กรุงเทพมหานคร ขาดจป.วิชาชีพหรือไม่
เผยแพร่เมื่อ 17/09/2564....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา
นายกสมาคม ส.อ.ป.
ซีรีส์ข้อมูลจำนวนจป.วิชาชีพในจังหวัดต่างๆ
EP.1 - กรุงเทพมหานคร ขาดจป.วิชาชีพหรือไม่
มีการพูดกันมาเยอะว่า จังหวัดไกล ๆ โดยเฉพาะจังหวัดชายขอบติดประเทศอื่น และสี่จังหวัดภาคใต้ จะเป็นจังหวัดที่ขาดแคลนจป. วิชาชีพ โดยประเมินแบบเดา ๆ ว่าเพราะมันไม่น่าไป เป็นจังหวัดไม่น่าอยู่ อะไรทำนองนี้ (ซึ่งพิสูจน์ด้วยข้อมูลแล้วว่าที่พูด ๆ กันนั้นไม่จริง)
ก็เลยสนใจมาดูว่า ในเมืองหลวงของเรา เบื้องต้นคาดการณ์ว่า นายจ้างทุกสปก. น่าจะมีจป. วิชาชีพทำงานกันครบทุกแห่ง แต่เมื่อดูในรายละเอียดของ “ข้อมูลต้นปี 2563” ก็พบว่าในกทม. ยังคงมีความต้องการจป. วิชาชีพอีกมาก (คือยังต้องการ 676 คน)
ข้อสรุปที่น่าสนใจมีดังนี้
1. ในกทม. มีสปก. 1,573 แห่ง ที่ต้องมีจป. วิชาชีพ ซึ่งขณะนี้ (ต้นปี 63) มีการว่าจ้างไปแล้ว 897 แห่ง คิดเป็น 57.02% (ดูตารางช่องที่ 2&3)
2. จึงยังมีสปก. อีก 676 แห่งที่ยังไม่มีจป. วิชาชีพ (ตารางช่องที่ 4) ซึ่งแปลความได้ว่ามีความต้องการจป. วิชาชีพ 676 คน (คิดบนพื้นฐานว่าจ้าง 1 คน/แห่ง)
3. จากข้อ 1 หากสปก. แต่ละแห่ง จ้างจป. วิชาชีพแห่งละคน จะมีความต้องการจป. วิชาชีพ 1,573 คน แต่ในช่องที่ 5 ของตาราง พบว่าทั้งกทม. มีจป. วิชาชีพไปแล้ว 1,447 คน แสดงว่าสปก. 123 แห่ง (ที่มีจป. วิชาชีพแล้ว) ได้ว่าจ้างจป. วิชาชีพมากกว่า 1 คน
4. จึงน่าสนใจศึกษาว่าทำไมนายจ้างสปก. เหล่านี้จึงจ้างจป. วิชาชีพมากกว่า 1 คน มีเหตุจำเป็น หรือเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์อะไรจากการมีจป. วิชาชีพ
5. จากกราฟแท่ง จะพบว่าเฉพาะเขตดุสิต เขตจตุจักร และเขตคลองสามวา มีจำนวนจป. วิชาชีพมากกว่าจำนวนที่ต้องมีตามกฎหมาย แสดงว่าทั้งสามเขตนี้ มีการว่าจ้างจป. มากกว่า 1 คน มากกว่าเขตอื่น ๆ
หมายเหตุ:
1. ชื่อเขตในที่นี้ ได้รวมเขตใกล้เคียงเข้าไปด้วย ตามเขตพื้นที่รับผิดชอบของสรพ.แต่ละเขต เช่น คลองสามวา ได้รวมถึงมีนบุรีด้วย เป็นต้น
2. เป็นข้อมูลเมื่อ เมษายน 63 หวังว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะดีกว่านี้
ข้อเสนอแนะต่อเรื่อง Job Matching ตามนโยบายของรมว.กระทราวงแรงงานเพื่อแก้ไขปัญหาการคัดค้านข้อ 21(3) ของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ 48 แห่ง มีดังนี้
1. กสร. ควรสั่งการให้ สรพ.ทั้ง 10 เขต ทำหนังสือสอบถามไปยังสปก. 136 แห่งที่ยังหาจป. วิชาชีพไม่ได้ พร้อมแนบแบบสอบถามโครงการ Job Matching ของรมว.กระทรวงแรงงาน ไปด้วย ทั้งนี้ แบบสอบถามต้องชัดเจนว่า Job Matching คืออะไร ช่วยอะไรนายจ้าง มีประโยชน์อะไร และสภาพการจ้างงานที่นายจ้างกำหนดมีอะไรบ้าง (เช่นเงินเดือน หน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการ เป็นต้น)
2. ส่งข้อมูลที่ได้ ให้มหาวิทยาลัยแจ้งต่อบัณฑิตจบใหม่ เพื่อ match ความต้องการที่ตรงกันต่อไป
3. และเพื่อการปรับปรุงในโอกาสต่อไป สรพ. ควรขอข้อมูลการว่าจ้างของนายจ้างทั้ง 136 แห่ง ว่าเป็นอย่างไร จะได้นำมาวิเคราะห์ว่าเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถว่าจ้างจป. วิชาชีพหรือไม่ เช่นเงินเดือนอาจต่ำกว่ามาตรฐานมาก หรือเป็นการให้ค่าจ้างเป็นรายวัน เป็นต้น