การผลักดันและดำเนินงานสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข

เผยแพร่เมื่อ 29/09/2564...,
เขียนโดย ดร.สมนึก หงษ์ยิ้ม 
               สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี...,

 

เรื่อง การผลักดันและดำเนินงานสถานประกอบการ
ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข

          สวัสดีครับ  เมื่อ EP.2 ผู้เขียนได้เขียนเรื่อง สถานประกอบการปลอดโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการปลอดโรคโควิด-19  หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์และแนวทางในการทำให้สถานประกอบการปลอดโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบที่เกี่ยวกับการดำเนินงาน “สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย  กายใจเป็นสุข”ใน EP นี้ผมขอเขียนภาพรวมในการผลักดันและการดำเนินงานสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย  กายใจ เป็นสุขครับ  เพื่อให้ผู้อ่านใช้เป็นแนวทางผลักดันให้เกิดในสถานประกอบการ ว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างไรดี  หรือถ้าสถานประกอบการใดเริ่ม หรือดำเนินการแล้ว  ใช้แนวทางนี้ช่วยในการพัฒนา ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพ มากขึ้น และให้เกิดความยั่งยืน

          ขั้นตอนในการผลักดันและดำเนินงานสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข
                    
1. ระดมคนหรือรวมพล เพื่อกำหนดนโยบายด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยและ สิ่งแวดล้อม เช่น การป้องกันควบคุมโรคและการบาดเจ็บ อนามัยสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริหารขององค์กร พร้อมทั้งติดประกาศให้คนทำงานทุกคนรับทราบ และที่สำคัญเมื่อมีการกำหนดนโยบายแล้ว ควรมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น การกระตุ้นในกลุ่ม Line หรือการประกาศต่างๆ
                    
2. การจัดตั้งคณะทำงาน ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและความร่วมมือ ระหว่างองค์กรกับ บุคคลากรในการพัฒนาสถานประกอบการให้เป็นสถานปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข เช่น สนับสนุนให้เกิดกลุ่มกิจกรรม หรือชมรมต่างๆ เป็นต้น
                    
3. ประเมินสถานการณ์ หรือสำรวจความต้องการในประเด็นและกิจกรรมต่างๆ ของผู้ปฏิบัติงาน อาจจัดกิจกรรมการสำรวจความปลอดภัยครั้งสำคัญประจำปี เป็นต้น
                    
4. จัดลำดับความสำคัญของความต้องการจากที่สำรวจ
                    
5. วางแผนหรือพัฒนาแผนการดำเนินการ
                    
6. ดำเนินการตามแผน เช่น จัดกิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ควบคุมโรคและการบาดเจ็บ อนามัยสิ่งแวดล้อม ตามบริบทหรือขนาดของสถานประกอบการนั้นๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของบุคลากร เช่น โครงการ 5 ส โครงการสถานที่ทำงานปลอดมลพิษ โครงการ โรงงานสีขาว โครงการรณรงค์เพื่องดสูบบุหรี่ สุรา หรือสารเสพติด โครงการอาหารเพื่อสุขภาพ โครงการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โครงการวางแผนครอบครัว อนามัยแม่และเด็ก โครงการทันตสุขภาพ กิจกรรม 3 อ. 2 ส. (อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ สูบบุหรี่ และสุรา) โครงการรักษ์หัวใจในที่ทำงาน และโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในการทำงาน เป็นต้น
                    
7. การติดตาม ตรวจสอบ หรือ ประเมินผลการดำเนินงาน เช่น ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรคและการบาดเจ็บ และอนามัยสิ่งแวดล้อมในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่ามีการดำเนินการ ตามแผนและ มีการตรวจสอบผลลัพธ์ เช่น จำนวนวันลาที่ลดลง ความสนใจด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการจัดสถานที่ทำงานน่าอยู่น่าทำงาน ด้านอุบัติเหตุ และความปลอดภัย เป็นต้น   หากพบปัญหา ต้องดำเนินการแก้ไขและทบทวนตลอดเวลา เพื่อให้เกิด การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
          
* การติดตามถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญมากที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน
                    
8. ทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานหรือต่อยอด ขยายผล

ภาพ ที่ 1  แสดงกระบวนการ การผลักดันและดำเนินงานสถานประกอบการ ปลอดโรค   ปลอดภัย กายใจเป็นสุข

สิ่งสำคัญของกระบวนการดำเนินงาน 3 เรื่องด้วยกัน ของทั้ง 8  ขั้นตอนคือ (1) พันธะสัญญา ของผู้นำ ของสถานประกอบการ ต้องให้ความสำคัญและมุ่งมั่น ตามหลัก (2) จริยธรรม และคุณค่า ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้ (3) แรงงานเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็น ร่วมคิด  ร่วมวางแผน  ร่วมดำเนินการ  ร่วมติดตามประเมินผล  ก็จะเป็นแรงเสริมให้มีความสำเร็จเพิ่มขึ้น


          ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับจากการดำเนินงาน สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุข
                    
1. เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบกิจการ
                              
ช่วยลดต้นทุนในระยะยาว
                              
เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของสถานประกอบการ ว่าเป็น สถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัยและเห็นความสำคัญของสุขภาพของคนทำงาน
                              
เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานด้วยกันเอง คนทำงานกับผู้บริหาร นับเป็น พื้นฐานสำคัญในการพัฒนางานด้านอื่นๆ ขององค์กรต่อไป
                              
ผู้ปฏิบัติงานทุ่มเท เต็มใจทำงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
                              
ผลผลิตเพิ่ม สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า และผู้ปฏิบัติงาน

  

                    2. ผู้ปฏิบัติงานหรือลูกจ้าง
                              
มีสุขภาพแข็งแรง สุขภาพจิตดี เจ็บป่วยน้อยลง
                              
มีความสุขที่ได้ทำงานในสถานประกอบการที่ดี มีความภาคภูมิใจในสถานประกอบการ
                              
มีความตั้งใจในการทำงาน ส่งผลให้ผลงานดี เงินเดือนงามและมีความมั่นคงในอาชีพ
                              
ได้รับสวัสดิการในการทำงานเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลขององค์กร

                    3. สังคม
                              
• ได้องค์กรที่มีคุณภาพ ลดภาระในการพึ่งพาภาครัฐรวมทั้งยังสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐ ในรูปแบบภาษีอากรที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
                              • 
มีการจ้างงานมากขึ้น และประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้น
                              • 
เกิดความร่วมมือที่ดีและความสนับสนุนจากองค์กรภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน

          สำหรับประเด็นในรายละเอียด  และเกณฑ์การดำเนินงานโดยละเอียด ยังมีให้ผู้อ่านได้เป็นไอเดียดำเนินการ โปรดติดตาม EP  ต่อไปครับ “เรามาช่วยกันทำให้แรงงานเราปลอดโรค  ปลอดภัย  กายใจเป็นสุข กันนะครับ” 

 

เอกสารอ้างอิง
       กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(2560). เกณฑ์การพัฒนา และแนวทางการดำเนินงานสถานประกอบการปลอดโรค ปลอดภัย กายใจเป็นสุขฉบับยกระดับการพัฒนา พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์


Visitors: 419,920