ตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรม
เผยแพร่เมื่อ 19/07/2564...,
เขียนโดย ดร.สุเมธ เพ้งภูมิเกียรติ
อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,
เรื่อง ตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรม
สารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลายในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะถูกใช้ร่วมกับสี น้ำยาเคลือบเงา กาว ทินเนอร์ หรือใช้เป็นสารซักล้างทำความสะอาดต่างๆ ซึ่งช่องทางการรับสัมผัสสารตัวทำละลายนั้นได้แก่
1) ทางการดูดซึมทางผิวหนัง เมื่อมีการใช้หรือสัมผัสโดยตรง ในระหว่างการใช้สารเคมีทำความสะอาดต่างๆ
2) ทางการหายใจไอระเหย ซึ่งตัวทำละลายส่วนใหญ่จะเป็นสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย มีความดันไอสูง
3) ทางการกิน ซึ่งอาจจะเกิดจากการหยิบจับอาหารในขณะที่มือมีการปนเปื้อนสารเคมีเหล่านี้อยู่
ตัวทำละลายชนิดต่างๆ ก็ส่งผลถึงสุขภาพในรูปแบบที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะทำให้หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ถ้าได้รับไอสารเข้าสู่ร่างกายในปริมาณความเข้มข้นที่สูง
ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะเวลาสั้นๆ และได้รับผลในทันทีทันใดได้แก่
- การระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนัง ปอด, มีอาการปวดหัว, คลื่นไส้อาเจียน, เวียนหัว
ผลการทบต่อสุขภาพในระยะเวลายาว ได้แก่
- ผื่นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง เกิดการอักเสบของผิวหนัง ผื่นแดง คัน บวม พุพอง
- ความผิดปกติของระบบประสาท เหนื่อยล้า กล้ามเนื้อสั่น สูญเสียความทรงจำ
- เกิดความเสียหายต่อตับและไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้สารตัวทำละลายที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ
มาตรการป้องกันการรับสัมผัสตัวทำละลาย ประกอบไปด้วย
- เมื่อมีการใช้สารตัวทำละลายอินทรีย์ ให้แน่ใจว่ามีการระบายอากาศที่เพียงพอ เปิดประตู หน้าต่าง มีพัดลมระบายอากาศ หรือทำในตู้ดูดควัน
- ใช้อุปกรณ์ป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสมกับไอของสารเคมี มี cartridge ในการกรองไอระเหย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตัวทำละลายโดยตรงทางผิวหนังหรือการกระเด็นเข้าดวงตา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำที่ระบุในเอกสารความปลอดภัยสารเคมี (SDS)
- ห้ามรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ ในบริเวณทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ตัวทำละลาย
- ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดภายหลังปฏิบัติงาน