กระบวนการของการบริหารจัดการความเสี่ยง: การสื่อสารและการให้คำปรึกษา

เผยแพร่เมื่อ:  15/08/2564
เขียนโดย อาจารย์ ดร.วรวิช นาคแป้น
               อาจารย์ประจำหลักสูตรอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
               สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช...,

 

เรื่อง กระบวนการของการบริหารจัดการความเสี่ยง
การสื่อสารและการให้คำปรึกษา

ใน episode นี้ผมขอเริ่มในกระบวนการที่ทำหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยง นั้นก็คือ การสื่อสารและการรับคำปรึกษา ดังภาพ

          สำหรับการรับคำปรึกษา ในการบริหารจัดการความเสี่ยงนั้น ต้องอาศัยองค์ความรู้หลาย ๆ ด้าน เช่น การวางแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ก็จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านการตอบโต้เหตุ ด้านการตรวจวัดปริมาณสารเคมีในบรรยากาศ ด้านการปฐมพยาบาล ด้านสวัสดิการฉุกเฉิน ฯลฯ ดังนั้นการขอรับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องนั้นสามารถทำให้การบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งจะมีความจำเป็นแฝงอยู่ในทุก ๆ กระบวนการของการบริหารจัดการความเสี่ยง ผลที่ได้จากการปรึกษาควรจะเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการตัดสินใจออกนโยบายหรือกิจกรรมในการจัดการกับความเสี่ยง

          ในทางกลับกัน การสื่อสาร มีวัตถุประสงค์เพื่อ ยกระดับความตระหนัก และ ความเข้าใจ ในเรื่องของความเสี่ยง ในขั้นตอนนี้จะเป็นบทบาทที่องค์กรจะต้องทำพูดคุยอย่างเป็นทางการกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การดำเนินการจะต้องมีความต่อเนื่อง บ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ในบางกรณีอาจจะมีการนัดวันสำหรับการพูดคุยโดยเฉพาะ เช่น ทุกวันพุธที่ 2 ของเดือน หรือ ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานในองค์กร เป็นต้น การสื่อสารลักษณะนี้จะเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ไป-กลับ กล่าวคือ มีทั้งการให้ และ รับข้อมูล เกี่ยวกับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สนใจ เช่น ลักษณะของความเสี่ยง ธรรมชาติของความเสี่ยง รูปแบบ โอกาส ความรุนแรง ระดับของความเสี่ยง ยอมรับได้ ยอมรับไม่ได้ แนวทางสำหรับการแก้ไข เป็นต้น

          สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการของการบริหารจัดการความเสี่ยงของสถานประกอบกิจการ สามารถแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 2 ประเภทตามสถานที่คือ สังกัดภายในองค์กร และ สังกัดภายนอกองค์กร นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งได้อีกหลายลักษณะขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการพิจารณา ยกตัวอย่างเช่น หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลการดำเนินกิจการ บริษัทคู่ค้า กลุ่มลูกค้า พนักงานภายในองค์กร ชุมชน องค์กรอิสระ และ สื่อมวลชน เป็นต้น

          ลักษณะการสื่อสารและช่องทางในการสื่อสำหรับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ประเด็นความคาดหวังรวมถึงลักษณะความคิดเห็นที่ได้ก็จะแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มพนักงาน ก็จะคาดหวังข้อมูลประเภทนโยบาย ทิศทางการทำงานขององค์กร ในขณะที่ชุมชนก็จะอยากได้ข้อมูลประเภท ความเป็นอันตราย ความเสี่ยงต่อสุขภาพ เน้นความเข้าใจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการตัดสินใจ แม้ว่าข้อมูลจะมาจากการสื่อสารจากหลาย ๆ ฝ่าย แต่สุดท้ายแล้ว บุคคลที่ต้องทำหน้าที่ในการตัดสินใจคือ ฝั่งขององค์กร ที่มาจากทางผู้บริหาร โดยสรุปแล้วการสื่อสารและการรับคำปรึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อ
                    
1. จัดให้มีการระดมกลุ่มทางความคิดของผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้านที่เกี่ยวข้องการการบริหารจัดการความเสี่ยงในทุกขั้นตอน
                    
2. ทุก ๆ ความคิด หรือ มุมมอง ต้องได้รับการพิจารณา สำหรับการกำหนดเกณฑ์ความเสี่ยงและการประเมินค่าของความเสี่ยง
                    
3. จัดหาข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจอย่างเพียงพอ
                    
4. สร้างบรรยากาศในการทำงานในลักษณะที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและมีบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบร่วมกัน ประหนึ่งเจ้าของกิจการร่วมกัน

 

Visitors: 414,843