บทบาทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพในสถานพยาบาล
เผยแพร่เมื่อ 13/07/2564...,
เขียนโดย คุณอาทิตย์ มีพานทอง
SHE Coordinator
บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น จำกัด...,
เรื่อง บทบาทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพในสถานพยาบาล
สถานพยาบาล เป็นกิจการหรือสถานประกอบกิจการที่ถูกบังคับใช้ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2549 ข้อ1(8) ซึ่งการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ในสถานพยาบาลนั้นต้องบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยต่อตัวบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ใช้บริการ รวมถึงบุคคลผู้มาติดต่อประสานงานในพื้นที่โรงพยาบาล โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยตั้งแต่ผู้ใช้บริการเข้าถึงพื้นที่โรงพยาบาล ผ่านกระบวนการทำงานของบุคลากร ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ รปภ. เจ้าหน้าที่ต้อนรับ เจ้าหน้าที่ลงทะเบียน แพทย์ เภสัชกร ตลอดจนถึงการรับบริการต่างๆ โดยทุกคนในกระบวนการของโรงพยาบาลต้องมีความปลอดภัย
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ (จป.ว.) เป็นผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดูแล ป้องกัน ควบคุม กำกับ ให้เกิดความปลอดภัยดังกล่าว โดยมีสายงานการบริหารที่ชัดเจน คือ จป.บริหาร จป.หัวหน้างาน ประสานงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาล รวมถึงทีมวิศวกรรมบริการ แม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย มีการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการ เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในบทบาทด้านความปลอดภัยฯ ในสถานพยาบาลนั้นอยู่ภายใต้การประเมินคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ หรือ HA (Hospital Accreditation) และการรับรองคุณภาพสถานพยาบาลระดับสากล JCI (Joint Commission International) ระบบประกันคุณภาพทั้งสองนี้ มีเนื้อหาความปลอดภัยกำหนดเป็นมาตรฐานสำคัญ ดังนั้น จป.ว. จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ มาตรฐานดังกล่าว ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล ร่วมกับกฎหมายความปลอดภัยฯ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ต้องมีความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ระบบบำบัดน้ำเสีย และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA (Environmental Impact Assessment) มีการควบคุม กำกับ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและรวบรวมข้อมูลส่งเอกสารรายงานตามรอบที่กำหนดอีกด้วย ดังนั้น Key success ของการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานพยาบาล คือ ผู้บริหารให้ความสำคัญทางด้านความปลอดภัยฯ การทำแผนงาน และกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน นั่นเอง
นอกจากนั้น จป.ว. ในสถานพยาบาลจะต้องวางแผนเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในโรงพยาบาล โดยเครื่องมือประเมินอันตรายและความล่อแหลม (Hazard and Vulnerability Assessment Tool) ประเมินความเสี่ยง และจัดลำดับความสำคัญออกมาเป็นความเสี่ยงทั้งด้านที่เกิดจากธรรมชาติ เทคโนโลยี มนุษย์ และที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย จากนั้นจึงนำมากำหนดนโยบายและแผนการจัดการ ยกตัวอย่างเช่น แผนการรองรับการลักพาตัวทารก/ผู้ป่วยเด็ก แผนรองรับกรณีการเกิดภัยพิบัติ แผนรองรับการเกิดอุบัติภัยหมู่ แผนรองรับการเกิดไฟฟ้าดับ แผนรองรับการเกิดเพลิงไหม้ แผนรองรับการป้องกันการตกจากที่สูง/การกระโดดตึก แผนป้องกันระบบคอมพิวเตอร์ขัดข้อง แผนการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) และแผนป้องกันเหตุรุนแรงหรือเหตุคุกคามในโรงพยาบาล เป็นต้น
ภาพที่ 1 การซ้อม และปฏิบัติจริงการรับ-ส่งผู้ป่วยทางอากาศพร้อมทีมแพทย์ พยาบาล
และสหสาขาวิชาชีพ (CODE EC) ประจำปี 2564
อีกหนึ่งบทบทหน้าที่สำคัญของ จป.ว. ในสถานพยาบาล คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ สื่อสารกับคนในองค์กร เพื่อนำสู่การปฏิบัติอย่างชัดเจนในองค์กร รวมทั้งให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชน เช่น การร่วมเป็นคณะกรรมการความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ระดับจังหวัด การร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อความปลอดภัยในสถานพยาบาล เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างฐานให้งานความปลอดภัยถูกเผยแพร่สู่วงกว้าง อีกทั้งยังสามารถทำโครงการ CSR ให้แก่ชุมชนและสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง เช่น โครงการสอนการใช้ถังดับเพลิง สอนการล้างมือและความรู้ด้านงานความปลอดภัย แก่นักเรียนที่สนใจ เป็นต้น เพื่อส่งต่อความรู้ของ จป.ว. ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
ภาพที่ 2 จป.ว. และ จป.หัวหน้างาน เข้าตรวจและให้ความรู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
ให้แก่ร้านค้า ร้านอาหาร ในโรงพยาบาล
ภาพที่ 3 กิจกรรม CSR ให้ความรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และการจัดการด้านสุขภาพ
ให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา ในบริเวณจังหวัดขอนแก่น
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาและผลักดันองค์กรให้มีความปลอดภัย จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกส่วนงานในองค์กร รวมถึงสนับสนุนจากผู้บริหารในการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยตามหลักคุณธรรมที่ตั้งมั่นไว้ในองค์กร ดังคำกล่าวของท่านผู้บริหารโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ว่า “ณ สถานที่แห่งนี้ คือสถานที่ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และคุณธรรมมาบรรจบกัน”