บทสรุปการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย
เผยแพร่เมื่อ: 26/05/2564 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ในตอนนี้ มาพบกับตอนสุดท้ายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยนะคะ
ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น กฎหมายคุ้มครองและรักษาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ กฎหมายการควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ที่ประกอบด้วย 115 มาตรา แบ่งออกเป็น 7 หมวด ครอบคลุมการแต่งตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษ มาตรการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบทางแพ่ง บทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล รัฐบาลได้ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561 - 2580) ซึ่งเผยแพร่พระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2561 ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ดังกล่าวถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะต้องนําไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายในช่วงเวลาดังกล่าว
ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกําหนดกลยุทธ์และแผนงานและการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเป็นการดําเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน ในทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสําคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน อันจะนําไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จําเป็นตลอดจนระบบผลิตทางการเกษตรที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกับความมั่นคงด้านอาหารและน้ำ ขณะที่ระบบนิเวศต่างๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง ทําให้นานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยให้ความสำคัญและความสนใจกับการเป็นสังคมสีเขียว การรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกรวมถึงการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารที่มีแนวโน้มจะมีความสําคัญเพิ่มมากขึ้น กฎระเบียบและข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมจะมีความเข้มข้นและเข้มงวดขึ้น
เป้าหมายและประเด็นของยุทธศาสตร์ชาติด้านสิ่งแวดล้อม มีหลายเรื่องที่เป็นนามธรรม เช่น การอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมมาตรการจูงใจในการอนุรักษ์ การเพิ่มผลิตภาพของน้ำโดยการใช้อย่างมีคุณค่า มีเป้าหมายหลายประเด็นที่ระบุตัวชี้วัดเป็นตัวเลขชัดเจนที่สามารถวัดค่าได้ว่าทำตามเป้าหมายได้หรือไม่ เช่น
1) เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นร้อยละ 55 ของประเทศ แบ่งเป็นป่าธรรมชาติร้อยละ 35 สวนป่าร้อยละ 15 และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจร้อยละ 5
2) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า เป็นร้อยละ 40
3) จัดการมลพิษ ขยะ น้ำเสีย ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไม่มีหลุมฝังกลบขยะในประเทศร้อยละ 100
4) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20
5) ลดพื้นที่ที่มีการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่า 3 เมตรต่อปี ให้เหลือไม่เกิน 100 กิโลเมตรทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนด เป้าหมายอื่นๆ ในด้านเศรษฐกิจฐานชีวิตภาพทางทะเล การจัดการน้ำ การรักษาแนวปะการัง การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริโภคที่ยั่งยืน เช่น
1) เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจฐานชีวิตภาพทางทะเลเป็น 6.16 ล้านบาท
2) เพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เป็นร้อยละ 10 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
3) เพิ่มผลิตภาพน้ำทั้งระบบ 80 เท่า จากค่าเฉลี่ยปัจจุบัน
4) พัฒนาจัดการน้ำทั้งระบบให้บรรลุดัชนีความมั่นคงทางน้ำ ของธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้ถึง 80 คะแนน
5) รักษาแนวปะการังที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวให้เสียหายไม่เกินร้อยละ 50 ภายใน 5 ปี และไม่เกินร้อยละ 20 ภายใน 20 ปี
อย่างไรก็ดี ในยุทธศาสตร์ชาตินี้ ไม่ได้กำหนดหรือแนะนำวิธีการทำงานที่จะนำไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ เพียงแต่กำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะทำตามนี้เท่านั้น ทำให้มียุทธศาสตร์หลายข้อที่อาจจะยากในการปฏิบัติเมื่อจะต้องทำให้เป็นจริงภายในปี 2579 เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจในเขตชุมชน การบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนแบบมีส่วนร่วม การลดปริมาณของเสียลงทะเลทั้งระบบ การมีระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนปัญหา เป็นต้น
แนวทางบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ
ประเทศไทยจะต้องมีการปรับตัวและเตรียมความพร้อมในระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้มากที่สุด และเร่งดําเนินการกําหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสามารถปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อม และดําเนินการให้สอดคล้องกับแนวทางที่กําหนดไว้ จะสามารถลดช่องว่างในการพัฒนาประเทศสู่ความสมดุลและยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางสําคัญ ดังนี้
1. ระยะเร่งด่วน
