ลิฟต์...ความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่เมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2567
เขียนโดย อาจารย์ว่าที่ร้อยเอก ไพฑูรย์ เหมือนเพ็ชร

 

ลิฟต์...ความปลอดภัยในสถานศึกษาที่ไม่ควรมองข้าม

          โรงเรียน หรือสถานศึกษานั้น ถือเป็นหน่วยหลักของการจัดการศึกษา การพัฒนานักเรียน การสร้างองค์ความรู้ขั้นพื้นฐานเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีการจัดการศึกษาและพัฒนานักเรียนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยต่าง ๆ บางครั้งอาจจะมีสถานศึกษาแบบพิเศษ ที่ออกแบบให้กับนักเรียนที่มีความสามารถ หรือออกแบบให้กับนักศึกษาที่ต้องการการพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งนับว่าช่วงชีวิตวัยเด็กจนถึงวัยรุ่นต้องอยู่ในสถานศึกษารวม ๆ กัน ไม่น้อยกว่า 10 ปี ถ้าหากพิจารณาแค่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงจบระดับชั้นมัธยมศึกษา รวมแล้ว 12 ปี ตรงนี้เรายังไม่รวมกรณีชั้นอนุบาล หรือที่น้อยกว่า และยังไม่รวมถึงการใช้ชีวิตในสถานศึกษาประเภทกวดวิชา ที่ยุคหนึ่งรุ่งเรืองมาก ๆ แทบจะเรียกว่า 2 ใน 3 ของชีวิตเด็ก ๆ และวัยรุ่น อยู่ในสถานศึกษาเกือบทั้งหมด ผู้เขียนเองก็เคยเป็นเด็ก เป็นวัยรุ่นนักเรียนในยุคนั้นที่ต้องใช้ชีวิตมากกว่า 8 ชั่วโมงกับสถานศึกษา และทุกวันนี้เป็นอาจารย์สอนในสถาบันอุดมศึกษา ก็แทบจะใช้ชีวิตกินนอนในสถาบันอุดมศึกษาไปแล้ว

          ทุกสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา มักจะมีตำนานความน่ากลัวเล่าขานกันอยู่จนเรียกว่าเป็นเรื่องประจำสถาบัน คล้าย ๆ นิทานพื้นบ้าน โดยเฉพาะบรรดาตำนานขนหัวลุกต่าง ๆ ตามตึกบ้าง ตามห้องน้ำบ้าง ตามอาคารเรียน ตามชั้นดาดฟ้า และที่จะดูคลาสสิคสุด ๆ เห็นจะไม่พ้น ลิฟต์ อย่างเช่น ตำนานลิฟต์แดงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

          จั่วหัวเรื่องขนาดนี้ บทความนี้ครับจะได้นำเสนอเรื่องของความปลอดภัยเกี่ยวกับลิฟต์ ที่ไม่ใช่เรื่องตำนานหลอน แต่ก็อาจจะดูไม่พิศมัยกับคนที่เคยเจอเหตุการณ์ลิฟต์ค้าง ลิฟต์ตกที่สูง หรือตกลงปล่องลิฟต์ก่อนที่ตัวลิฟต์จะขึ้นมาถึง เคยถามลูกหลานของเราหรือไม่ครับ เวลาไปโรงเรียนกัน อาคารเรียนที่เขาเรียนมีลิฟต์หรือไม่ มีกี่ตัว มีเสียหายบ้างไหม๊ หรือ เวลาที่ลิฟต์เสียซ่อมอยู่ แล้วต้องขึ้นไปอาคารสัก 5 ชั้น รู้สึกเป็นอย่างไร ? หรืออาจจะเคยเจอกรณีลิฟต์ค้าง ต้องทำยังงัย ? ตกใจไหม๊ ร้องไห้หรือเปล่า ? สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราควรจะกังวลถึงความปลอดภัยอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับสิ่งที่เรียกว่า ลิฟต์

          ลิฟต์ (Lift หรือ Elevator) ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า

“ลิฟต์ - น. ห้องเล็ก ๆ แขวนอยู่กับลวดสลิง

เคลื่อนที่ด้วยพลังไฟฟ้า สำหรับนำคนหรือของ

ขึ้นลงในอาคารสูงๆ”

          ถ้าด้วยความเข้าใจของผู้ใช้งานก็คือห้องหรือกล่องที่ใส่คนหรือของเพื่อโดยสารไปยังจุดต่าง ๆ ของอาคารในแนวดิ่ง และยังมีการใช้งานแบบเฉพาะเช่น ลิฟต์โดยสารที่ใช้เฉพาะขนส่งคน ลิฟต์ขนส่งสินค้า ที่จะมีความจุหรือขนาดที่ใหญ่กว่าปกติ บางคนอาจจะเคยเจอลิฟต์ขนาดเล็กตามโรงพยาบาลที่ใช้ในการขนส่งของไปยังชั้นบน ๆ  หรือลิฟต์โรงพยาบาลที่ใช้ทั้งการโดยสารของคนและขนย้ายผู้ป่วยด้วยขนาดของลิฟต์ที่มีความลึกมากกว่าปกติ จะเห็นว่าลิฟต์เองก็มีประเภทการใช้งานอย่างเฉพาะเจาะจง และแน่นอนลิฟต์ที่ยิมใช้ในสถานศึกษาหรือโรงเรียนนั้น มักจะเป็นลิฟต์โดยสารเป็นหลัก โดยเฉพาะโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่เป็นลักษณะอาคารสูงมากกว่า 3 ชั้นขึ้นไป จะมีลิฟต์อย่างน้อย 1 ตัวอยู่ในอาคาร

