เทคโนโลยีกับการปรับตัวของ จป.วิชาชีพ

เผยแพร่เมื่อ 28/09/2564...,
เขียนโดย คุณเสกสรรค์ ปรีจิตต์
               CEO PS safety Co.,Ltd....,

 

เรื่อง เทคโนโลยีกับการปรับตัวของ จป.วิชาชีพ

          ถึงตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าเทคโนโลยีนั้นจำเป็นกับการพัฒนาของทุกสาขาอาชีพไม่เว้นแม้แต่ สายวิชาชีพด้านความปลอดภัยในการทำงาน ปัญหาหลักตอนนี้คือสถานการณ์โควิด-19 นั้นเป็นตัวเร่งเทคโนโลยีให้มาเร็วขึ้นและปริมาณมากขึ้นในแบบที่เรียกได้ว่าเป็นคลื่นยักษ์ที่ถาโถมใส่เราเลยก็ว่าได้ ใครที่มีทักษะที่พร้อมจะปรับตัวก็รอดไป แต่สำหรับใครที่ไม่สามารถปรับตัวทันต่อเทคโนโลยี ก็จะถูกทิ้งให้จมเทคโนโลยีไปเลย อาจกลายเป็นผู้อยู่วงนอกของสายงานอาชีพนั้นไปเลย

          เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญ เราอาจสูญเสียบุคลากรสำคัญของสายอาชีพไปเพราะท่านเหล่านั้นไม่สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปและสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา ได้ หรือ อาจเป็นเราเองที่ปรับตัวไม่ทัน ทำให้พลาดโอกาสดีๆในสายงานวิชาชีพไป

          ผมขอยกตัวอย่างกรณีเหตุการณ์ระเบิดที่ บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา  เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้น ในเวลาไม่นานนัก ได้มีการสั่งอพยพประชาชนในระยะรัศมี 5 กิโลเมตรและเมื่อดูว่าเหตุการณ์ยังคงลุกลามต่อไป ส่วนราชการจึงมีคำสั่งขยายระยะทางการอพยพออกเป็นรัศมี 10 กิโลเมตร หลายคนสงสัยว่าตัวเลข 5 หรือ 10 กิโลเมตรนั้นได้มาอย่างไร? แต่ถ้าท่านใดที่อยู่ในวงการด้านการบรรเทาสาธารณภัยเกี่ยวกับสารเคมีอาจคุ้นเคยกับโปรแกรมการคาดการณ์การหกรั่วไหลของสารเคมี ที่มีชื่อว่า CAMEO-ALOHA ซึ่งถูกพัฒนาโดย EPA(United States Environmental Protection Agency) และ NOAA (the National Oceanic and Atmospheric Administration) ซึ่งเราใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนรับมือกับเหตุฉุกเฉินด้านสารเคมี และหากท่านใดติดตามข่าวจะพบว่ามีการปรับใช้ โดรน บินเข้าสำรวจจุดที่เกิดเหตุเพื่อระบุตำแหน่งของถังเก็บสารเคมีและจุดเกิดเพลิงไหม้ รวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์ดับเพลิงเข้าไปจุดเกิดเหตุเพื่อลดความเสี่ยงอันตรายของนักดับเพลิง จะเห็นได้ว่าการที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นอาจจำเป็นต้องปรับใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภทมาใช้ร่วมกันเพื่อให้งานนั้นสำเร็จ มันคงดีมากถ้า จป.วิชาชีพหรือทุกคนในสายงานด้านความปลอดภัยฯ สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อให้งานสำเร็จได้ดังเป้าหมาย แต่ในโลกความเป็นจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น

          ในฐานะผู้ที่เคยเป็น จป.วิชาชีพและปัจจุบันเป็นวิทยากรและที่ปรึกษาด้าน OHS ให้กับองค์กรต่างๆ ตัวผมเองได้เผชิญปัญหาการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่มาอย่างรวดเร็วด้วยตัวเอง จึงพอจะสรุปประเด็นปัญหาหลักๆ ที่ทุกคนกำลังเผชิญความท้าทายในการปรับตัว ได้ดังนี้

          ประเด็นปัญหาการปรับตัวของสายอาชีพความปลอดภัยฯ ต่อคลื่นเทคโนโลยีที่ถาโถม
               - 
เทคโนโลยีด้านการศึกษาและการฝึกอบรม  ส่วนนี้เห็นชัดเจนมากครับ แม้กระทั้งกรมสวัสดิการฯ เองก็ยังต้องออกประกาศมาเพื่อให้การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ ในรูปแบบออนไลน์นั้นสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย ถึงแม้จะไม่ 100 % ก็ตาม แต่แรงกระเพื่อมนี้ส่งไปยัง จป.ทั้งหลายรวมถึงศูนย์ฝึกอบรมด้วย ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยฯ ในรูปแบบออนไลน์กันอย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ
                    
o   ข้อดีนั้นมีหลายประการ ทำให้ความรู้มีราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ดังนั้นในรูปแบบออนไลน์ ความรู้และประสบการณ์ด้านความปลอดภัยฯ จึงถูกส่งต่อกระจายไปอย่างรวดเร็ว
                    
