จป.พูดแล้วไม่มีคนฟัง ทำอย่างไรดี?
เผยแพร่เมื่อ 29/09/2564...,
เขียนโดย คุณศุภพิชญ์ วาโน
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท มายด์ แอนด์ เซฟ แมนเนจเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด...,
เรื่อง จป.พูดแล้วไม่มีคนฟัง ทำอย่างไรดี?
เพื่อนพ้องชาว จป. เคยเจอกับปัญหา “พูดแล้วไม่มีคนฟัง หรือ ฟังแต่ไม่ทำหรือเปล่า?” ผู้เขียนเชื่อว่า เกินกว่า 50% ของท่านที่อ่านบทความเคยเจอปัญหานี้อย่างแน่นอน แล้วเราจะทำอย่างไรดี?
หัวใจสำคัญของการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นแบบที่คุณใช้คำพูดหรือไม่ใช้คำพูดก็ตาม คือ คุณต้องการให้ผู้ฟัง หรือคนรับสาสน์นั้น say YES! กล่าวคือ การตอบ “ตกลง หรือ เห็นด้วย” ในสิ่งที่คุณสื่อสารออกไปจริงหรือไม่? ดังนั้นถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่สื่อสารแล้ว ไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ คุณมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร? คำตอบคือ คุณอาจรู้สึกหงุดหงิดคนฟังที่ไม่ตั้งใจฟังในสิ่งที่กำลังพูด หรือไม่คุณก็อาจรู้สึกว่า พวกเขาไม่ให้ความสำคัญในสิ่งที่คุณกำลังพูด คุณกำลังรู้สึกแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?
สิ่งที่อยากแบ่งปันต่อกับผู้อ่านคือ คุณลองค่อยๆ วิเคราะห์ถึง “สาเหตุที่แท้จริงของการสื่อสาร” กันดีกว่าว่า เกิดความผิดพลาดอะไรในการสื่อสารในแต่ละครั้งบ้าง เพราะการบอกว่า คนฟังหรือคนรับสาสน์ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่เราสื่อสารนั้น เป็นบทสรุปที่ผิวเผินเกินไป และไม่ได้ช่วยทำให้เราพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารให้ดีขึ้นเลย
คนส่วนใหญ่มักพูดในสิ่งที่ “เราอยากได้ หรือคิดว่าสำคัญกับผู้ฟัง” แล้วคนฟังล่ะ พวกเขาอยากได้ยินในสิ่งที่เราอยากพูดหรือเปล่าจริงหรือเปล่า? เราอาจรู้ว่า สิ่งที่เรากำลังพูดนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง แล้วในมุมมองของผู้ฟังคิดว่าเป็นประโยชน์เหมือนที่คุณคิดหรือเปล่า?
ถ้าวันนี้คุณกำลังพูดเรื่อง กฎระเบียบด้านความปลอดภัยให้กับพนักงานในบริษัท คุณเคยบอกเหตุผลของการตั้งกฎระเบียบเหล่านั้นหรือไม่? แล้วทุกถ้อยคำที่เราพูดออกไปนั้น พนักงานแสดงปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไร? ถ้าพวกเขารู้สึก “ได้ประโยชน์” เชื่อมั่นได้เลยว่า พวกเขายินดีที่จะปฏิบัติตามอย่างแน่นอน
ลองทำหัวใจให้เป็นกลาง “หยุดโฟกัสที่ตัวเรา” แล้วลองไปนั่งในหัวใจของผู้ฟัง อาทิเช่น นายจ้าง พนักงาน ผู้รับเหมา เป็นต้น ลองสวมบทบาทเป็นพวกเขาดูบ้าง แล้วพิจารณาสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปนั้นว่า เป็นลักษณะ I win, you win, and we win หรือไม่ กล่าวคือ ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งตัวของ จป. ที่เป็นผู้พูด, พนักงาน ผู้รับเหมา นายจ้าง ซึ่งเป็นผู้ฟัง และภาพรวมของคนในองค์กรได้รับประโยชน์หรือไม่ และที่สำคัญคือ ประโยชน์ที่ทุกฝ่ายจะได้รับต้อง “จับต้องได้” เช่น เป็นสถิติ ตัวเลข เป็นต้น
สมมติสถานการณ์ว่า “บริษัทมีสถิติอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน ปีที่ผ่านมา 10 เคส ในฐานะที่คุณเป็น จป.วิชาชีพ คุณนำเสนอสถิตินี้ต่อนายจ้าง คุณบอกว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องลดสถิติเหล่านี้ จึงอยากเสนอโครงการรณรงค์ลดอุบัติเหตุ ซึ่งมีงบประมาณอยู่ที่ 100,000 บาท เพื่อลดสถิติดังกล่าว” ถ้าคุณพูดเพียงเท่านี้ นายจ้างคงไม่อนุมัติโครงการให้แน่นอน เพราะนายจ้างรู้สึกว่า “จะต้องเสียเงินอีกแล้วเหรอ?”
แล้วถ้าเปลี่ยนใหม่เป็นแบบนี้ล่ะ “บริษัทมีสถิติอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน ปีที่ผ่านมา 10 เคส และได้รวบรวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดเป็นมูลค่า 300,000 บาท ดังนั้นจึงขอเสนอโครงการรณรงค์การลดอุบัติเหตุ เพื่อลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ซึ่งบริษัทจะใช้งบประมาณเพียงแค่ 100,000 บาทในการหยุดสถิติดังกล่าว” ถ้าคุณอธิบายในเบื้องต้นแบบนี้ เชื่อว่า นายจ้างจะมีความรู้สึก “อยากฟังต่อ” และให้เวลาคุณในการอธิบายรายละเอียดของโครงการอย่างแน่นอน
ทักษะด้านการสื่อสารนั้นมีความสำคัญกับทุกด้านของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานที่ต้อง “ดูแลชีวิตของผู้อื่น” ดังนั้นจึงเป็นทักษะที่ จป. จำเป็นต้องฝึกฝนและปรับรูปแบบไปเรื่อยๆ ตามลักษณะของผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วย และเมื่อคุณสามารถสื่อสารได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลลัพธ์ของการสื่อสารนั้นจะเป็นไปในแบบที่คุณต้องการอย่างแน่นอน