ANOH2022

เขียนโดย ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.ลักษณีย์  บุญขาว
           ตำแหน่งวิเทศสัมพันธ์ ส.อ.ป.

          เครือข่ายเอเชียเพื่องานสุขศาสตร์อุตสาหกรมมและอาชีวอนามัย (The Asian Network for Occupational Hygiene; ANOH) เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันของสถาบันและหน่วยงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยประเทศต่างๆในเอเชีย เพื่อส่งเสริมพัฒนางาน และแบ่งปันแนวทางการทำงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัย ให้งานสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยในเอเชียพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          ปัจจุบันนายกสมาคม ANOH  คือ ศาสตราจารย์ ดอง อัก ปาร์ค (Prof. Donguk Park) สังกัด Department of Environmental Health, Korea Open National University ซึ่งจะดำรงตำแหน่ง จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2565 นี้ และ นายกสมาคมที่ได้รับเลือกตั้งให้มารับตำแหน่งคนต่อไป คือคุณฟิลิป ฮิบส์ (Mr. Phillp Hibbs) ซึ่งทำงานในสมาคม International Occupational Hygiene Association (IOHA) ประเทศออสเตรเลีย โดยคุณฟิลิป ฮิบส์ จะดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ANOH ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 – 31 ธันวาคม 2567

          ปัจจุบัน ANOH มีสมาชิกทั้งหมด 15 สถาบันที่มาจากประเทศต่างๆ ประกอบไปด้วย ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งองค์กรของประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของ ANOH คือ สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) หรือ Occupational Health and Safety at Work Association (OHSWA) ซึ่งมี รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี พันประสิทธิ์ เป็นนายกสมาคม

          ANOH มีกิจกรรมเพื่อพัฒนางานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้หรือแชร์ประสบการณ์ต่างๆ การศึกษาวิจัย การเผยแพร่ความรู้เชิงวิชาการ และการจัดประชุมวิชาการ ซึ่งการประชุมวิชาการ (ANOH Conference) ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ประเทศเวียดนามในปี ค.ศ. 2016 ครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ประเทศจีน ในปี ค.ศ. 2017  ครั้งที่ 3 จัดขึ้นที่ประเทศไต้หวัน ในปี ค.ศ. 2018 ครั้งที่ 4 จัดขึ้นที่ประเทศไทย ในปีค.ศ. 2019 ซึ่งประเทศไทย โดยสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) ได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ จัดในวันที่ 9-12 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 ที่กรุงเทพมหานคร และการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งที่ 5 ล่าสุดของ ANOH จัดขึ้นที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 19-23 กันยายน ค.ศ. 2022 โดย ส.อ.ป. ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมวิชาการจำนวน 2 ท่านคือ รศ.ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ตำแหน่งนายกสมาคม และ ผศ.ดร.ลักษณีย์  บุญขาว ตำแหน่งวิเทศสัมพันธ์

          ANOH Conference ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นที่ประเทศนิวซีแลนด์ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย ไปพร้อมๆ กับสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) และ ANOH กันนะคะ





