รถยนต์ระบบอัตโนมัติกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่

เผยแพร่เมื่อ 20/10/2564...,
เขียนโดย ผศ.ดร.ทศพล บุตรมี  
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร...,

 

เรื่อง รถยนต์ระบบอัตโนมัติกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่

          สวัสดีครับ ใน Ep ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เขียนถึงการใช้รถยนต์ระบบอัตโนมัติเป็นระยะเวลานานๆ สามารถส่งผลต่อระดับภาระงานด้านความคิดที่ไม่เหมาะสม ลดการตระหนักต่อสถานการณ์ และอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพ ความสามารถและทักษะของผู้ขับขี่ลดลง นอกจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว การขับรถยนต์ระบบอัตโนมัติเป็นระยะเวลานานๆ ยังส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่ได้ สำหรับใน Ep. 4 จะเขียนถึงประเด็นนี้

          การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่หรือ Behavioural Adaption(Metz, Wörle, Hanig, Schmitt, Lutz,  & Neukum, A, 2021) สามารถรวมไปถึง
                    
1. การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ (Perceptive changes) ขณะขับขี่ เช่น การมองเห็น การได้ยิน การรู้สึก
                    
2. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการประมวลความรู้ความเข้าใจ (Cognitive changes) ในการขับขี่ เช่น ความเข้าใจต่อสถานการณ์การขับขี่ การตีความ การจัดลำดับความสำคัญ การคัดเลือก การตัดสินใจ
                    
3. การเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพ (Performance changes) การขับขี่ เช่น การควบคุมรถ ความผิดพลาดในการขับขี่
                    
4. การเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้ขับ (Driver state changes) เช่น การตระหนักต่อสถานการณ์ ภาระงาน ความเครียด การตื่นตัว การง่วงนอน
                    
5. การเปลี่ยนแปลงทัศนคติการขับขี่ (Attitudinal changes) เช่น การยอมรับการขับรถด้วยความเร็ว การไม่ใส่ใจต่ออันตรายขณะขับขี่ การวางใจในระบบอัตโนมัติมากเกินไป  

          การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ขับขี่ใช้รถระบบอัตโนมัติต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานและยังขึ้นอยู่กับว่าใช้รถยนต์ระบบอัตโนมัติในระดับใด สำหรับการแบ่งระดับของรถยนต์ประเภทนี้ผู้เขียนได้กล่าวไว้ใน Ep. 1 แล้ว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังจากที่ผู้ขับขี่ใช้รถระบบอัตโนมัติขั้นสูง (Highly Automated Driving, SAE L4) เป็นระยะเวลานาน จากงานวิจัยของ Metz et al. (2021) โดยให้กลุ่มตัวอย่างลองมาทดลองขับรถในห้องจำลองการขับขี่ driving simulator ในสถานการณ์ต่างๆ ผลการวิจัยพบกว่า การขับรถยนต์ระบบอัตโนมัติ SAE L3 และ SAE L4 ทำให้พฤติกรรมการขับขี่ของกลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างมีการยอมรับและเชื่อมั่นในรถยนต์ระบบอัตโนมัติมากขึ้น ให้ความสนใจกับกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ (NDRAs) และความสนใจต่อเส้นทางที่ขับขี่ลดลง

ภาพที่ 1 ห้องจำลองการขับขี่ High-fidelity driving simulator ในงานวิจัยของ (Metz et al., 2021)

          Lin, Ma, & Zhang (2018) ศึกษาพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในผู้ที่ใช้รถระบบอัตโนมัติ ระดับอัตโนมัติบางส่วน (Partially automated vehicles) ซึ่งรถยนต์ระบบอัตโนมัติระดับนี้ได้ถูกจำหน่ายในตลาดรถยนต์แล้ว โดยผู้วิจัยได้สัมภาษณ์ผู้ที่ใช้รถยนต์ระบบ Autopilot ยี่ห้อง Teslaจำนวน 20 คน เกี่ยวกับความเข้าใจของผู้ใช้งานและพฤติกรรมการปรับตัวในการขับขี่ในช่วงเดือนแรกของการใช้งานผลการศึกษาพบว่าผู้ใช้งานมีทัศนคติเชิงบวกต่อรถยนต์ระบบนี้เป็นอย่างมากและผู้ใช้ยังสามารถทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่การขับรถระหว่างใช้งานระบบอัตโนมัติกลุ่มผู้ใช้ยังเรียนรู้จากประสบการณ์ในการจำแนกสถานการณ์ที่ปลอดภัย และหลีกเลี่ยงกับสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง

ภาพที่ 2 รถยนต์Autopilot ยี่ห้อง Tesla
(ที่มา https://www.tnnthailand.com/news/tech/87161/)

          ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นตัวอย่างงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ระบบอัตโนมัติกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นประเด็นที่ท้าทายในงานวิจัยทางด้านนี้ ถ้าผู้ใช้รถระบบอัตโนมัติอย่างไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับขี่และความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ได้

          ทั้งนี้งานวิจัยทางด้าน Human Factors of Automated Driving ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะพูดถึงใน Ep. ถัดไปครับ

 

เอกสารอ้างอิง

Lin, R., Ma, L., & Zhang, W. (2018). An interview study exploring Tesla drivers' behavioural adaptation. Applied ergonomics72, 37-47.

Metz, B., Wörle, J., Hanig, M., Schmitt, M., Lutz, A., & Neukum, A. (2021). Repeated usage of a motorway automated driving function: Automation level and behavioural adaption. Transportation Research Part F: Traffic Psychology and Behaviour81, 82-100.

 

Visitors: 419,934