Process Safety Rules
เผยแพร่เมื่อ: 05/08/2564....,
เขียนโดย คุณจีรวัฒน์ เจริญผล
ผู้จัดการทั่วไป แผนกความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม
บริษัท ไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด...,
เรื่อง Process Safety Rules
สวัสดีอาจารย์ พี่ ๆ เพื่อน ๆ และน้อง ๆ ทุกท่าน กลับมาพบกันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นบทความที่สองในซีรีส์มาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพ งานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ใน EP.1 ผมได้แนะนำเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ IOGP ที่ผมได้รู้จักและนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพงานก่อสร้างในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน คือ กฎรักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules)
สำหรับใน EP.2 นี้ผมขอแนะนำอีกหนึ่งแนวทางปฏิบัติที่ดีของ IOGP - International Association of Oil & Gas Producers หรือสมาคมผู้ผลิตก๊าซและน้ำมันนานาชาติ ที่สามารถประยุกต์ใช้ร่วมกับกฎรักษ์ชีวิต (Life-Saving Rules) หรือมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพอื่นได้ ซึ่งได้แก่ กฎความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Rules)
เป็นที่ทราบกันดีว่ากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันนั้นมีความเสี่ยงจากอันตราย ได้แก่ สารไวไฟ แรงดัน สารเคมี ไฟฟ้า การเคลื่อนที่ของเครื่องจักร ในระหว่างกระบวนการผลิต การแยกก๊าซ การกลั่น การทดสอบระบบ การเดินระบบ และกระบวนการซ่อมบำรุง หากเราพิจารณาอันตรายที่เกี่ยวข้องนั้น ส่วนใหญ่เป็นอันตรายที่เหมือนในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เราทุกคนป้องกันไม่ให้อันตรายเหล่านั้นเกิดขึ้นและก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อผู้ปฏิบัติงาน และสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพย์สินได้
ดังนั้นหากเรานำกฎความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Rules) มาประยุกต์ใช้ให้เป็นกฎความปลอดภัยกระบวนการทำงานในแต่ละลักษณะงานแล้วจะช่วยลด หรือป้องกันการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมที่จะช่วยลดหรือกำจัดอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดจากอันตรายในกระบวนการผลิต อาจจะอธิบายได้โดยง่าย ดังนี้
- เป็นพฤติกรรมด้านความปลอดภัยที่เราทำกันอยู่แล้ว
- ช่วยส่งเสริมกระบวนการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิต
- ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจถึงความปลอดภัยของกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิตในการทำงานแต่ละวัน
ประกอบด้วยกฎ 10 ข้อดังนี้
ข้อ 1: ตระหนักรู้ถึงอันตราย (Respect Hazards)
o เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายที่เกี่ยวข้องในการทำงานและพื้นที่ทำงานของเรา รวมถึงเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการควบคุมจัดการกับอันตรายนั้น ๆ
o เราประเมินความเสี่ยงโดยคำนึงถึงอันตรายในกระบวนการผลิต และเราทำตามข้อแนะนำจากการประเมินความเสี่ยงอย่างเคร่งครัด
o เราเน้นย้ำเรื่องอันตรายในกระบวนการทำงานแก่ผู้ปฏิบัติงานก่อนเริ่มงาน รวมถึงการพูดคุยเรื่องความปลอดภัยก่อนเริ่มงาน และบทเรียนจากอุบัติเหตุร้ายแรงที่เคยเกิดขึ้นแก่พนักงานอยู่เสมอ
