อันตรายจากการใช้ถังอ๊อกซิเจนอัดแรงดัน

เผยแพร่เมื่อ: 11/10/2564
เขียนโดย คุณชลาธิป อินทรมารุต
                HSSE Manager
                บริษัท  อาร์ทิเลีย คอร์เนอร์สโตน จำกัด...,

 

เรื่อง อันตรายจากการใช้ถังอ๊อกซิเจนอัดแรงดัน

          ถ้าหากตั้งคำถามว่า “ก๊าซอะไรที่อยู่ใกล้ตัวเรา และเราคุ้นเคยกับมันมากที่สุด?” ผมเชื่อว่าหลายๆท่านคงตอบเช่นเดียวกับผมว่า “ก๊าซอ๊อกซิเจน” เพราะเป็นก๊าซที่มีอยู่ในบรรยากาศรอบๆตัวเรา ประมาณ 21% และมีความจำเป็นต่อร่างกายของเรา รวมถึงสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้เพื่อการหายใจและดำรงค์ชีวิต ซึ่งเราสามารถพบเห็นการนำก๊าซอ๊อกซิเจนมาอัดแรงดันบรรจุลงในถังเหล็กหนา เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ มากมาย อย่างเช่น ทางการแพทย์ใช้สำหรับช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้เองอย่างปกติ  ในทางอุตสาหกรรมและงานก่อสร้างนำมาใช้เพื่อเชื่อมโลหะให้ติดกัน หรือ ใช้เพื่อตัดโลหะให้ขาดออกจากกัน และบ่อยครั้งที่เราพบเห็นข่าวอุบัติเหตุจากถังอ๊อกซิเจนระเบิด ไฟไหม้ ซึ่งมักจะเป็นกรณีที่ทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และยังคงเกิดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมเคยทดสอบด้วยการถามคำถามกับ จป.วิชาชีพ หรือ วิศวกร ว่า “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราผสมก๊าซอ๊อกซิเจนเข้มข้นลงในน้ำมันเชื้อเพลิง?”  ซึ่งเป็นที่น่าตกใจว่า 9 ใน 10 คน ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างถูกต้อง ผมจึงใช้ความพยายามมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งทำคลิปลงยูทูป เผยแพร่ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ค และใส่เนื้อหาเรื่องนี้ไปในทุกๆการอบรมของผม เมื่อมีโอกาสได้พูดถึง ถังอ๊อกซิเจนว่ามันมีอันตรายแค่ไหนหากเรายังไม่เข้าใจคุณสมบัติของมัน แล้วนำไปใช้อย่างผิดๆ!

          Oxygen (O2) อ่านว่า อ๊อกซิเจน มีคุณสมบัติ คือ ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี (ไม่มีสีในสภาพที่เป็นแก๊ส แต่จะมีสีน้ำทะเลอ่อนในสภาพที่เป็นของเหลว) ไม่ติดไฟ แต่ช่วยให้ไฟติด และคุณสมบัติของมันอย่างหนึ่งที่ฆ่าคนนับล้านมาแล้วทั่วโลก ก็คือ  มันเป็นตัวอ๊อกซิไดซ์ ทีรุนแรง (ทำปฏกิริยาง่ายและรุนแรงมาก) เมื่อสัมผัสกับ น้ำมันเชื้อเพลิง จาระบี น้ำมันหล่อลื่น และสารไฮโดรคาร์บอนอีกหลายตัว โดยจะทำให้เกิดการระเบิดอย่างรุนแรง และมีเปลวไฟเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังเช่นตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ่นมาแล้ว ดังต่อไปนี้

          เคสที่ 1  ช่างซ่อมเครื่องจักรคนหนึ่งในต่างประเทศ มือเปื้อนคราบน้ำมันเครื่องแล้วต้องการเปิดวาล์วถังบรรจุก๊าซอ๊อกซิเจน ซึ่งไม่ได้ตรวจชคก่อนว่ามีการรั่วซึมที่ตัวปรับแรงดัน (Regulator) และหลังจากที่เขาหมุนวาล์วที่หัวถังก็เกิดไฟลุกที่มือของเขาทันที

          เคสที่ 2 ช่างซ่อมรถสวมเสื้อที่เปื้อนคราบน้ำมัน และคราบฝุ่นสกปรก เขาต้องการเป่าไล่ฝุ่นออกจากเสื้อ แต่เขาหยิบสายที่ต่อกับก๊าซอ๊อกซิเจนอยู่เพราะเข้าใจว่ามีคุณสมบัติเช่นเดียวกับปั้มลม (อากาศอัดแรงดัน)  และเมื่อเขาเป่าก๊าซอ๊อกซิเจนใสเสื้อบนตัวเขา ไฟก็ลุกท่วมตัวเขาทันที

          เคสที่ 3 เกิดขึ้นในประเทศไทย มี 2 เคส คนละสถานที่ คนล่ะช่วงเวลา ซึ่งในการใช้เครื่องมือที่ใช้พลังงานลม เช่น สว่านลม  ปืนยิงตะปู ช่างจะต่อเข้ากับถังอากาศอัดแรงดัน (ย้ำอีกครั้งว่า ต้องเป็นถังอากาศ และในอากาศมีอ๊อกซิเจน 21%  แต่ถ้าเป็นถังอ๊อกซิเจนในการแพทย์ หรือ ที่ใช้ทางอุตสาหกรรม/ก่อสร้าง จะมีอ๊อกซิเจนเข้มข้นมากกว่า 99.3%)  และแน่นอน เมื่อใช้อ๊อกซิเจนเข้มข้น แทนการใช้อากาศอัดแรงดัน เมื่อสัมผัสกับจาระบี หรือน้ำมันหล่อลื่นที่อยู่ในเครื่องมือดังกล่าว ผลก็คือ ช่างทั้ง 2 คนได้ยินเสียงระเบิดพร้อมๆ กับมือของเขาขาด เละทันที

          เคสที่ 4  นับจำนวนไม่ถ้วน เพราะเกิดปีล่ะหลายเคส มักจะเกิดกับช่างแอร์ หรือช่างที่ต้องการทดสอบการรั่วซึมของระบบปรับอากาศ หรือ ระบบน้ำมัน ซึ่งปกติก๊าซที่อัดเข้าไปในระบบเพื่อทดสอบการรั่วซึม จะต้องเป็นก๊าซไนโตรเจน เท่านั้น! เนื่องจากเป็นก๊าซเฉื่อย ทำปฏิกิริยากับสารอื่นๆ ได้ยาก จึงเรียกได้ว่ามีความปลอดภัยสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับก๊าซชนิดอื่น  แต่มีช่างบางคนที่สะเพร่า ไม่ใส่ใจในเรื่องของความปลอดภัย หรืออาจทำไปด้วยความไม่รู้  ปล่อยก๊าซอ๊อกซิเจนเข้าไปในระบบแอร์ หรือ ระบบน้ำมัน เพื่อทดสอบการรั่วซึม และผลที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดวาล์วก็คือ การระเบิดอย่างรุนแรง พร้อมๆกับเปลวไฟลุกไหม้!

          เชื่อไหมครับว่า ช่าง 99 ใน 100คน (หรืออาจจะมากกว่านี้) เรียกถังอ๊อกซิเจนว่า ถังลม  และเรียกถังอากาศอัดแรงดันว่า ถังลม เช่นเดียวกัน ดังนั้น ทุกครั้งที่ผมได้ยินใครก็ตามบอกว่า “ไปเอาถังลมมาหน่อย” ผมจะขอให้เขาเปลี่ยนการเรียกชื่อถังก๊าซในทันที  ให้เรียกชื่อก๊าซที่อยู่ในถัง  พี่จะเอาถังอ๊อกซิเจน หรือ ถังอากาศ ดีครับ?   และขอรบกวนนิดนึงให้พี่ช่วยติดชื่อก๊าซในถังไว้ให้เห็น หรือห้อยที่ถังไว้เลย ว่า ในถังมันคือ “ก๊าซอะไร?”  จะได้เรียกชื่อมันให้ถูกต้องครับ

          ไม่ค่อยมีคนรู้ว่า “อ๊อกซิเจนเข้มข้นจะระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อผสมกับน้ำมัน”  แต่เราสังเกตุกันไหมครับว่า ทำไมตามข้อกำหนดกฏหมายห้ามเก็บถังอ๊อกซิเจนไว้ใกล้กับน้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซเชื้อเพลิง (ต้องวางห่างกันอย่างน้อย 6 เมตร หรือมีผนังคอนกรีตกั้น)  และที่เกจวัดแรงดันที่ติดอยู่ที่หัวถังอ๊อกซิเจนทุกตัวจะมีข้อความระบุไว้ว่า  “OXYGEN USE NO OIL”  (ห้ามใช้อ๊อกซิเจนร่วมกับน้ำมัน)

          และในการจัดเก็บนอกจากจะต้องวางห่างกับก๊าซ/น้ำมันเชื้อเพลิง (หรือมีผนังคอนกรีตกั้น) แล้วยังต้องวางถังในแนวตั้ง และผูกรัดด้วยโซ่เพื่อป้องกันถังล้ม และห้ามมีกิจกกรรมใดๆ ที่ทำให้เกิดเปลวไฟอยู่ใกล้ๆกับสถานที่จัดเก็บถังอ๊อกซิเจน เช่น การสูบบุหรี่  จุดธูปจุดเทียน ทำอาหาร ฯลฯ เพราะอาจทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นได้

          ในการใช้งาน ถังอ๊อกซิเจน มักจะวางในรถเข็น เพื่อสะดวกต่อการเคลื่อนย้าย โดยใช้โซ่ผูกมัดถังไว้ให้แน่น โดยมีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยที่ต้องติดตั้งก่อนการใช้งาน อย่างเช่นตัวกันไฟย้อนกลับ (Flash back arrestor)  ตัวปรับแรงดัน (Regulator) เกจวัดแรงดัน (Pressure gauge) และต้องไม่ลืมตรวจสอบการรั่วซึมของสายส่งก๊าซด้วยน้ำสบู่  ตรวจสอบสภาพถังด้วยสายตา (สนิม บุบ/บวม แตก รอยร้าว)  และ จัดเตรียมถังดับเพลิงวางไว้ใกล้ๆ หากต้องใช้ถังอ๊อกซิเจน เพื่อการเชื่อม หรือ ตัดโลหะ เพื่อให้สามารถควบคุมเพลิงได้อย่างทันทีก่อนจะลุกลามจนควบคุมไม่อยู่

          นี่แค่คุณสมบัติเด่นๆ ของอ๊อกซิเจนข้อเดียว ที่หลายคนอาจไม่ทราบ และเรียกชื่อกันผิดๆ ใช้กันผิดๆ และเสียชีวิต บาดเจ็บกันมามากพอแล้วนะครับ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์และช่วยให้เราทุกคนใช้อ๊อกซิเจนอย่างปลอดภัยมากขึ้น  ทั้งนี้ก่อนการใช้งานอ๊อกซิเจน ไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ขอให้ศึกษาอ่านคู่มือการใช้งานให้เข้าใจ ใช้งานอย่างถูกต้อง และอย่าไปดัดแปลงถังบรรจุ  อย่าต๊าบเกลียวขึ้นมาเอง และอย่าสลับการใช้งานอุปกรณ์ต่างชนิดกัน เลยครับ เพราะสาเหตุที่ผู้ผลิตออกแบบ ไม่ให้มันสามารถใช้งานร่วมกันได้ ก็เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัยนี่แหล่ะครับทุกท่าน! 

 

Visitors: 415,056