 

Ref.: https://www.britannica.com/technology/elevator-vertical-transport

          การใช้งานลิฟต์ก็อย่างความหมายนั่นเอง คือใช้เพื่อการขนส่งคนหรือของในแนวดิ่ง จึงจะต้องประกอบไปด้วยตัวลิฟต์ ที่อาจจะเป็นห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ จุคนได้ตามน้ำหนักที่สลิงของลิฟต์รับได้ โดยมากมักจะเฉลี่ยคนที่น้ำหนักที่ 70 กิโลกรัม เช่น ลิฟต์หลังนี้รับน้ำหนักได้ 700 กิโลกรัม หรือ 10 คน แต่บางทีอาจจะเข้าไปในลิฟต์แค่ 6 คน ก็มีสัญญาณเตือนว่าน้ำหนักเกิน ก็ต้องให้ใครสักคนซึ่งมักจะเป็นคนที่เข้าคนสุดท้าย จะถูกเชิญออกด้วยสายตาที่ไม่ค่อยปราถนาดีแกมขำขันของคนที่อยู่ลิฟต์ นอกจากห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ จะมีสลิงสำหรับดึงลิฟต์ ระบบรอก ระบบไฟฟ้า ระบบเบรกฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ใช่ช่างทำหรือช่างซ่อมลิฟต์โดยตรง คงไม่ค่อยเห็นสิ่งเหล่านี้เท่าไหร่ เพราะโดยมากลิฟต์จะทำให้ทุกอย่างปิดทีบ ยกเว้นกรณีที่เป็นลิฟต์แก้ว หรือลิฟต์กระจกที่จะเห็นสายไฟ และระบบต่าง ๆ ของลิฟต์ที่ทำให้ดูไม่น่าอภิรมย์เท่าไหร่เวลาหันไปมอง

          แต่บรรดาสิ่งเหล่านี้คือกลไกที่จะรักษาความปลอดภัยของการใช้งานของลิฟต์ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดอาการลิฟต์ค้าง หรือไฟดับ หรือร้ายแรงสุดคือสลิงยึดตัวลิฟท์ขาด ทำให้ตัวลิฟต์และคนที่โดยสารอยู่ในลิฟต์จะตกลงด้วยความเร็วเท่ากัน ระบบความปลอดภัยต่าง ๆ ก็จะทำงานแทบจะโดยทันทีที่เกิดเหตุ ซึ่งกลไกเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและค่อนข้างถี่ เพราะเมื่อลิฟต์เกิดปัญหาโดยเฉพาะอาคารสูง การช่วยเหลือจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะบางทีก็ไม่ทราบว่าตัวลิฟต์อยู่ชั้นไหนของอาคาร แต่ปัจจุบันมีระบบเซ็นเซอร์ช่วยเหลือให้สามารถหาข้อมูลการหยุดกระทันหันของลิฟต์ที่ค้างอยู่ชั้นใด นั่นก็เป็นนวัตกรรมความปลอดภัยที่เกิดขึ้น

          จากข้อมูลก็เห็นว่า ก็เป็นเรื่องทั่วไปที่ลิฟต์จะต้องมี แต่คงไม่ใช่กับลิฟต์ในโรงเรียน !!!

          ทำไมบทความนี้ถึงต้องโฟกัสไปที่ลิฟต์โรงเรียน โดยทั่วไปลิฟต์ในที่ทำงาน หรือในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาก็ตาม เราก็ใช้ลิฟต์กันเป็นปกติ มีหยอกล้อเล่นกันบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับก่อให้เกิดความเสื่อมหรือความเสียหายของลิฟต์มากนัก อีกประการหนึ่งลิฟต์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่มีการทดสอบอย่างสม่ำเสมอ มีการตรวจเช็คระบบต้องเรียกว่าแทบจะทุกเดือน บางคนอาจจะเห็นใบลงนามรับรองการซ่อมบำรุงติดประจำภายในลิฟต์เลยก็มี แต่แค่นั้น มันจะปลอดภัยได้จริงหรือไม่?