ข้อ 2: ปฏิบัติตามขั้นตอน (Apply Procedures)
o เราสื่อสารและอธิบายขั้นตอนการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานก่อนเริ่มงานทุกครั้ง
o เรามั่นใจและรับรองว่าขั้นตอนการทำงานนั้นมีการปรับปรุงให้พร้อม ถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ
o เราตรวจสอบอยู่เสมอว่า ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานตรงตามขั้นตอนการทำงานที่กำหนดไว้ได้ หากไม่มีการควบคุมการทำงาน ขั้นตอนการทำงานที่ไม่ถูกต้อง เหมาะสม เราจะหยุดเพื่อตรวจสอบ
o เราทำความเข้าใจ คุ้นเคย กับขั้นตอน ทำการฝึกซ้อม ฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับขั้นตอยนการทำงาร รวมถึงการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินต่าง ๆ
ข้อ 3: รักษาเกราะป้องกัน (Sustain Barriers)
o เราพูดคุย อธิบายและทำความเข้าใจเกี่ยว “เกราะป้องกัน” (Barrier) ทั้งเกราะป้องกันที่เป็นอุปกรณ์ และเกราะป้องกันที่มาจากตัวผู้ปฏิบัติงาน
o เราตรวจสอบและทำให้มั่นใจว่า กระบวนการทำงานมีผลกระทบต่อวิธีการป้องกันหรือเกราะป้องกันที่มีอยู่มากน้อยเพียงใด และจะทำอย่างไรให้เกราะป้องกันนั้นแข็งแรงและป้องกันอันตรายได้ตลอดเวลา
o เราต้องแจ้งรายงานเมื่อเกราะป้องกันไม่เพียงพอในการป้องกัน เราต้องมีมาตราการทดแทนหรือบรรเทาเพื่อรักษาระดับความปลอดภัยไว้
o เมื่อเราสูญเสียเกราะป้องกัน หรือเกราะป้องกันไม่เพียงพอ เราต้องทำการปรับปรุงโดยเร็วที่สุด
ข้อ 4: การทำงานในช่วงเวลาที่ปลอดภัย (Stay within Operation Limits)
o เรามีเอกสารกำหนดช่วงการทำงานที่ปลอดภัยในกระบวนการทำงานและสถานที่ของเรา
o เราเพิ่มมาตรการควบคุมและทำให้มั่นใจว่าการทำงานทั้งหมดปลอดภัยหากไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในช่วงการทำงานที่ปลอดภัยได้
o เราสอดส่องดูแลและบ่งชี้หากมีแนวโน้มที่จะออกจากช่วงการทำงานที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการทำงานที่ไม่ชัดเจน กรอบเวลาที่ไม่เหมาะสม
o เราใช้กระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of Change) หากต้องปรับช่วงการทำงานที่ปลอดภัย
o เราต้องมั่นใจและชี้บ่งว่าแหล่งพลังงานต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้รับการบ่งชี้และควบคุมให้ปลอดภัยในช่วงเวลาการทำงาน
ข้อ 5: ตัดแยกระบบและอุปกรณ์อย่างปลอดภัย (Maintain Safe Isolation)
o เราจัดทำและมั่นใจว่ามีแผนการตัดแยกระบบและอุปกรณ์ที่เฉพาะกับงานและข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน
o เราสื่อสารและอธิบาย เพื่อให้มั่นใจว่าการตัดแยกระบบและอุปกรณ์ได้มีการดำเนินการก่อนทำงาน และตรวจสอบหากแผนการตัดแยกระบบและอุปกรณ์ไม่สามารถดำเนินการได้โดยผู้ปฏิบัติงาน
o เราตรวจสอบวิธีการตัดแยกระบบและอุปกรณ์ที่หน้างาน เพื่อยืนยันว่าการตัดแยกได้ดำเนินการสมบูรณ์ โดยไม่มีพลังงานคงค้างในระบบหรืออุปกรณ์
o เราตรวจสอบว่าการตัดแยกระบบและอุปกรณ์มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอยู่ตลอดระยะเวลาในการทำงาน
o เราต้องมั่นใจและรับประกันว่าอุปกรณ์ที่อาจมีการรั่วไหล ได้รับการจัดการทุกขั้นตอน ได้แก่ก่อนทำงาน ระหว่างทำงาน และหลังจากการทำงาน
ข้อ 6: เดินตรวจสอบความปลอดภัย (Walk the Line)
o เราต้องมั่นใจว่าเอกสารที่เกี่ยวข้องและนำมาใช้เป็นข้อมูลอุปกรณ์และข้อมูลระบบต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันและข้อมูลในเอกสารตรงกับระบบและอุปกรณ์ที่ติดตั้งจริงในพื้นที่หน้างาน เช่น แผนผังระบบท่อ ระเบียบและขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เป็นต้น
