข้าไปด้วย และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเต็มเวลาเป็นเวลา 45 วัน โดยอีก 45 วันที่เหลือ หากหญิงมีครรภ์เป็นผู้ประกันตนสามารถขอสิทธิประโยชน์ทดแทนได้จากกองทุนประกันสังคม รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นการเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
4. หญิงมีครรภ์ขอเปลี่ยนงานได้
หากต้องการเปลี่ยนหน้าที่ในการทำงานใหม่ในช่วงตั้งครรภ์สามารถขอใบรับรองแพทย์เพื่อยืนยันว่า ไม่สามารถทำงานในหน้าที่เดิมต่อได้ เพื่อนำไปยื่นให้กับนายจ้าง เพื่อขอเปลี่ยนงานชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ โดยนายจ้างต้องเปลี่ยนงานที่เหมาะสมให้ หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากการไม่ปฏิบัติตามนั้นเป็นเหตุให้ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. ห้ามเลิกจ้างหญิงมีครรภ์
หากลูกจ้างหญิงที่กำลังตั้งครรภ์โดนบริษัทเลิกจ้างโดยไม่ได้กระทำความผิดใดๆ นายจ้างจะมีความผิดทางอาญา ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ไม่นับรวมการเลิกจ้างด้วยเหตุผลอื่น เช่น การทุจริตต่อหน้าที่ หรือขาดงานติดต่อกันมากกว่าสามวัน ในกรณีนี้สามารถเลิกจ้างได้โดยนายจ้างไม่มีความผิด
ดังนั้นหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความสำคัญ ซึ่งในช่วงระหว่างตั้งครรภ์นี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญของทั้งแม่และเด็ก โดยภาวะตั้งครรภ์นั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจไปจากภาวะปกติ ซึ่งมีผลต่อการทำงาน และงานบางอย่างอาจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรรู้เพื่อความปลอดภัยในการทำงานในช่วงตั้งครรภ์และสิทธิประโยชน์ที่ต้องได้รับ
ข้อมูลจาก:
1. พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 39, 41, 42, 43, 59, 144
2. พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 67