o   อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม คือ โควิด-19 ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งประเทศ ทำให้น้องนักศึกษาที่จบใหม่หางานด้าน จป.วิชาชีพ ได้ยากขึ้นและจป.วิชาชีพบางท่านต้องตกงานเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เกิดช่องว่างด้านการพัฒนาความรู้และประสบการณ์จากช่วงเวลาที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ใช้ความรู้และทักษะวิชาชีพ การที่มีการฝึกอบรมออนไลน์จะเข้าไปเติมเต็มช่องว่างเหล่านั้น
                    
o   มุมมืดหรือข้อจำกัดบางประการ การไม่สามารถเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ ส่งผลกระทบ ทำให้ขาดโอกาสการเรียนรู้ พลาดตกขบวนรถไฟสายอาชีพไป อย่างน่าเสียดาย หลายท่านรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นบุคคลที่อยู่นอกวงการไปเลย

                    สิ่งที่เราต้องทำในฐานะผู้ทำงานในสายวิชาชีพความปลอดภัยฯ กับปัญหานี้คือ ต้องเปิดใจยอมรับเสียก่อนว่าเทคโนโลยีคือสิ่งจำเป็นต้องใช้ ต้องเรียนรู้ ของมันต้องมี อย่าเพิ่งเหนื่อยหรือท้อเสียก่อนนะครับ เป็นกำลังใจให้ทุกท่าน

ภาพจาก :https://www.pssafety.co.th/th

               - เทคโนโลยีด้านบริหารจัดการ
                    หากพูดว่าเทคโนโลยี หลายคนคงนึกถึงเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ (product)  จริงแล้ว กระบวนหรือเทคนิควิธีการ (process) ก็ถือเป็นเทคโนโลยี ได้เช่นเดียวกัน
                    
o   ISO 45001:2018Occupational Health and Safety Management System ผมถือว่านี่คือ เทคโนโลยีด้านกระบวนการหรือวิทยาการเทคนิควิธีการทำงาน ด้านการบริหารจัดการความปลอดภัยปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ยุคใหม่ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดความก้าวหน้าในอาชีพสายงานด้านความปลอดภัยฯ
                    
o   รวมถึงกฎหมายใหม่ด้านการประเมินความเสี่ยงและการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยฯ ที่กำลังจะออกมาเร็วๆ นี้ ก็สะท้อนให้เห็นแล้วว่า วิทยาการด้านการจัดการนั้นส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านความปลอดภัยฯแน่นอน
                    
o   ปรับตัวอย่างไรดี ? อันนี้ไม่ยากครับ ในกลุ่มเครือข่ายความปลอดภัยต่างๆ ในรูปแบบออนไลน์มีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Line , Facebook, Instagram หรือสมาคมฯต่างๆ ด้านความปลอดภัยฯ มักจะมีเอกสารข้อมูล,บทความ,VDO หรือ สัมมนาออนไลน์แบบฟรี ให้ศึกษา หรือ ท่านชอบแบบมีค่าใช้จ่ายก็มีให้เลือกมากมายแค่ต้องลงมือเท่านั้นครับ

               - เทคโนโลยีอื่นๆในการส่งเสริมวิชาชีพความปลอดภัยฯ
                    o   การจัดประชุม คปอ.หรือประชุมทีม แบบออนไลน์ ขณะที่สถานประกอบกิจการมีนโยบาย WFH แต่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายด้านความปลอดภัยอยู่เช่นเดิม
                    
o   การจัดให้บริการให้พนักงาน พบแพทย์ทางออนไลน์ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างในระดับพันคน
                    
o   การจัดการแผนฉุกเฉินสารเคมี ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ CAMEO-ALOHA
                    
o   การจัดการทำระบบใบขออนุญาต (work permit) สำหรับงานอันตราย ในรูปแบบออนไลน์ โดยลดการพบปะปนหรือรวมกันของผู้รับเหมา
                    
o   การจัดการงานด้านเอกสารทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดการสัมผัสส่งต่อเชื้อโรค รวมไปถึงรองรับการ audit จากลูกค้าหรือภาครัฐ ในรูปแบบออนไลน์audit ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
                    
o   การประยุกต์ใช้งานข้อมูลสารสนเทศ จาก website และ Mobile application ที่กำลังเติบโต ขยายตัวมากขึ้นในสายงานด้านความปลอดภัยฯ ตัวอย่างเช่น
                              - 
Safety Update (mobile app) ด้านสารสนเทศและการศึกษาด้านความปลอดภัยฯ
                              - 
NLE Calc (mobile app) ด้านการยศาสตร์ ของ NIOSH
                              - 
โปรแกรม CAMEO-ALOHA และ NOAA

                    ปัญหานี้จัดการได้ไม่ยากครับเพียงแค่ท่านต้องทดลองเรียนรู้ ทดลองใช้เทคโนโลยี เพราะปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลให้ได้เข้าถึงมากมายทางอินเตอร์เน็ต บทความต่อไปผมจะมาขยายส่วนย่อย ๆ ให้เพื่อนๆ ได้ศึกษานะครับเผื่อจะมีประโยชน์ในการไปปรับใช้หรือหาข้อมูลต่อ

https://www.iafc.org/topics-and-tools/resources/resource/aloha-software

 

Visitors: 414,846