o เราต้องตรวจสอบหน้างานจนแน่ใจว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในสถานะที่ถูกต้อง อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและปลอดภัย ก่อนที่จะมีการทำงานหรือเปลี่ยนสถานะหรือขั้นตอนของกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิต
o เราต้องแน่ใจว่าข้อมูลที่มีถูกต้องและพร้อมใช้ในกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิตที่ก่อนเริ่มทำงาน และแจ้งหัวหน้างานทันที่เมื่อพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง
ข้อ 7: ควบคุมแหล่งประกายไฟ (Control Ignition Sources)
o เราบ่งชี้ กำจัด ควบคุมแหล่งที่อาจจะก่อกำเนิดประกายไฟ ก่อนเริ่มทำงาน การเตรียมงานและขณะทำงาน
o เราจำกัดแหล่งกำเนิดประกายไฟแม้จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ
o เรากำจัดแหล่งประกายไฟในขณะที่ทำงานเกี่ยวกับสารไวไฟ การทดสอบระบบ และการปิดระบบซ่อมบำรุง
ข้อ 8: ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน (Recognize Change)
o เราตรวจสอบและรายงานทันทีหากพบการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน
o เราทำตามกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (Management of Change-MOC) อย่างเคร่งครัด
o เราตรวจสอบกระบวนการจัดการการเปลี่ยนแปลง (MOC audit) อยู่เสมอ
o เราไม่ยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้รับอนุญาต
o เรายืนยันว่ามีการทบทวนความปลอดภัยก่อนเริ่มทำงานหลังการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ
ข้อ 9: หยุดเมื่อสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น (Stop it the Unexpected Occurs)
o เราสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานตัดสินใจใช้สิทธิในการหยุดปฏิบัติงานภายใต้สภาวะที่ไม่ปลอดภัย (stop work authority)
o เราไม่เร่งงานให้เสร็จ โดยไม่สนใจความปลอดภัย
o เราแจ้งให้หัวหน้างานทราบเมื่อมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น
o เราต้องมั่นใจก่อนว่าเราสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย ก่อนกลับสู่การดำเนินงานต่อภายหลังการหยุดปฏิบัติงานภายใต้สภาวะที่ไม่ปลอดภัย (stop work authority)
o เราต้องตัดสินใจหยุดปฏิบัติงานภายใต้สภาวะที่ไม่ปลอดภัยเมื่อพบสิ่งผิดปกติ หรือเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่อุบัติเหตุ
ข้อ 10: ค้นหาและใส่ใจสัญญาณเตือน (Watch for Weak Signals)
o เราสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงาน สังเกตสัญญาณและสิ่งผิดปกติในกระบวนการทำงานหรือกระบวนการผลิต
o เราหาสาเหตุของสิ่งผิดปกติและทำการแก้ไขก่อนเกิดอันตราย
o เรารายงานและสื่อสารสิ่งผิดปกติที่พบกับหัวหน้างานและผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่ามันจะเล็กน้อยก็ตาม
สำหรับใน EP.2 นี้ ได้นำกฎความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Rules) มาประยุกต์ใช้เป็นกฎความปลอดภัยในกระบวนการทำงานได้ ควบคู่ไปกับกฎรักษ์ชีวิต ที่ได้นำเสนอไปใน EP.1
ถึงตอนสุดท้ายของ EP.2 ผมคิดว่าจะเป็นประโยช์สำหรับทุกท่านที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมและกระบวนการทำงานของเราในทุก ๆ กิจกรรมครับ .........โปรดติดตามและพบกันใน EP.3 ในเดือนต่อไป