องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ ตอนที่ 2

เผยแพร่เมื่อ 29/5/2567
เขียนโดย อาจารย์ ดร.ปาจรีย์ กุณฑลบุตร
           ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ ตอนที่ 2

          1.3 องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ
              
องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ ประกอบด้วยการคาดการณ์ ตระหนัก ระบุอันตรายและความเสี่ยงในการทำงาน การประเมินถึงอันตรายที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน พิจารณาความพอเพียงและความเหมาะสมของมาตรการที่อยู่ และวิเคราะห์ข้อมูลการเฝ้าระวังสุขภาพของพนักงาน

ภาพที่ 1.2 องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ

              โดยมีโปรแกรมพื้นฐานที่ต้องดำเนินการคือ 1) โปรแกรมการสำรวจทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ผลลัพธ์นำไปสู่ 2) โปรแกรมการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ (เบื้องต้น) อันตรายที่มีความเสี่ยงยอมรับได้และต่ำ จะถูกดำเนินการประเมินช้ำตามระยะเวลาที่เหมาะสม และจัดลำดับความสำคัญสำหรับอันตรายที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง สูง และสูงมาก เพื่อนำเข้า 3) โปรแกรมการประเมินการสัมผัสทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และ โปรแกรมการประเมินการสัมผัสทางชีวภาพ ถ้าพนักงานมีโอกาสได้รับสารเข้าสู่ร่างกายทางอื่นนอกเหนือทางหายใจ หรือมีการรับสัมผัสทางการหายใจมากกว่า 50% ของค่าขีดจำกัดการรับสัมผัสสารเคมีในบรรยากาศ สำหรับผลการประเมินการรับสัมผัสจากโปรแกรมการประเมินการสัมผัสทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและโปรแกรมการประเมินการสัมผัสทางชีวภาพนำไปประเมินความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ (เฉพาะเรื่อง) และผลการประเมินความเสี่ยงในขั้นนี้นำไปสู่การเลือกและวางแผนสำหรับมาตรการป้องกันและควบคุม โดยมีโปรแกรมการควบคุมทางวิศวกรรม ระบบสารสนเทศสารเคมี และโปรแกรมเฝ้าระวังทางการแพทย์

 

ภาพที่ 1.3 ระบบการจัดการทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม

          บทสรุป
          ระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพของคนงาน ประกอบด้วย1)การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้แก่ การสำรวจทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และ การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ โดยประกอบไปด้วยกิจกรรมการคาดการณ์ ตระหนัก ระบุอันตรายและความเสี่ยงในการทำงาน การประเมินถึงอันตรายที่มีอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงาน การประเมินความเสี่ยงสุขภาพ เพื่อรู้ระดับความเสี่ยงต่อสุขภาพ จัดลำดับความเสี่ยงด้านสุขภาพและความจำเป็นเร่งด่วนในการควบคุมอันตราย เลือกมาตรการการควบคุมให้เหมาะสมทำให้สามารถกำหนดแผนกลยุทธ์ในการดูแลสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน 2)การเฝ้าระวังสุขภาพ หมายความถึง กระบวนการในการประเมินสุขภาพพนักงานเพื่อที่จะระบุความผิดปกติทางสุขภาพที่เกิดขึ้นของพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามทางสุขภาพในการทำงานของลูกจ้างการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นระบบ การประเมินทางสุขภาพประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจประเมินทางการแพทย์ การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ การตรวจทางรังสีวิทยา การใช้แบบสอบถามและการทบทวนข้อมูลบันทึกผลสุขภาพ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการทำงานและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะแรกที่อาจตรวจพบแก่พนักงาน และการส่งต่อพนักงานเพื่อการวินิจฉัยและรักษา 

          เอกสารอ้างอิง
          1. 
Mulhausen J, Damiano J. and Pullen EL. Further Information Gathering. In: A Strategy for Assessing and Managing Occupational Exposures. Edited by Ignacio JS. Bullock WH. 3rd ed. Fairfax, VA. AIHA; 2006.
          2. 
วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์. (2560). สุขศาสตร์อุตสาหกรรม: กลยุทธ์ ประเมิน ควบคุมและจัดการ. กรุงเทพฯ : เบสท์ กราฟฟิค เพรส. แนวปฏิบัติการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงด้านเคมีและกายภาพจากการประกอบอาชีพในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2555 (มอก.2547-2555) 

Visitors: 414,955