Site Safety Inspection

เผยแพร่เมื่อ:  05/11/2564
เขียนโดย คุณจีรวัฒน์ เจริญผล
               ผู้จัดการทั่วไป แผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
               บริษัท ไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด
...,

 

เรื่อง Site Safety Inspection

          สวัสดีครับทุกท่าน พบกันอีกครั้งสำหรับเดือนนี้เป็นบทความที่ห้า ในซีรีส์มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ งานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ใน EP.4  ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับการฝึกปฎิบัติงานไปพร้อมการทำงานจริง (On Job Training : OJT) ซึ่งสอดคล้องและต่อเนื่องจากการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงานในรูปแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการฝึกอบรมด้วยวิธีออนไลน์ ดังนั้นการประเมินความรู้ ความเข้าใจและความสามารถในเชิงปฏิบัติอาจจะต้องดำเนินการต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการฝึกอบรม และการนำไปปฏิบัติใช้จริงในพื้นที่ปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีในการปฏิบัติงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน

          สำหรับใน EP.5 จึงขอนำเสนอหัวข้อที่เกี่ยวข้องและต่อเนื่องคือการตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ฎิบัติงาน (Site Safety Inspection) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานที่สำคัญสำหรับงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน

          การตรวจสอบความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติงาน (Site Safety Inspection) คือ การตรวจสอบ เพื่อค้นหาอันตรายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่และการปฏิบัติงานต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดผลกระทบหรือมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของสถานที่ปฏิบัติงานและทุกกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของตัวบุคคล อาคาร สานที่ เครื่องมือ เตรื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อมในการทำงาน กระบวนการทำงาน ฯลฯ แล้วนำข้อมูลที่ตรวจสอบพบมาประเมิน และดำเนินการแก้ไข ปรับปรุง หรือหามาตรการป้องกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ (Accident) หรืออุบัติการณ์ (Incident) ขึ้นมาในสถานที่ปฏิบัติงาน

          วัตถุประสงค์และประโยชน์
                    1. 
เพื่อค้นหาสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conditions) เช่น เครื่องจักรไม่มีเครื่องป้องกัน ระดับเสียงดังเกินมาตรฐาน เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงานชำรุดหรือไม่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น และวิธีการทำงานหรือพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Actions) เช่น การไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสมตามลักษณะงานและในพื้นที่งานที่กำหนดไว้ การอยู่ในตำแหน่งที่อาจถูกหนีบ ทับ กระทำ การหยอกล้อเล่นกันในระหว่างการทำงาน เป็นต้น
                    2. 
แสดงถึงความรับผิดชอบด้านความปลอดภัย ความห่วงใยและพันธะสัญญาของระดับหัวหน้างาน รวมถึงฝ่ายบริหาร ที่จะสนับสนุน ดูแล และคงไว้ซึ่งความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคน
                    3. 
เป็นการประเมินถึงความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนทักษะ ความชำนาญ ที่แท้จริงของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละส่วน อันจะสะท้อนถึงความจำเป็นในการฝึกอบรมเพิ่มเติม
                    4. 
เป็นการกระตุ้นและย้ำเตือนให้ผู้ปฏิบัติงานได้เข้าใจ รับทราบ และตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และปลูกฝังความตระหนักรู้ ระแวดระวัง และเตรียมความพร้อมในการทำงานมากขึ้น รวมถึงได้มีส่วนร่วมในการรายงานปัญหาและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไข และให้ความร่วมมือในทุกกระบวนการตรวจสถานที่ปฏิบัติงาน
                    5. 
เป็นการประเมินมาตรการป้องกันอันตรายที่ใช้อยู่ ว่ายังคงประสิทธิภาพหรือมีการใช้งานอยู่หรือไม่
                    6. 
เป็นการตรวจสอบและประเมินว่าการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในเรื่องต่าง ๆ ถูกต้องตามข้อกำหนดของกฎหมาย (Legal Requirements) หรือไม่ เช่น ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย แผนรองรับเหตุฉุกเฉิน ฯลฯ
                    7. 
เป็นการตรวจสอบว่าการปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎระเบียบ ข้อกำหนด หรือ มาตรฐานของบริษัทหรือไม่