THE 6TH ANOH CONFERENCE IN CONJUNCTION WITH THE 7TH IIHA CONNECT 2022

SEPTEMBER 19-23, 2022

BALI, INDONESIA


          สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้ จำนวน 2 ท่านคือ รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ตำหน่งนายกสมาคม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ลักษณีย์ บุญขาว ตำแหน่งวิเทศสัมพันธ์ โดยกิจกรรมการประชุมวิชาการ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน 2565 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม และกิจกรรมในช่วง 19-20 กันยายน 2565 จัดให้มีการอบรมทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยโดยผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการประเมินความเสี่ยงสารเคมีอันตราย (Chemical risk assessment) การควบคุมป้องกันปัญหาทางด้านเสียงโดยใช้หลักการทางวิศวกรรม (Noise engineering control) การบริหารจัดการความเสี่ยงทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial hygiene risk management) การตรวจประเมินสุขภาพ และการประเมินกฎหมาย (Health surveillance, Compliance testing) การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบCertified Industrial Hygienist(CIH Preparation)  และอุปกรณ์การตรวจสอบทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัย (Connected waerable occupational hygiene monitoring devices) เป็นต้น ซึ่งผู้ที่สนใจประเด็นใดสามารถลงทะเบียนเข้าอบรมได้ สำหรับกิจกรรมสัมมนาวิชาการ ในช่วงวันที่ 21-23 กันยายน 2565 มีกิจกรรมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ (Keynote Speaker) จากหลายประเทศ และเปิดโอกาสให้นักวิชาการในแต่ละประเทศได้นำเสนอผลงานวิชาการด้วย ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการได้ความรู้ใหม่ๆ และได้เห็นพัฒนาการการดำเนินงานทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยของแต่ละประเทศซึ่งสามารถนำไปพัฒนางานของตนได้ ประเด็นที่ผู้เชี่ยวชาญนำเสนอในงานประชุมวิชาการเช่น

          Professor Dooyong Park พูดเรื่อง Protecting worker’s health in challenging world โดย พูดถึงความเป็นมาของเครือข่ายทางด้านอาชีวอนามัยของเอเชีย (ANOH) ซึ่งมีความจำเป็นเนื่องจากประเด็นปัญหาทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยในเอเชียมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม มีคนงานมากขึ้น ซึ่งในเอเชียยังขาดเครื่องมือ วิธีการที่ดี ความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูล ตัวอย่างที่ดี และที่สำคัญยังขาดผู้เชี่ยวชาญทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ซึ่ง Professor Dooyong Park กล่าวว่าเราจำเป็นต้องสานต่องานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยให้เกิดขึ้นในเอเชีย เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและเพิ่มคุณค่าให้กับเอเชีย โดย ANOH จะต้องดำเนินการในเรื่องของการพัฒนาเครื่องมือ วิธีการ เพิ่มจำนวนนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม พัฒนาเทคโนโลยี ความร่วมมือของเครือข่าย และส่งเสริมให้เกิดกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เป็นต้น

          Professor Dong-Uk Park พูดถึงเรื่อง Occupational characteristics of workers compensation claim applications for COVID-19 infections โดยนำผลงานวิจัยที่ทำร่วมกับทีมงานในประเทศเกาหลีใต้มานำเสนอ ซึ่งคนงานในเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 แต่ยังไม่มีข้อมูลของผลกระทบที่แยกตามประเภทของโรงงานชัดเจน และยังไม่มีข้อมูลการเรียกร้องเงินทดแทนมากนัก นักวิจัยจึงทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเห็นว่าในส่วนของประเทศเกาหลีใต้นั้น หากจะเรียกร้องเงินทดแทนกรณีติดเชื้อ COVID-19 ภายใต้เงื่อนไขที่เกิดเนื่องจากการทำงานจะต้องมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Committee on COVID-19 compensation ที่จัดตั้งโดยศูนย์สุขภาพ (Health center) โดยคณะกรรมการจะมี 7 คนประกอบด้วย ประธาน 1 คน แพทย์ทางด้านโรคที่เรียกร้อง 2 คน นักอาชีวอนามัย 2 คน นักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม 1 คน และ นักกฎหมาย  1 คน ซึ่งคณะกรรมการจะนำข้อมูลที่วิเคราะห์การติดเชื้อมาประชุมและลงมติว่าพนักงานดังกล่าวสามารถจะเรียกร้องว่าการติดเชื้อ COVID-19 เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขเนื่องจากการทำงานหรือไม่ ซึ่งถ้าคณะกรรมการพิจารณาว่าเป็นโรคที่เกิดเนื่องจากการทำงานจึงจะสามารถเบิกเงินทดแทนได้ จากการศึกษาจะพบว่าพนักงานที่เรียกร้องเงินทดแทนจากการติดเชื้อ COVID-19 ร้อยละ 55 มีอายุมากกว่า 50 ปี และการเบิกเงินทดแทนจะสูงในช่วงฤดูหนาวและเกิดขึ้นได้กับทุกๆงาน

