กรณีตัวอย่างการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ: 26/04/2564 ....
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กุลธิดา บรรจงศิริ
รองประธานกรรมการประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

 

กรณีตัวอย่าง

การนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

          ในตอนนี้ มาพบกับการนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ใน กลุ่มโรงงานประเภทต่างๆกันต่อนะคะ

          ปัจจุบันไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สมดุลตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นกรอบทิศทางการพัฒนาของโลกที่องค์การสหประชาชาติกำหนด  โดยในส่วนของภาครัฐนั้นกำลังอยู่ในช่วงของการกำหนดโรดแมปของ Circular Economy ในทุกภาคอุตสาหกรรม และมีแผนที่จะให้ Circular Economy เป็นอุตสาหกรรม New S-curveที่ 12 ของประเทศ การให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมถึงไทยก็มุ่งเน้นไปที่ Economic Growth (ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ) และจีดีพี เป็นเรื่องใหญ่ ฉะนั้นเมื่อ Economic Growth เป็นจุดโฟกัสสำคัญ เรื่องอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องลำดับรอง อย่างไรก็ดี ขณะนี้บางองค์กรในไทยก็เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนมากขึ้น เช่น เอสซีจี ซึ่งเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรของโลกในปัจจุบัน ผ่านทาง 3 กลยุทธ์หลัก คือ
                    
1) การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูกที่ใช้วัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม
                    
2) การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิมด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มี ประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ
                    
3) การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ ขณะที่ บริษัท  พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต และจัดทำโครงการลดผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม

          บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี
          
บริษัทฯ มุ่งเน้นในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างดุลยภาพระหว่างเทคโนโลยีกับชีวภาพเพื่อลดการเกิดของเสียและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทฯ ได้บูรณาการหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและกำหนดเป้าหมายใน 3 ด้าน คือ
                    
1.การส่งเสริมสนับสนุนประสิทธิภาพของกระบวนการการผลิต (Smart Operation)
                       
เศรษฐกิจหมุนเวียนที่นำไปสู่การลดปริมาณการฝังกลบของเสียชุมชนและของเสียอุตสาหกรรมให้เป็นศูนย์ผ่านแนวคิด 5 Rs บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการลดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้ การเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ริเริ่มการพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยจัดทำโครงการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น
                              
1.1 การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพภายในกลุ่มบริษัท
                                        - 
การนำสไตรีน โมโนเมอร์ จาก GPPS Plant ออกจากระบบเพื่อลดสิ่งเจือปน (Impurity) มาใช้ที่ HIPS Plant ซึ่งสามารถนำ Recovery Volatile (RV) กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต คิดเป็นสัดส่วนการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ประมาณ 100 ตัน/ปี
                                        - 
การเพิ่มมูลค่า Tail Gas กลับมาใช้เป็นวัตถุดิบของ Cracking Heaters และ Oleflex Heaters ที่ Olefins Plant ซึ่งสามารถลด Flare Loss ได้ถึง 636,000 Nm3 หรือ คิดเป็นเงิน 27.79 ล้านบาท
                              
1.2 การนำของเสียไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนของโรงงานอื่น
                                        - 
โครงการบริหารจัดการ Mercury Waste จากโรงงานอะโรเมติกส์และโรงกลั่น เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องมือทางการแพทย์
                                        - 
การนำผงพลาสติก (Fine) ที่ได้จากระบบบำบัดอากาศจากโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก มาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถลดของเสียที่นำออกนอกพื้นที่โรงงานได้ประมาณ 19 ตัน/ปี และลดค่าใช้จ่ายได้ 665,700 บาท/ปี
                                        - 
การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้พนักงานคัดแยกขยะแต่ละประเภทอย่างถูกต้องภายในอาคารสำนักงาน เช่น การคัดแยกขยะพลาสติก แก้ว กระดาษที่ใช้แล้ว เพื่อนนำกลับไปผลิตใหม่ การคัดแยกเศษอาหารเพื่อให้ชุมชนไปทำอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
                                        - 
การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Seawater Reverse Osmosis, SWRO) และการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis, WWRO) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งปี พ.ศ. 2560 บริษัทฯ สามารถใช้น้ำซ้ำหรือนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 7.69 ล้านลูกบาศก์เมตร
                              
1.3 มาตรการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและลดการเกิดของเสีย
                                        - 
การหยุดซ่อมบำรุงรักษาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งช่วยลดการเกิดของเสียได้ถึง 38 ตัน และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดของเสีย 370,312 บาท

                    2. การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Responsible Caring)
                        