          ประเภทของการตรวจความปลอดภัย
          
ในการเลือกประเภทการตรวจนั้น เราสามารถจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เป็นต้นว่า ขอบเขตและลักษณะของ งานที่จะตรวจ ความจำเป็นในการดำเนินการ และหน้าที่รับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจำแนกประเภทของการตรวจความปลอดภัยออกได้เป็น 4 แบบ ตามความถี่หรือช่วงเวลาของการตรวจ คือ
                    1. 
การตรวจตามปกติหรือการตรวจเป็นประจำ (Regular/Ongoing Inspections) เป็นการตรวจที่มีกำหนดการตรวจเป็นประจำแน่นอน โดยช่วงระยะเวลาของการตรวจแต่ละครั้งจะมีระยะห่างกันสั้น ๆ
                    2. 
การตรวจเป็นระยะตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน (Periodic Inspections) เป็นการตรวจที่กำหนดตารางการตรวจ หรือระยะเวลาตรวจไว้แน่นอน ตามที่ได้ระบุไว้ในแผนการตรวจ โดยระยะห่างของการตรวจในแต่ละครั้งจะยาวนานกว่าการตรวจในประเภทแรก เช่น ทุกสัปดาห์ ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน หรือทุกปี ตัวอย่าง
                    3. 
การตรวจเป็นครั้งคราวโดยไม่กำหนดช่วงเวลาไว้แน่นอน เป็นการตรวจที่ไม่ได้มีการประกาศหรือแจ้งให้ทราบ รวมทั้งไม่ได้กำหนดเวลาที่จะตรวจไว้
                    4. 
การตรวจพิเศษ (Special Inspections) เป็นการตรวจในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เช่น
                              
- การก่อสร้างอาคารใหม่ การซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเก่า การรื้อถอน การเริ่มกระบวนการผลิตหรือเครื่องจักรเครื่องมือ อุปกรณ์ใหม่ อันตรายใหม่
                              
- ในช่วงการรณรงค์ต่าง ๆ ของสถานประกอบการ เช่น สัปดาห์ความปลอดภัย สัปดาห์ป้องกันอัคคีภัย การรณรงค์ขจัดของเสียออกจากโรงงาน เป็นต้น
                              
- ในการสอบสวนอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ (Accident/Incident Investigations) ที่เกิดขึ้น อาจจำเป็นที่ต้องดำเนินการตรวจพิเศษ โดยคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยละเอียด และหาวิธีป้องกันหรือควบคุมต่อไป
                              
- การตรวจสุขภาพร่างกายเป็นระยะ ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคจากการทำงาน ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์
                              
- การตรวจสถานที่หรือจุดทำงานใด ที่ส่อว่าจะเกิดปัญหาหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อให้ได้ทราบถึงระดับอันตราย ตลอดจนข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ต้องปฏิบัติ เช่น การเก็บตัวอย่างอากาศเพื่อให้ทราบถึงระดับการปนเปื้อนของสารพิษ
                              
- การตรวจสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขาภิบาลโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ที่ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสกับสารพิษ เช่น ตะกั่ว สารก่อมะเร็ง และสถานที่ที่ต้องการความสะอาดเป็นพิเศษ เป็นต้น

 

          หน้าที่ในการตรวจความปลอดภัย
                    
- ผู้บริหาร ควรหาโอกาสเดินตรวจหน่วยงานต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่าย ได้มีความตื่นตัวด้านความปลอดภัยในหน่วยงานที่รับผิดชอบมากยิ่งขึ้น และในบางครั้งก็อาจตรวจพบสภาวะอันตรายหรือการปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งสามารถเรียกหัวหน้างานหรือผู้ควบคุมงานมาสอบถาม และให้ดำเนินการแก้ไขได้ทันที
                    