          Jacqueline Agius พูดถึงประเด็น Mental health and Psychosocial risk in the workplace เนื่องจากภาวะการทำงานในปัจจุบันมีโอกาสทำให้คนทำงานได้รับผลกระทบหรืออันตรายทางจิตสังคมเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียดจากงาน ภาวะงานที่ไม่ชัดเจน เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน การนอนไม่หลับ ทำงานไม่ทัน เบื่อหน่าย อุบัติเหตุในงาน หรือแม้กระทั่งการรับสัมผัสสารพิษในงาน เป็นต้น ซึ่ง Jacqueline Agius ได้พูดถึงแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภาวะอันตรายทางจิตสังคมที่เพิ่มขึ้นโดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้ ขั้นที่ 1จำแนกความอันตรายโดยหาสาเหตุของอันตรายทางจิตสังคมที่เกิดขึ้น ขั้นตอนที่ 2 ทำการประเมินความเสี่ยง ขั้นตอนที่ 3 ทำการควบคุมความเสี่ยง และขั้นตอนที่ 4 ทำการทบทวนกระบวนการควบคุมที่ผ่านมาว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

          รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี  พันธุ์ประสิทธิ์ ได้แชร์ประเด็น  Heat stress and climate change ให้ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการได้ทราบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เข้าร่วมสัมมนามีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยนำผลการศึกษาเรื่อง การกําหนดและการแปลผลสภาพปัญหาความเย็นเมื่อต้องสวมเสื้อผ้าที่มีฉนวนความร้อนเพื่อรักษาสมดุลความร้อน (Required clothing insulation; IREQ) กรณีศึกษาโรงงานทำอาหารแช่แข็งของประเทศไทย ซึ่งพนักงานกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับสัมผัสความเย็นจากการทำงาน โดยการควบคุมป้องกันอันตรายจากการสัมผัสความเย็นของพนักงานมีหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการสวมใส่เสื้อผ้าป้องกันนั่นเอง การศึกษานี้ทำการคำนวณการรักษาสมดุลความร้อนของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ตาม ISO11079 แล้วแปลผลออกเป็น 3 ประเด็นคือ พนักงานสวมใส่เสื้อผ้ามากเกินไป พนักงานสวมใส่เสื้อผ้าได้พอดี และพนักงานสวมใส่เสื้อผ้าไม่เพียงพอ ซึ่งจากการศึกษาจะพบว่า การทำงานในห้องเย็นที่ใช้เวลาทำงานนาน เช่นงานถ่ายเทผลิตภัณฑ์ งานขับฟอร์คลิฟท์ เมื่อคำนวณ IREQ  จะพบว่าพนักงานสวมใส่เสื้อผ้าไม่เพียงพอ ส่วนงานบรรจุผลิตภัณฑ์และงานผลิต เมื่อคำนวณ IREQ สามารถแปลผลได้ว่า พนักงานสวมใส่เสื้อผ้ามากเกินไป ซึ่งการศึกษาครั้งนี้นักวิจัยได้เสนอแนะประเด็นที่สามารถนำไปศึกษาต่อยอดด้วยว่าการคำนวณการรักษาสมดุลความร้อนของเสื้อผ้าที่สวมใส่ ตาม ISO11079 เหมาะสมที่จะนำมาใช้สำหรับคนงานในประเทศไทยหรือไม่

          นอกจากเรื่องข้างต้นที่ยกตัวอย่างมา ยังมีความรู้อีกหลายเรื่องที่ถูกนำมานำเสนอในงานประชุมวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายประเทศ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการสามารถเก็บประเด็นนำไปพัฒนาต่อยอดการทำงานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการประชุมวิชาการระดับนานาชาติของ ANOH นอกจากผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้พัฒนางานด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและอาชีวอนามัยของแต่ละประเทศแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้รู้จักเครือข่ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในงานด้านดังกล่าวที่มาจากหลากหลายประเทศซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาการทำงานร่วมกันในอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 

Visitors: 419,846