บริษัทฯ จัดทำแนวทางการประเมินการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) โดยอ้างอิงจากมาตรฐาน ISO 14062 เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำ Eco-design criteria มาใช้ในการประเมินผลิตภัณฑ์ ซึ่งในปี 2561 มีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น 4 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 3 pack PE packaging, Bio EBM-2018, Bio Tuna cup-2018 และ Royal project phase II-2018 ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบในการผลิต ทำให้สามารถลดต้นทุนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง การใช้วัตถุดิบหมุนเวียนแทนการใช้วัตถุดิบจากฟอสซิล ซึ่งสามารถย่อยสลายได้ง่ายขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวทางการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อก้าวเป็นองค์กรต้นแบบด้านความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน บริษัทฯ ดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand ร่วมกับมูลนิธิ Ecoalf ประเทศสเปน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทางบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับชุมชนชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการร่วมกันเก็บขยะพลาสติกประเภทขวด PET และพลาสติกประเภท PE ในทะเลและชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ขยะพลาสติกที่เก็บได้ถูกนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า

                    3. เพิ่มประสิทธิภาพและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นการประยุกต์ใช้นวัตกรรม
                        
บริษัทฯ มีการบริหารเชิงกลยุทธ์ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งพัฒนานวัตกรรมและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันผลกระทบ และลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ อีกทั้งให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และสร้างสิ่งแวดล้อมในสังคมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมต่างๆ เช่น การติดตั้งระบบดูดกลับไอไฮโดรคาร์บอน (Vapor Recovery Unit) เพื่อลดการปล่อยไฮโดรคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ และการติดตั้งหอเผาระบบปิด (Enclosed Ground Flare) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ก๊าซไฮโดรคาร์บอนจากกระบวนการผลิต ลดควัน เสียง แสง และความร้อนจากเปลวไฟก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศ เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับกลุ่มนักวิจัย และนักออกแบบชั้นนำจาก Cloud-floor Studio เพื่อสร้างสรรค์งานออกแบบที่เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นส่วนผสมของวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นการลดปริมาณและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ขยะพลาสติก

          บริษัท SCG
          
“เอสซีจี”ร่วมขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิตให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทาง SCG Circular way ตั้งแต่กระบวนการคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต ตลอดจนการจัดการผลิตภันฑ์ที่สิ้นอายุการใช้งาน เพื่อสร้างความร่วมมือและผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในประเทศไทย นำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่คุณค่า อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยและอาเซียนบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ได้อย่างแท้จริง

            สำหรับนวัตกรรมสินค้าและบริการจาก 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจีคือ ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้ง เช่น
                    
1.ความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรม Greenovative Lube Packaging ระหว่างเอสซีจีและบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy มาใช้ในการพัฒนาแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นชนิดรีไซเคิล โดยนำแกลลอนที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ ทำให้ลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต และช่วยนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ขึ้นรูป เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้ให้บริการ ผู้บริโภค และผู้รับรีไซเคิล
                    
2. นวัตกรรมเม็ดพลาสติก PE112 คอมพาวนด์สีดำ (PE112 Black HDPE Compound) ช่วยให้ใช้เม็ดพลาสติกในการผลิตน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรง โดยให้ความแข็งแรงมากกว่า PE100 แต่สามารถทนแรงดันได้เพิ่มขึ้น ทำให้ลดความหนาของผนังท่อลงได้ สามารถนำไปใช้กับงานหลากหลายประเภทอุตสาหกรรม อาทิ ท่อเหมืองแร่ ท่อขนส่งน้ำ
                    
3. ถนนคอนกรีตรีไซเคิล โดยนำเศษคอนกรีต เช่น ก้อนปูน แผ่นพื้น หัวเสาเข็ม มาใช้ทดแทนวัสดุธรรมชาติในกระบวนการก่อสร้างเพื่อรองพื้นก่อนเทคอนกรีตเป็นถนน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรและค่าใช้จ่ายในการกำจัดเศษคอนกรีต โดยปัจจุบันมีความร่วมมือกับศุภาลัยและบริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
                    
4. บรรจุภัณฑ์กระดาษ FybroZeal (DoiTung) เป็นเทคโนโลยีของสารเคลือบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยบรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก FybroZeal มีความแข็งแรงสูง น้ำหนักโดยรวมเบา สามารถพิมพ์งานได้สวย พร้อมทั้งปิดผนึกด้วยความร้อนได้ด้วยกระบวนการเดียวกับการขึ้นรูปฟิล์มพลาสติกปกติ แต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ สามารถใช้ทดแทน Plastic film สำหรับผลิตถุง หรือ Flexible packaging โดยสามารถนำกลับมารีไซเคิลและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ

ในตอนหน้า มาพบกับบทสรุปของการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศของประเทศไทยกันนะคะ

 

 

Visitors: 414,815