- หัวหน้างาน หรือผู้ควบคุมงาน เป็นผู้ที่มีความสำคัญมากคนหนึ่งในระบบตรวจความปลอดภัย เพราะเป็นผู้ที่ต้องใช้เวลาทั้งวันอยู่กับงานที่รับผิดชอบ ต้องควบคุมดูแลการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน และเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในสภาพการทำงาน ตลอดจนรับทราบเป็นอย่างดีถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในงานที่ตนรับผิดชอบ ดังนั้นภาระหน้าที่ในการตรวจความปลอดภัย จึงเป็นได้ทั้งการตรวจแบบเป็นประจำ การตรวจเป็นระยะตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน
                    
- วิศวกรและหน่วยงานซ่อมบำรุง ควรได้มีการเดินตรวจความปลอดภัยของเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ เป็นประจำ และมีการตรวจเป็นระยะตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน
                    
- ผู้ปฏิบัติงาน เป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับอันตรายมากที่สุด ดังนั้นมีภาระหน้าที่ที่ต้องตรวจความปลอดภัยแบบเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนเริ่มงานทุกครั้ง
                    
- คณะกรรมการความปลอดภัย ตรวจเป็นระยะตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้แน่นอน และตรวจเป็นครั้งคราวที่ไม่กำหนดช่วงเวลาไว้แน่นอน
                    
- เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย เป็นผู้ที่มีภาระหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งระบุไว้ในกฎของกระทรวงแรงงาน และความปลอดภัยด้านต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ใน พรบ. โรงงาน ดังนั้นจึงถือว่าเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุด ในการประสานงานกับทุกฝ่ายในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจความปลอดภัย และโดยหน้าที่ประจำก็ต้องตรวจความปลอดภัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน และมีส่วนร่วมในการตรวจทุกประเภท รวมถึงยังต้องจัดหาผู้ชำนาญการตรวจเฉพาะ ในส่วนที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายอีกด้วย เช่น วิศวกรตรวจหม้อไอน้ำ เป็นต้น

          ขั้นตอนในการตรวจความปลอดภัย
             
 1. 
เตรียมพร้อมและวางแผนก่อนการตรวจ (Preparation & Planning) เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้การตรวจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนงานในส่วนต่าง ๆ ดังนี้ คือ
                    
1.1.    นโยบายและกระบวนการ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจความปลอดภัย (Policy & Procedures) โดยมีการระบุนโยบายและพันธะสัญญา (Commitment) ด้านความปลอดภัยจากฝ่ายบริหาร ส่วนกระบวนการนั้นจะต้องระบุถึงวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ขอบเขต (ระยะเวลา ความถี่ สถานที่) รวมถึงการกำหนดตัวบุคคลและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจความปลอดภัย
                    
1.2.    ทบทวนข้อมูล (Reviewing Information) 
                                        
o ทบทวนรายงานครั้งที่ผ่านมาในแต่ละพื้นที่ หรืองานที่ต้องการจะตรวจ เช่น รายงานการตรวจความปลอดภัย รายงานการวิเคราะห์อันตรายในงาน (Job Hazard Analysis: JHA/Job Safety Analysis: JSA) รายงานการสอบสวนอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ ข้อมูลการร้องเรียนของผู้ ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน รายงานการซ่อม บำรุงรักษา รายงานการปฐมพยาบาล ข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการความปลอดภัย ข้อมูลการฝึกอบรม ฯลฯ
                                        o 
ทบทวนแผนงานด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนรองรับเหตุฉุกเฉิน แผนงานป้องกันและระงับอัคคีภัย แผนงานปฐมพยาบาล ฯลฯ
                                        o 
ทบทวนข้อกำหนดทางกฎหมาย และกฎระเบียบ ข้อกำหนด ตลอดจนมาตรฐานของสถานที่ปฏิบัติงาน ที่ว่าด้วยความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ทั้งในส่วนของวิธีการปฏิบัติงาน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ระบบ กระบวนการและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน
                              