          ตัดภาพมาที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาช่วงปลาย (ประมาณ ป.5-ป.6) ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3) ที่มักจะสนุกสนานกับการละเล่น กีฬาต่าง ๆ และชอบลองของแปลกหรืออะไรที่มีความเสี่ยงอาจจะก่อให้เกิดอันตราย พฤติกรรมการวิ่งกรูกันเข้าลิฟต์ หรือแม้แต่การกระโดดโลดเต้นขย่มลิฟต์ขณะกำลังเคลื่อนที่ เป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้นิยมทำกันเพราะเห็นว่าสนุก แต่หารู้ไม่ว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้ลิฟต์นั้นเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่คิดจนเกิดปัญหากับคนที่ใช้งานปกติหรือตนเองในสักวันหนึ่งเมื่อลิฟต์เกิดปัญหา อย่างที่กล่าวไป ร้ายแรงที่สุดคือสลิงลิฟต์ขาดแล้วตัวลิฟต์หล่นลงมากระแทกข้างล่าง รองลงมาคือลิฟต์หนีบตัวเด็ก ๆ ซึ่งมักจะเกิดกับเด็กเล็ก ๆ มากกว่าเด็ก ๆ ในวัยดังกล่าว แล้วในอีกเรื่องหนึ่งคือกฎกติการหรือมารยาทการใช้ลิฟต์โดยสาร ที่ไม่ได้เน้นให้กระทำเพื่อให้เกิดจิตสำนึกความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในนักเรียน สิ่งนี้เราควรจะเน้นย้ำให้กับนักเรียนทุกคนในการใช้ลิฟต์ ตัวอย่างของมารยาทการใช้ลิฟต์อย่างง่ายมีดังนี้
                
1)     รอลิฟต์บริเวณรอบ ๆ ไม่ขวางประตูลิฟต์
                
2)     เข้าลิฟต์ด้วยการเดินปกติ ไม่วิ่งเข้าไป
                
3)     อยู่ลิฟต์แบบกระจายตัว ไม่ควรกระจุกอยู่มุมในมุมหนึ่ง
                
4)     เข้าลิฟต์ตามความเหมาะสม ถ้าสัญญาเตือนดังเนื่องจากน้ำหนักเกินควรเสียสละออกจากลิฟต์รอรอบถัดไป
                
5)     อย่ากดลิฟต์ทุกชั้น กดเฉพาะชั้นที่จะไปเท่านั้น
                
6)     ถ้าระยะชั้นขึ้นลงไม่เกิน 2 ชั้น ใช้บันไดแทนลิฟต์จะไวกว่า
                
7)     เมื่อลิฟต์เคลื่อนที่ ควรยืนนิ่ง ๆ ไม่ควรกระโดดโลดเต้น หรือขย่มลิฟต์ หรือทำการใด ๆ อันทำให้มีผลต่อระบบลิฟต์
                
8)     ระมัดระวังในการเดินเข้าออกลิฟต์ โดยเฉพาะพื้นลิฟต์และพื้นชั้นอาคาร
                
9)     ถ้าลิฟต์เกิดการค้างหรือไม่ทำงาน ให้ตั้งสติ และใช้โทรศัพท์ภายในลิฟต์ติดต่อสื่อสาร อยู่ในตัวลิฟต์เท่านั้น
                
10)อย่างัดลิฟต์เด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใด ให้แจ้งผู้เกี่ยวข้องและรอการช่วยเหลือ

          นี่คือตัวอย่างมาตรการหรือมารยาทการใช้ลิฟต์แบบง่าย ที่นักเรียนและลูก ๆ หลาน ๆ ควรได้รับการบอกเล่า และรับทราบเพื่อปฏิบัติตนที่มีต่อการใช้ลิฟต์ เลี่ยงการสร้างความเสี่ยงให้ลิฟต์จนเกิดปัญหาจนทำให้มีผู้ประสบเหตุหรือตนเองอาจจะเป็นผู้ประสบภัยในลิฟต์เสียเอง หรือจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลักษณะของลิฟต์เพื่อให้ตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายของการใช้ลิฟต์ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยในการใช้งานลิฟต์ได้อีกทางหนึ่ง

          กิจกรรมการจัดทำลิฟต์จำลองจากขวดน้ำ เพื่อให้เข้าใจระบบกลไกแบบง่าย ๆ ของลิฟต์ และอันตรายที่เกิดขึ้นถ้าไปขย่มหรือกระโดดโลดเต้นในลิฟต์ และกรณีสถานการณ์สลิงลิฟต์ขาด 

          ลิฟต์ในโรงเรียน เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนที่เคลื่อนย้าย แต่จะต้องรู้จักใช้ในถูกต้อง และใข้อย่างเป็นปกติ โรงเรียนควรจะเน้นย้ำให้กับนักเรียนโดยเฉพาะระดับประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นที่อาจจะชอบทำอะไรแผลง ๆ เสี่ยงอันตราย ควรจะเน้นย้ำเป็นพิเศษ มิใช่สิ่งใด เพราะถ้าผู้ประสบเหตุเป็นนักเรียนเสียเอง สถาการณ์อาจจะไม่ได้ใจดีอย่างที่คิด การช่วยเหลืออาจจะไม่ง่ายอย่างที่หวัง ดังนั้น การทำให้ตระหนักถึงอันตราย ลดความเสี่ยงในการก่ออันตราย สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับนักเรียนจะช่วยลดปัญหาและความเสี่ยงตรงนี้ลงไปได้

Visitors: 421,707