1.1 เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความตระหนักให้ภาครัฐและภาคเอกชนถึงความสําคัญของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อนําไปสู่การเป็นสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้ภาครัฐมีการทํางานที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกัน กระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับทัศนคติไปสู่การพัฒนาสีเขียว โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามหลักการ 3Rs (Reduce Reuse และ Recycle) สร้างจิตสำนึกในการจัดการขยะในครัวเรือนของชุมชน เพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาการจัดการขยะและน้ำเสียที่เพิ่มมากขึ้น
1.2 ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ผ่านมาตรการกําหนดพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับการพัฒนา พร้อมพัฒนากลไกการติดตาม ตรวจสอบและศึกษาการประเมินผลกระทบด้านต่างๆ และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการใช้เทคโนโลยีป้องกัน และลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดมากกว่าการบําบัดมลพิษ หรือเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษต่ำหรือไร้มลพิษ เช่น สิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษี เป็นต้น
1.3 เร่งรัดให้มีการใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ โดยดําเนินการปฏิรูประบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีที่ดิน รวมถึง การพัฒนาเครื่องมือและหลักเกณฑ์อื่นๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาระบบฉลากสิ่งแวดล้อม และมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการดําเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1.4 การประสานกฎระเบียบ ด้านมาตรฐานและมาตรการป้องกันคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอาเซียน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการมลพิษที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน ลดความเหลื่อมล้ำต่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิก เช่น การกําหนดคุณภาพและมาตรฐานการระบายมลพิษจากแหล่งกําเนิด การใช้แนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการสิ่งแวดล้อม
1.5 พัฒนาระบบสารสนเทศและฐานข้อมูล พร้อมทั้งเทคโนโลยีการติดตาม ตรวจสอบที่ทันสมัย เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบริหารจัดการ วิเคราะห์ และตัดสินใจดําเนินนโยบายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2. ระยะยาว
2.1 พัฒนาคน โดยการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมผ่านการศึกษาทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างจิตสํานึกและเพิ่มขีดความสามารถแก่ภาคประชาชนในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างค่านิยมการผลิตและบริโภคที่รับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกภาคส่วน เพื่อกระตุ้นให้เกิดความสํานึกต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2.2 สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ และเครื่องมือในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การวิจัยและพัฒนาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมอันเนื่องมาจากมลพิษ การวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานจากของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ และการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาด
2.3 ดําเนินการปฏิรูปกฎหมาย และกฎ ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้เอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายโดยหน่วยงานอย่างมีประสิทธิภาพ
2.4 กำหนดมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ให้สามารถรองรับการใช้ประโยชน์ ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน และดําเนินการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบสถานการณ์และการดําเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่าย ความร่วมมือระหว่างประเทศ และเครือข่ายภาครัฐและเอกชน
2.5 วางแผนจัดการและป้องกันชายฝั่ง ควรมีการลำดับความสำคัญของพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่มีประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในบริเวณชายฝั่ง และพื้นที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ใดๆ เพื่อขยายพื้นที่ชายหาดโดยคำนึงถึงคุณภาพของชายหาดเป็นสำคัญ และจัดหาพื้นที่สำหรับชุมชนใหม่ที่เหมาะสม
2.6 รัฐควรจัดให้มีโครงการนําร่องระบบผลิตไฟฟ้าชุมชน โดยการผสมผสานระหว่างแสงแดดและเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาดเล็ก ในระดับหมู่บ้านระดับอําเภอ ระดับจังหวัด และมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดพลังงานทางเลือกทั่วประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบแห่งการเรียนรู้ ปัญหา อุปสรรค วิธีการแก้ไขและผลลัพธ์ โดยรัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้แก่โครงการนําร่อง เช่น สนับสนุนด้านการลงทุน การยกเว้นภาษี การพัฒนาเครื่องจักรกลให้ทันสมัยที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือก เป็นต้น
2.7 เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้กับทุกภาคส่วน ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อลดผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและระบบการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