การตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
เผยแพร่เมื่อ 25/07/2564
เขียนโดย อาจารย์ ดร.วรกมล บุณยโยธิน
อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง การตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน
การตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและเป็นหนึ่งในหน้าที่ตามกฏหมายของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ ที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในการตรวจติดตามการรับสัมผัสสารเคมีจากการทำงาน และใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อวางมาตรการป้องกันการรับสัมผัสอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงานนี้ อาจไม่ใช้เรื่องง่ายเสมอไป เพราะในหลายครั้งของการตรวจวัด เราจะพบ รายงานผลตรวจวัดแสดงผลเป็น N/D หรือพบค่าน้อยมากจนไม่สามารถรายงานผลได้ ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นั้นมีการใช้สารเคมี และพบลักษณะทางกายภาพอื่นๆ ที่ขัดแย้งกัน เช่น กลิ่นฉุน การระคายเคืองเมื่อสัมผัส เป็นต้น นั้นเป็นเพราะสารเคมีเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า การจะจับสิ่งที่ตามองไม่เห็น เอามาวัดปริมาณหรือเอาไปผ่านกระบวนการใดๆ ต้องมีความเข้าใจลักษณะที่สารเหล่านั้นเป็น และรูปแบบการรับสารเข้าร่างกายของผู้ปฏิบัติงานก่อน จึงจะสามารถวางแผนการตรวจวัด เลือกเครื่องมือ หรือวิธีวิเคราะห์ที่เหมาะสมได้ ในซีรีย์นี้ จะสรุปข้อมูลที่จำเป็น รวมถึงข้อควรระวังในการตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงานมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบกันต่อไป
สำหรับเครื่องมือในการตรวจวัดสารเคมี ตามปกติจะมี 2 รูปแบบ คือ
1) เครื่องมืออ่านค่าโดยตรง (Direct reading equipment) เป็นเครื่องมือที่มีอุปกรณ์เก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ตัวอย่างรวมอยู่ในเครื่องเดียว เช่น ปั๊มดูดอากาศขนาดเล็กต่อพ่วงกับ sensor วัดก๊าซติดไฟ หรืออาจเป็นอุปกรณ์ตรวจวัดอย่างง่ายที่ใช้หลักการทำปฏิกิริยาของสารกับสารที่อยู่ในอุปกรณ์ เช่น Detector tube อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ มักใช้เมื่อต้องการทราบผลการตรวจวัดอย่างรวดเร็ว เพื่อวางแผนการป้องกันอันตรายเฉพาะด้าน เช่น การลงไปทำงานในที่อับอากาศ หรือการเข้าจัดการเหตุการณ์สารเคมีหกรั่วไหล เป็นต้น
2) อุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศ (Air sampling instruments) เป็นอุปกรณ์สำหรับเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อนำส่งไปวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์กลุ่มนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาหลากหลาย เพื่อให้สามารถดักจับสารเคมีในอากาศได้อย่างดี และต้องมีคุณสมบัติอีกประการ คือ ต้องสามารถคายหรือปล่อยสารที่เก็บกักไว้ออกมาจากตัวเอง เพื่อส่งเข้าเครื่องวิเคราะห์ได้ จึงมีการวิจัยอุปกรณ์เก็บตัวอย่าง (Sampling Media) ออกมามากมายหลายประเภท การตรวจวัดด้วยอุปกรณ์ประเภทนี้ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินการรับสัมผัสสารเคมีของผู้ปฏิบัติงานตามกฏหมาย หรือตรวจเพื่อประเมินประสิทธิภาพอุปกรณ์ป้องกันที่นำมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติงาน
ภาพ อุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศ
จะเห็นได้ว่า การตรวจวัดสารเคมีในสิ่งแวดล้อมการทำงานมีหลายกลวิธีและหลากหลายอุปกรณ์ให้เลือกใช้ การเลือกว่าจะตรวจอย่างไร คงต้องเริ่มต้นจาก การกำหนดเป้าประสงค์ของการตรวจวัดก่อน ว่าต้องการใช้ประโยชน์ใดจากผลการตรวจนั้นๆ เช่น กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสารเคมีรั่วไหลและระเบิด ทีมจัดการเหตุฉุกเฉิน (emergency response team) ที่เข้าพื้นที่เพื่อควบคุมเหตุการณ์ จำเป็นต้องตรวจวัดเพื่อประเมินความเสี่ยงและประเมินระดับอุปกรณ์ป้องกันที่ต้องใช้ในพื้นที่ กรณีนี้ จำเป็นต้องเลือกอุปกรณ์ประเภท Direct reading equipment เพื่อทราบผลอย่างรวดเร็วและนำไปใช้ตัดสินใจตอบโต้เหตุ
สำหรับการตรวจวัดสารเคมีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินสารเคมีหกรั่วไหล ควรเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าพื้นที่ (initial site entry) เพื่อประเมินว่ามีสภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตอย่างเฉียบพลัน (Immediately dangerous to life and health; IDLH) หรือสภาพอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรง เช่น การระเบิด การขาดออกซิเจน เป็นต้น รวมถึงมีโอกาสที่จะสัมผัสสารเคมีเกินกว่าค่ามาตรฐาน หรือไม่ เครื่องมือที่ใช้สำหรับกรณีนี้ เช่น เครื่องวัดก๊าซติดไฟ เครื่องวัดออกซิเจน และเครื่องวัดสารเคมีชนิดที่เกิดการรั่วไหล หรือเป็นผลจากการทำปฏิกิริยาของสารที่รั่วไหล เป็นต้น โดยการตรวจวัด ควรต้องมีการประเมินอย่างต่อเนื่อง (Periodic monitoring) เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการป้องกัน ตลอดจนวิธีการปฏิบัติในการควบคุมเหตุการณ์จะไม่ส่งผลต่อสุขภาพของทีมผู้ปฏิบัติงาน โดยควรตรวจวัดเมื่อมีความเป็นไปได้ของสภาวะ IDLH การเกิดเพลิงไหม้หรือระเบิด หรือมีแนวโน้มที่อาจรับสัมผัสสารเคมีเพิ่มขึ้น เช่น ต้องเข้าไปในบริเวณที่สารไหลนองเพื่อปิดวาล์ว เป็นต้น สำหรับกรณีการรับสัมผัสสารเคมี กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการสัมผัสสารเคมี ควรประเมินการสัมผัสด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดแบบติดตัวบุคคล (personal sampling) ชนิด Passive Sampler ทั้งในขั้นตอนการตอบโต้ และการเก็บกู้
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ อาทิ จำนวนตัวอย่าง ระยะเวลาในการเก็บตัวอย่าง รวมถึงเทคนิค และข้อควรระวังในการเก็บตัวอย่างประเภทต่างๆ เราจะมากล่าวถึงกันใน Ep. ต่อไป