1.3.    เครื่องมือประกอบการตรวจ (Tools) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่นำมาใช้ประกอบในการวางแผนการตรวจ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก ประหยัดเวลา และลดความซับซ้อน เช่น ทำให้ทราบถึงเส้นทาง (Inspection Route) และตำแหน่งของพื้นที่ สิ่งที่ต้องการตรวจ นอกจากนี้ยังช่วยในการพิจารณาให้พุ่งตรงไปยังหัวข้อ/ประเด็นที่สนใจเป็นพิเศษ

               2. ดำเนินการตรวจความปลอดภัย (Conducting Inspections) 
                   
หลักการพื้นฐานทั่วไปที่สำคัญ คือ
                              
o ในระหว่างการตรวจนั้น ผู้ตรวจต้องพึงรักษาทัศนคติว่าเป็นการค้นหาความจริง (Fact–finding) ไม่ใช่การจับผิด (Fault–finding) และคงไว้ซึ่งวัตถุประสงค์และเป้าหมายในการตรวจ โดยต้องหนักแน่น คงเส้นคงวา (Firm) เป็นมิตร (Friendly) และยุติธรรม (Fair) และไม่ควรรับปากใด ๆ ในสิ่งที่ไม่มั่นใจว่าจะสนองตอบได้
                              o 
ในการตรวจนั้น ต้องทราบว่า จะตรวจอะไร (Look At) และ ค้นหาอะไร (Look For) เช่น ตรวจระดับเสียง ก็ค้นหาว่าระดับเสียงเกินมาตรฐานหรือไม่ โดยมีเป้าหมายหลักในการค้นหา คือ สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Conditions) และวิธีการทำงานหรือพฤติกรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Actions) ซึ่งต้องพิจารณาสิ่งที่สังเกตเห็นเปรียบเทียบกับมาตรฐานความปลอดภัยจากเอกสารต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ประกอบการพิจารณา
                              o 
ในระหว่างการตรวจ เมื่อพบสาเหตุของอันตราย ถ้าผู้ตรวจพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถแก้ไขได้โดยง่ายก็ควรบอกผู้ที่รับผิดชอบให้รีบดำเนินการแก้ไขทันที ส่วนกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ก็ควรพิจารณาใช้มาตรการแก้ไขชั่วคราวจนกว่ามาตรการที่มีประสิทธิภาพจะถูกนำมาใช้อย่างถาวร ส่วนกรณีที่ตรวจพบเครื่องจักร เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ มีการเสื่อมสภาพ และส่อเค้าว่าจะมีอันตรายอย่างยิ่งเมื่อใช้งาน ก็ควรห้ามใช้โดยใช้การ Logout หรือ Tagout และแจ้งผู้รับผิดชอบให้รีบดำเนินการแก้ไขให้ปลอดภัยก่อนใช้งานอีกครั้ง
                              o 
ใช้ความรู้ ทักษะ จากการฝึกอบรม และประสบการณ์ที่มี ให้เป็นประโยชน์ในการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นการแจกแจงอันตราย (Hazard Identification) การประเมินอันตราย หรือความเสี่ยง (Hazard or Risk Assessment) และการระบุมาตรการในการควบคุมอันตราย (Hazard Control Measures)
                              o 
ควรมีเวลาเพียงพอในการตรวจ ไม่ควรเร่งรีบ
                              o 
ให้ความสนใจเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือมีสถิติอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาสูงผิดปกติ หรือจากรายงานการตรวจที่ผ่านมาได้ระบุมาตรการแก้ไขไว้ ก็ควรมีการตรวจซ้ำและประเมินถึงประสิทธิภาพของมาตรการนั้น ๆ อย่าใช้วิธีง่าย ๆ
                              o 
เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ถูกตรวจนั้นได้มีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ทั้งนี้เพราะบุคคลเหล่านี้ต้องสัมผัสหรือเผชิญกับอันตรายทุกวัน และทราบดีถึงต้นเหตุที่แท้จริง แต่ผู้ตรวจก็ต้องนำความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะนั้นมาพิจารณาอีกครั้งเพื่อตรวจหาข้อเท็จจริง อย่าเชื่อทั้งหมดเพราะบางครั้งสาเหตุนั้นมาอาจมาจากความผิดพลาดของตัวผู้ปฏิบัติงานเอง แต่พยายามเบี่ยงเบนประเด็นว่าเป็นเพราะสาเหตุอื่น

