ความปลอดภัยกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งสู่วัฒนธรรมเชิงป้องกันอย่างยั่งยืน

เผยแพร่เมื่อ 02/08/2564...,
เขียนโดย คุณสวินทร์ พงษ์เก่า  
               กรรมการบริหาร
               สมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน(ประเทศไทย) ในพระราชูปถัมภ์
...,

 

เรื่อง ความปลอดภัยกับการเปลี่ยนแปลง
มุ่งสู่วัฒนธรรมเชิงป้องกันอย่างยั่งยืน

          การเปลี่ยนแปลง ( Change)  เป็นสิ่งที่เราได้พบตลอดช่วงชีวิติของมนุษย์ในวัยเด็ก ครอบครัวของเราเป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง ต่อมาเมื่อเราเข้าสู่วัยเรียน ครู อาจารย์ ได้เป็นผู้ชี้และแนะนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจวบจนเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่เข้าสู่วัยทำงาน องค์กรที่เราได้ไปร่วมงาน เป็นผู้กำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลง คำถามที่เรามักจะถามกันเสมอว่าทำไมเราจึงต้องเปลี่ยนแปลง เพราะโดยทั่วไปเราจะได้ยินคำว่า "การต่อต้านการเปลี่ยนแปลง" ( Resistance to change)   เราอาจเคยได้ยินคำว่า คนที่แข็งแรงที่สุดอาจไม่ใช่เป็นคนที่อยู่รอดในสังคมยุคปัจจุบันเสมอไป แต่คนที่ปรับตัวได้ดีและเร็วที่สุด จะเป็นคนที่อยู่รอดในปัจจุบัน   

          ปัจจัยที่มีอิธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กรในปัจจุบันที่ทำให้เราต้องเสริมสร้างให้ทุกองค์กรเกิดวัฒนธรรมเชิงป้องกันอย่างเข้มข้น เพราะรูปแบบของปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและความผาสุก ( Safety Health Well being) ที่มีลักษณะที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น กรณีศึกษา  Covid 19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นวงกว้างมากกว่าอุบัติภัยร้ายแรงที่สุดที่องค์กรเคยเผชิญมา เช่น กรณี กรณีศึกษาอุบัติเหตุสารเคมีอันตรายรั่วไหล โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์    

          อุบัติเหตุสารเคมีอันตรายรั่วไหล โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่  3 ธันวาคม 2527 ได้เกิดการรั่วไหลของก๊าซพิษชื่อ เมทิล  ไอโซไซยาเนต (Methyl  Isocyanate)  รั่วไหลออกมาจากถัง เก็บใต้ดินขนาด 45 ตัน ที่โรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัท ยูเนียน คาร์ไบด์ อันเป็นโรงงานผลิตสารเคมี โรงงานนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณชานเมืองโพปาล ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐมัธยมประเทศ มีประชากรอาศัยอยู่ 672,000 คน ตั้งอยู่ห่างจากกรุงเดลลีไปทางใต้ประมาณ 466 ไมล์    

          การรั่วไหลของก๊าซพิษดังกล่าว ก่อให้เกิดหมอกควันพิษครอบคลุมทั่วบริเวณ 25 ตารางไมล์ เป็นระยะเวลา 1  ชม. เศษ เป็นเหตุให้ผู้คนเสียชีวิตโดยทันที่ 200  คน และในระยะต่อมาก็ได้มีการทยอยเสียชีวิตลงเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,500 คน จึงนับเป็นอุบัติเหตุที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกในภาคอุตสาหกรรมที่เคยมีมา    

          จากผลการสอบสวนโดยสรุป และเราใช้แบบจำลองการควบคุมความสูญเสีย (Loss Causation Model )  มาวิเคราะห์

          พบสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียนั้น เกิดจากการขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ (Lack of Management Control) โดยมีสาเหตุพื้นฐาน มาจากปัจจัยคน (Personal Factor) และปัจจัยงาน (Job Factor)

          โดยทั้ง 2 ปัจจัย ไม่มุ่งเน้นแนวคิดการการควบคุมเชิงการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเป็นหัวใจสำคัญ อีกทั้งไม่สร้างเสริมให้แนวคิดการป้องกันถูกปลูกฝังให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในการบริหารและวัฒนธรรมเชิงป้องกันในผู้ปฎิบัติงานทุกระดับอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจัยที่ทำให้ให้องค์กรต้องสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน 
                    1. 
ผู้ปฎิบัติงานทุกคนในองค์กรเป็นสิ่งที่มีค่าและหาทดแทนไม่ได้ โดยมองเป็นทุนมนุษย์ที่มิได้มองทุนเป็นแต่เพียงตัวเงินอย่างเดียว ทุนมนุษย์ในปัจจุบันได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชนว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันองค์กรสามารถก้าวไปถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างศักยภาพให้องค์กรแข็งแกร่ง
                    2. 
ปัจจัยด้านสังคม  โดยได้เปลี่ยนเข้าสู่สังคมดิจิทัล (Digital Society) รูปแบบของปัจจัยเสี่ยงด้านความปลอดภัย สุขภาพอนามัยและความผาสุก (Safety Health Wellbeing) ของผู้ปฎิบัติงานเปลี่ยนไป จากการที่ผู้ปฎิบัติงานต้องสัมผัสอันตรายที่ทำให้เกิดการชน กระแทก ตัด หนีบ ดึงเกี่ยว โดยตรง  ปรับเปลี่ยนมาเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน อยู่ หลับนอนมากขึ้น
                    3. 
สังคมสูงวัย (Aging Society) ใน ปี 2563  โครงสร้างประชากรไทยจะมีประชากรผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มีจำนวน 12 ล้านคน (ร้อยละ 18) เพิ่มเป็น 20.42 ล้านคน (ร้อยละ 31.28) ในปี 2583. เมื่อสังคมมีแนวโน้มที่จะมีประประชากรสูงอายุมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศักยภาพให้แรงงานสูงอายุสามารถทำงานได้ โดยมีการขยายอายุการออกไป การเสริมสร้างให้ประชากรสูงอายุให้มีความแข็งแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อรักษาและธำรงค์ไว้ให้มีศักยภาพสูงสุด สอดคล้องกับวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง
                    4. 
ปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), เทคโนโลยีไร้สาย (Wireless Technology) จะถูกนำมาใช้ในการทำงานร่วมกับมนุษย์ มากขึ้น  
                    5. 
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Change) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของทุกประเทศทั่วโลก และทุกภาคการผลิตต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Product และ Service  ต้อง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

          จากปัจจัย 5 ประการที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราและองค์กรของเรา คงไม่อาจต้านการเปลี่ยนแปลงได้อีกต่อไป เราและองค์กรจะต้องวางแผนในการรองรับการเปลี่ยนแปลง (Change) โดยต้องเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิดของผู้บริหาร แนวคิดของบุคคลากรทุกระดับ วิธีการบริหารจัดการ และสร้าง บรรยากาศภายในองค์กรให้มีแนวคิดเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกัน (Preventive Culture) สู่ความยั่งยืน


 

Visitors: 420,787