งานเคลือบและป้องกันพื้นผิวสัมพันธ์กับกฎหมายด้านความปลอดภัยและนำมาใช้ให้เหมาะสมได้อย่างไร
เผยแพร่เมื่อ: 17/11/2564
เขียนโดย คุณอนุชา ฉิมเชิด
ผู้จัดการหน่
เรื่อง งานเคลือบและป้องกันพื้นผิวสัมพันธ์กับกฎหมาย
ด้านความปลอดภัยและนำมาใช้ให้เหมาะสมได้อย่างไร
จากหัวข้อลักษณะของงานเคลือบพื้นผิวที่นำเสนอไป 4 ตอนแล้วนั้น จะกล่าวถึงเทคนิคการปฏิบัติงานให้ปลอดภัยป้องกันที่ความเสี่ยงของงานแต่ละประเภทซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ใช้ประเมินจากผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะหัวหน้างานที่เข้าใจขั้นตอนเป็นอย่างดี เราในฐานะเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานก็มีหน้าที่เสนอแนะแนวทางป้องกันให้สามารถนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม สิ่งทีกำหนดให้ปฏิบัตินั้นต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานการปฏิบัติต้องไม่ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด อีกหนึ่งบทบาทที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานจะได้แนะนำให้พนักงานและผู้ประกอบการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายที่ใช้ขั้นต่ำคือกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน โดยกระทรวงแรงงานซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยในการทำงาน พ.ศ.2554 และยังคงมีบางฉบับจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
ข้อแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานการที่จะปฏิบัติตามกฏหมายได้ครบถ้วนต้องเอากิจกรรมของสถานประกอบกิจการที่เราปฏิบัติงานอยู่มาทำเป็น Checklist ว่ามีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับใดบ้างเพื่อควบคุมให้ปฏิบัติตาม
จากตารางกฎกระทรวงฯหลักที่ใช้ในกิจกรรมของงานประเภทนี้มีที่เกี่ยวข้องอยู่ 9 ฉบับและอีกฉบับกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งเป็นกฎหมายหลัก ต้องปฏิบัติทุกสถานประกอบกิจการ กฎหมายฉบับอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้แก่ งานประดาน้ำ,งานเกี่ยวกับรังสี,งานก่อสร้าง ฯลฯ
o ฉบับแรกการป้องกันและระงับอัคคีภัย จะเห็นว่ากิจกรรมการเคลือบสีวัถุดิบที่นำมาพ่นเคลือบเป็นสารไวไฟ การเตรียมการต้องมีการป้องกันก่อน การเลือกใช้ขนาดและชนิดของถังดับเพลิงแบบเคลื่อนย้ายให้เหมาะสมกับงาน การติดสัญญลักษณ์ป้ายเตือนวัตถุไวไฟ ระวังการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดประกายไฟใกล้ๆพื้นที่พ่นสี การจัดการของเสียที่เป็นวัตถุติดไฟ จัดเก็บในที่กำหนดปิดมิดชิดทุกครั้ง
o เกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ต้องทราบว่าสารเคมีที่ใช้มีรูปแบบสถานะและมีความเป็นพิษอย่างไรโดยการศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมีอย่างละเอียด SDS (Safety Data Sheet) ติดป้ายเตือนอันตราย ป้ายห้าม การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีอย่างถูกต้องเหมาะสม ตรวจสอบสถานที่จัดเก็บและการรั่วไหลของสารเคมี
o เกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องมีการจัดเตรียมสัญญลักษณ์ป้ายเตือน อบรมให้ความรู้เพิ่มทักษะพนักงานผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า สามารถที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอันตรายจากไฟฟ้าและทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ควบคุมการปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยจากไฟฟ้าด้วยระบบ Log out Tag out การตรวจสอบและบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้งานในพื้นที่มีสารเคมีเข้มข้น กำหนดชนิดของอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ใช้งานเกี่ยวกับไฟฟ้า
o เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงาน ความร้อน แสง เสียง กำหนดให้มีการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ทำงาน และนำผลการตรวจวัดมากำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ เช่นการตรวจวัดอุณหภูมินำผลการตรวจวัดมากำหนดระยะเวลาเริ่มปฏิบัติงานและระยะเวลาพัก ออกแบบระบบระบายอากาศเพื่อช่วยลดอุณหภูมิในพื้นที่ปฏิบัติงาน ตรวจวัดเสียงเพื่อกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงาน เวลาพักและกำหนดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายช่วยลดเสียงที่ผู้ปฏิบัติงานสัมผัส ตรวจวัดแสงเพื่อปรับปรุงสภาพพื้นที่การปฏิบัติงาน และนอกจากนี้ยังนำผลการตรวจวัดมากำหนดโปรแกรมการตรวจสุขภาพพนักงานตามความเสี่ยงของลักษณะงาน
o เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศ พิจารณาว่าพื้นที่ปฏิบัติงานเข้าข่ายเป็นพื้นที่อับอากาศตามคำนิยามในกฎกระทรวงฯหรือไม่ จัดทำป้ายแจ้งข้อความเป็น “พื้นที่อับอากาศ อันตราย ห้ามเข้า” และสัญญลักษณ์ป้ายเตือนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จัดอบรมให้ผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ และควบคุมการปฏิบัติงานอนุญาตเฉพาะผู้ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้นที่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ ตรวจสอบและกำหนดให้ผู้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นโรคที่เป็นอันตรายหากเข้าไปปฏิบัติงานในที่อับอากาศ จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในงานที่อับอากาศ เช่น เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศ อุปกรณ์ป้องกันที่ใช้ในที่อับอากาศตามความเหมาะสม เครื่องช่วยระบายอากาศ อุปกรณ์ให้แสงสว่างชนิดป้องกันการระเบิดหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าแรงดันต่ำ จัดทำแผนช่วยเหลือผู้ปฏิบัติงานในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ควบคุมความปลอดภัยด้วยระบบการขออนุญาตทำงาน (Permit to Work)
o เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง วิเคราะห์ลักษณะงานที่มีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับ เคมี ชีวภาพ กายภาพ กัมมันตภาพรังสี หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กำหนดปัจจัยเสี่ยงที่มีการสัมผัสของแต่ละหน้าที่ กำหนดโปรแกรมการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงตามลักษณะงานที่ผู้ปฏิบัติสัมผัสความเสี่ยง
o เกี่ยวกับนั่งร้านค้ำยัน ลักษณะของชิ้นงานขนาดใหญ่ที่มีความสูงจะต้องมีการติดตั้งนั่งร้านเพื่อให้สามารถยืน พ่นทราย พ่นสี ได้มั่นคง นั่งร้านจะต้องมีการตรวจสอบและติดสัญลักษณ์ป้ายเตือน ผู้ใช้งานต้องผ่านการอบรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและปฏิบัติตามคู่มือการปฏิบัติงานบนนั่งร้าน
o เกี่ยวกับการทำงานบนที่สูง จัดอบรมให้พนักงานการทำงานบนที่สูง การใช้อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูงโดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะงานให้คำนึงถึงความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและต้องปลอดภัยด้วย
o เกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่น หม้อน้ำ กฎกระทรวงฯนี้เป็นฉบับล่าสุด มีผลบังคับใช้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 การติดตั้งซ่อมบำรุงเครื่องจักรต้องติดป้ายเตือนห้ามเปิดสวิตซ์ เครื่องจักรที่เป็นระบบไฟฟ้าต้องต่อสายดิน เครื่องจักรที่นำมาใช้งานต้องมีการตรวจสภาพ ต้องพร้อมใช้งานเช่นมีการ์ดป้องกันส่วนที่หมุน การใช้รถยกชิ้นงานต้องตรวจสอบสภาพรถพร้อมใช้งาน ตรวจสอบสัญญาณไฟ สัญญาณเสียง กระจกมองข้าง ผู้ขับรถยกต้องผ่านการอบรมความปลอดภัยในการใช้รถยก การใช้ปั้นจั่นยกชิ้นงานต้องมีการตรวจรับรองตามรอบ ขึ้นอยู่กับพิกัดน้ำหนักที่ยกได้ และลักษณะการใช้งาน ผู้ควบคุมงานยก ผู้ผูกมัด ผู้ให้สัญญาณต้องผ่านการอบรม ภาชนะรับแรงดันเช่น ถังพักลม โม่พ่นทราย ต้องมีการทดสอบตามมาตรฐานและรับรองโดยวิศวกรควบคุม
การนำแนวทางข้อกำหนดของกฎหมายมาแนะนำให้ผู้ปฏิบัติทำตามกฎหมายถือเป็นขั้นที่เป็นพื้นฐานที่ต้องดำเนินการ แต่บางสถานประกอบกิจการมีการรับรองมาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 9001 ระบบความปลอดภัยฯ ISO 45001 หรือระบบสิ่งแวดล้อม ISO 14001 ยิ่งจะมีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการปฏิบัติมากขึ้น และนอกเหนือจากนี้คือข้อกำหนดพิเศษที่เป็นไปตามความต้องการของลูกค้าที่เป็นการบริหารโดยต่างชาติที่อ้างอิงกับมาตรฐานของเขาก็จะยิ่งเข้มงวดขึ้นไปอีก กฎหมายเปลี่ยนแปลงตลอด ฉนั้นพวกเราที่ทำหน้าที่ จป.มืออาชีพต้องตามให้ทัน
ติดตามต่อใน ตอนที่ 6 ครับ