               3. จัดทำรายงานผลการตรวจ (Inspection Reports) นำผลหรือข้อมูลที่ได้จากการตรวจทั้งหมดมาตรวจทานความถูกต้อง ครบถ้วน ก่อนจัดทำเป็นรายงานผลการตรวจ
                              o 
โดยเนื้อหานั้นต้องมีการระบุอย่างชัดเจน ถึงสถานที่ ตำแหน่งที่ตรวจ วันที่ตรวจ ชื่อผู้ตรวจ ชื่อผู้รับผิดชอบในการแก้ไข ลักษณะอันตรายที่พบ ข้อเสนอแนะ แนวทางหรือมาตรการแก้ไข ระดับความเร่งด่วนในการแก้ไข และวันครบกำหนดการแก้ไข
                              o
 แยกเป็นสัดเป็นส่วนเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย เช่น แผนก ฝ่าย หรือระบบ กระบวนการ แผนงาน ตามวัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายแรกเริ่มของการตรวจ แล้วจัดทำสำเนาให้แผนกหรือฝ่ายที่รับผิดชอบให้รับทราบอย่างเป็นทางการ ส่วนรายงานฉบับที่เสนอฝ่ายบริหารได้รับทราบและอนุมัตินั้น ควรระบุเพิ่มเติมถึง งบประมาณในการแก้ไขปัญหา วันและเวลาในการตรวจครั้งต่อไป
                              o 
ปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในกระบวนการตรวจ เช่น การขาดความร่วมมือจากแผนกหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การถูกปิดบังข้อมูลที่แท้จริง บุคลากรและงบประมาณในการตรวจไม่เพียงพอ เป็นต้น
                              o 
ควรมีการเก็บบันทึกข้อมูลการตรวจ (Record Keeping) ในแต่ละครั้งไว้ เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและตรวจสอบย้อนหลัง เช่น ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการสอบสวนอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ (Accident or Incident Investigations) หรือการตรวจความปลอดภัยครั้งต่อไป

               4. การติดตามและประเมินผล (Follow–Up & Evaluation) เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการตรวจและจัดทำรายงานแล้ว ก็ต้องมีการติดตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาและประเมินผลถึงประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับมาตรฐานความปลอดภัยทั้งก่อนและหลังการตรวจ
                              o 
ส่วนการประเมินผลถึงประสิทธิภาพของมาตรการแก้ไขนั้น ก็ควรพิจารณาถึงความพอเพียงในการป้องกันอันตราย และผลลัพธ์ที่แสดงออกมา เปรียบเทียบกับก่อนตรวจ ทั้งนี้อาจใช้การประเมินโดยอาศัยการจัดระดับประสิทธิผลที่ได้

               5. การเฝ้าระวัง (Monitoring) ควรมีการเฝ้าระวังผลลัพธ์และประสิทธิภาพของมาตรการแก้ไขที่ได้จากการตรวจความปลอดภัยอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อที่จะได้ทราบแนวโน้ม (Trends) การเปลี่ยนแปลงของอันตรายและความเหมาะสมของมาตรการควบคุมอันตรายที่ใช้อยู่ และเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาความถี่ของการตรวจความปลอดภัย และพัฒนาระบบการตรวจได้อย่างเหมาะสมต่อไป

          สำหรับบทความนี้หลายท่านคงใช้เป็นประจำและทราบกระบวนการเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามผมหวังว่าบทความนี้จะประโยช์สำหรับท่านที่อาจจะยังไม่ทราบ หรือสามารถใช้ทบทวนและนำไปพิจารณาในการดำเนินการต่อไป

โปรดติดตามในเดือนต่อไปครับ

 

Visitors: 414,962