สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาหาจป.วิชาชีพไม่ได้หรือไม่?
เผยแพร่เมื่อ 24/09/2564....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายกสมาคม ส.อ.ป.
ซีรีส์ข้อมูลจำนวนจป.วิชาชีพในจังหวัดต่างๆ
EP8 - สี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาหาจป.วิชาชีพไม่ได้หรือไม่?
พูดกันมามากว่าที่กสร.ต้องหาทางให้มีการอบรมจป.วิชาชีพนั้น เพราะจังหวัดชายขอบ เช่นสี่จังหวัดทางใต้ของเรา คือสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส นายจ้างไม่สามารถหาจป.วิชาชีพได้ ไม่มีใครยอมไปทำงานด้วย สารพัดจะยกมาอธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องออกข้อ 21(3) มา
เรามาลองดูตัวเลขของทางการกันดีกว่าว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
1. จะเห็นได้ว่าที่สงขลาและปัตตานี ถึงแม้จะมองว่าจะยังขาดจป. แต่หากดูจำนวนจป.ที่มีอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ก็พบว่าเกินกว่าจำนวนสปก.ที่ต้องมีจป.ซะอีก แสดงว่าไม่ใช่จป.วิชาชีพจะไม่ยอมไปจังหวัดเหล่านี้นะครับ
2. นั่นหมายความว่า เอาเข้าจริงก็มีคนสมัครไปเป็นจป.วิชาชีพอยู่นะ ดังนั้นที่อ้าง ๆ กันว่าหาจป.ไม่ได้นั้น มันไม่น่าจะเพราะจป.ไม่ยอมมาทำงานที่จังหวัดแล้วละ แต่สาเหตุอาจมาจากนายจ้างให้เงินเดือนน้อยกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น นายจ้างไม่สนใจจะบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ทำให้จป.อยู่ไม่ได้ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่กสร.ต้องลงไปดูว่าอะไรคือปัญหากันแน่ (Root Causes) จะได้แก้ไขกันได้ถูกจุด
3. ยะลา มีจำนวนจป.อยู่ร้อยละ 31 ก็ถือว่าขาดเยอะ หากคิดเป็นจำนวนก็ขาด 20 คน น่าจะมีลุ้นหาได้ไหม?
4. นราธิวาส ต้องการจป.อีกเพียง คือ 7 คน ก็น่าจะลุ้นหาได้นะ
ที่พูดว่าน่าจะมีลุ้นก็เพราะดูจากจำนวนจป.ที่มีอยู่ทั้งจังหวัดของยะลาและนราธิวาส คิดเป็นร้อยละ 38 และ 57 ของจำนวนที่ต้องการตามลำดับ แสดงว่าก็ยังมีจป.ไปทำงานอยู่ และหากเกาให้ถูกที่คัน ปัญหาน่าจะแก้ได้นะครับท่านอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
5. ดูจากกราฟ จะเห็นทันทีว่าสงขลาเป็นจังหวัดที่มีจป.ทำงานอยู่มาก และสปก.หลายแห่งว่าจ้างจป.มากกว่า 1 คน ดังนั้นหากชี้ประเด็นความสำคัญและประโยชน์จากการมีจป.วิชาชีพ หรือจัดเวทีการประชุมให้นายจ้างที่ว่าจ้างจป.ได้พูดคุยกับนายจ้างที่ยังไม่มี เพียงจัดการที่สงขลาที่เดียว หากจัดหาได้ครบ สถิติการปฏิบัติตามกฎหมายใน 4 จังหวัดชายแดนนี้จะพุ่งขึ้นสูงถึง 93.18% เลยทีเดียว