การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)
เผยแพร่เมื่อ 26/08/2564...,
เขียนโดย อาจารย์ชวินทร มัยยะภักดี
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์...,
เรื่อง การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment)
ที่มา: Recommended Practices for Safety&Health Programs in Construction, OHSA
การประเมินความเสี่ยง (Risk assessment) หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์ถึงปัจจัยหรือสภาพการณ์ต่างๆที่เป็นสาเหตุของอันตรายที่มีอยู่และแอบแฝงอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การเกิดเพลิงไหม้ การระเบิด การรั่วไหลของสารเคมี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม
1. หลักของการประเมินความเสี่ยง
การประเมินความเสี่ยง เป็นขั้นตอนที่ต้องชี้บ่งอันตรายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของงานที่ครอบคลุมสถานที่ เครื่องจักร อุปกรณ์ บุคลากรและขั้นตอนการทำงาน ที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ความเสียหายต่อทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งต่างๆ เหล่านี้รวมกัน แหล่งอันตรายที่ชี้บ่งจะต้องนำมาประมาณระดับของความเสี่ยงโดยคำนึงถึงความรุนแรงและโอกาสที่จะเกิดของอันตราย เพื่อนำมาพิจารณาว่าเป็นความเสี่ยงระดับใด เช่น ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ที่ต้องดำเนินการควบคุมความเสี่ยงทันทีก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงานนั้น
2. ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงและหลักเกณฑ์ในการพิจารณา
หลักเกณฑ์ในการพิจารณา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (2543) โดยระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์การชี้บ่งอันตราย การประเมินความเสี่ยงและการจัดทำแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้ดังต่อไปนี้
2.1 การพิจารณาประเมินโอกาสของการเกิดอันตราย (Hazard Likelihood) เป็นการนำเอาข้อมูลจากการชี้บ่งอันตรายที่ระบุถึงความล้มเหลวของอุปกรณ์ และความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานมาพิจารณาว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด โดยจัดระดับโอกาสเป็น 4 ระดับ ระดับ 1 คือ มีโอกาสเกิดยาก ถึงระดับ 4 คือ มีโอกาสเกิดสูง
2.2 การพิจารณาถึงความรุนแรงของอันตราย (Hazard Severity) เป็นการนำเอาข้อมูลจากการชี้บ่งอันตรายมาประมาณระดับความรุนแรงโดยพิจารณาถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ต่างๆ ว่าจะก่อให้เกิดถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อบุคคล ชุมชน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด โดยจัดระดับความรุนแรงเป็น 4 ระดับ ระดับ 1 คือ มีความรุนแรงเล็กน้อย ถึงระดับ 4 คือ มีความรุนแรงมาก
2.3 การประเมินค่าความเสี่ยง (Risk Evaluation) เป็นการพิจารณาถึงผลลัพธ์ของระดับโอกาสคูณกับระดับความรุนแรงที่มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อม ชุมชน ทรัพย์สิน หากระดับความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน สิ่งแวดล้อม ชุมชน ทรัพย์สิน มีค่าแตกต่างกันให้เลือกระดับความเสี่ยงที่มีค่าสูงกว่าเป็นผลของการประเมินความเสี่ยงในเรื่องนั้นๆ
ผลที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงและการจัดลำดับความสำคัญของสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจะนำมาใช้กำหนดแผนงานบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้และความเสี่ยงสูง ต้องกำหนดแผนงานลดและควบคุมความเสี่ยง ในขณะที่ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ต้องตรวจสอบมาตรการที่มีอยู่และกำหนดแผนควบคุมความเสี่ยง ส่วนความเสี่ยงเล็กน้อยไม่ต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติม
ตัวอย่าง ตารางการชี้บ่งอันตรายด้วยวิธี Checklist
ที่มา : กรมโรงงานอุตสาหกรรม (2545), สิริพร ปานเมือง (2559)