โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล กิ่งแก้ว ไฟไหม้

เผยแพร่เมื่อ 12/07/2564...,
เขียนโดย ดร.เด่นศักดิ์ ยกยอน 
               อาจารย์ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,

 

เรื่อง โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล กิ่งแก้ว ไฟไหม้

 

          ภาพอาสาดับเพลิง โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล กิ่งแก้ว ไฟไหม้ ที่แค่เพียงสวมหน้ากากอนามัย หรือบางคนใช้ผ้าปิดจมูกเท่านั้นเพื่อเลี่ยงการสูดดมกลิ่นควันไฟ บางคนเท่านั้นที่มี N95 และน้อยคนมากที่จะมีหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ ขณะเดียวกันก็มีภาพที่ทหารลงพื้นที่โดยมีหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ จนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ตามมาจำนวนมากนี่คือภาพที่แสดงให้เห็นความไม่พร้อมของ PPE ที่มีให้อาสาสมัครเหล่านี้ เนื่องสารเคมี ‘สไตรีนโมโนเมอร์’ ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อร่างกายและเป็นสารก่อมะเร็งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่นั้นอย่างน้อยต้องใช้หน้ากากชนิด Full-facepiece respirator (gas mask) โดยมีตลับกรองสารพิษชนิดกันไอก๊าซอินทรีย์ (Hydrocarbon) ที่มีแถบสีดำติดไว้ที่ตลับ (Cartridge) ซึ่งสถาบัน National Institute for Occupational Safety and Health (NIOSH)กำหนดว่าในกรณีความเข้มข้นของ Styrene monomer ไม่เกิน 500 ppm ให้ใช้หน้ากากป้องกันก๊าซพิษที่มีระดับการป้องกัน APF = 50 ซึ่งค่า Assigned Protection Factor (APF) นั้นบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของการกรองก๊าซพิษ เช่น APF = 10 นั้นหมายความว่าสามารถกรองก๊าซพิษอากาศด้านในหน้ากากให้เหลือเพียง 1:10 เมื่อเทียบกับด้านนอก

 

          แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นกรณีนี้ เนื่องจากอาสาดับเพลิงไม่รู้ว่าค่าความเข้มข้นในบรรยากาศเป็นเท่าไร จำเป็นต้องใช้ใช้หน้ากากที่มีระดับป้องกันAPF = 10,000 ซึ่งเป็นชนิด Self-contained Breathing Apparatus (SCBA) ที่ห่อหุ้มใบหน้าเราทั้งหมด (full face) โดยมีอากาศอัดแรงดันจ่ายตลอดเวลาทำให้เกิด (positive-pressure) ก๊าซพิษไม่สามารถซึมผ่านเข้ามาได้ สำหรับผู้ที่หนีออกจากพื้นที่อันตราย (Escape) ต้องใช้หน้ากากที่มีระดับป้องกัน APF = 50หน้ากากชนิด Full-facepiece respirator (gas mask) โดยมีตลับกรองสารพิษชนิด Canister กันไอก๊าซอินทรีย์ (Hydrocarbon) ที่มีแถบสีดำติดไว้ที่ตลับ Canister

 

          อย่างไรก็ตามเหตุการณ์โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ไฟไหม้และระเบิดนี้สะท้อนให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการปฏิบัติตามกฎหมายหลายเรื่อง เช่น  กฎกระทรวงเรื่องกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย พ.ศ. 2556 ในด้านการทำบัญชีรายชื่อและข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี พร้อมกับแจ้งสื่อสารข้อมูลความปลอดภัยและอันตราย และในด้านการเก็บรักษา การถ่ายเทสารเคมีอันตราย ซึ่งสถานที่เก็บรักษาสารไวไฟต้องสามารถทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 180 นาที และต้องห่างจากแหล่งความร้อนและแหล่งที่ก่อให้เกิดประกายไฟในระยะที่ปลอดภัย ตลอดจนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องการป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พ.ศ. 2555 ในเรื่องสถานที่เก็บวัตถุไวไฟ พื้นที่ 14 ตารางเมตรขึ้นไปต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย.. 2550 ในเรื่องการปฏิบัติการระงับอัคคีภัยขององค์กรปกครองท้องถิ่นและการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่อันตราย

 

 

Visitors: 415,504