Fire Protection Series EP.1

เผยแพร่เมื่อ: 27/07/2563 ....
เขียนโดย คุณคณาธิศ เกิดคล้าย
อดีตผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม

 

แผนผังโรงงาน (Plant Layout)

กับการตรวจสอบความปลอดภัย

          ถ้าเปรียบเทียบบ้านที่เราใช้อยู่อาศัยก็จะมีแบบแปลนแผนผังใช้สำหรับการก่อสร้าง มีการกั้นแยกสัดส่วนของห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องน้ำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความสะดวกสบายกับการใช้ชีวิตอยู่อาศัยภายในบ้านเป็นหลัก ส่วนในสถานประกอบกิจการ หรือโรงงานประเภทอาหารหรือยาเราก็จะพบว่ามีการกั้นแยกห้องระหว่างวัตถุดิบ เครื่องจักรกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ออกจากกันโดยมีผนังกั้น โดยมีการคำนึงถึงสุขลักษณะ ความสะอาด ปลอดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยในการบริโภคเป็นหลัก ทั้งนี้เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐาน GMP และ HACCP จึงจะสามารถขอรับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือเรียกกันทั่วไปว่า อย. ของกระทรวงสาธารณะสุขได้

          ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปก็เช่นเดียวกัน การยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือที่เรียกกันว่า รง.4ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรืออุตสาหกรรมจังหวัดนั้น ต้องมีเอกสารแบบแปลนแผนผังโรงงาน(Plant Layout)แนบเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตด้วยเหมือนกัน ทั้งนี้นอกจากจะดูกำลังแรงม้ารายการเครื่องจักรเพื่อคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแล้ว ก็ยังจะใช้เพื่อพิจารณามาตรการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักอีกด้วย แต่จากประสบการการตรวจสอบหรือการให้คำปรึกษากับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปที่ผ่านมานั้น พบว่าโรงงานขนาดเล็ก (SMEs)ถึงโรงงานขนาดกลางยังมีปัญหาด้านการวางผังโรงงานอยู่บ้างโดยยังมีการเก็บวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ส่วนการผลิตเครื่องจักรและสารเคมีปะปนกันไม่มีการกั้นแยก ซึ่งเป็นเหตุให้เมื่อเกิดอัคคีภัยจะเกิดไฟลาม(Domino Effect)ได้อย่างรวดเร็ว และการควบคุมเพลิงเป็นไปได้ยากลำบาก ดังกรณีตัวอย่างการเข้าให้คำปรึกษาเพื่อยกระดับโรงงานของโรงงานแห่งหนึ่งซึ่งเป็นโรงงานทำกล่องกระดาษลูกฟูกขนาดเล็กที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4)แล้ว เป็นลักษณะโรงงานแบบ Mini Factory ลักษณะอาคารชุดที่สร้างมาเพื่อขายหรือให้เช่าเพื่อประกอบกิจการโรงงานโรงงานนี้มีขั้นตอนกระบวนการผลิตดังนี้


          จะเห็นว่ากระบวนการผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกนั้นไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด โรงงานประเภทนี้จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้านอัคคีภัย และจากรูปถ่ายจะเห็นว่าโรงงานมีการเก็บวัตถุดิบม้วนกระดาษ เศษกระดาษ เครื่องจักรทำกระดาษลูกฟูก หม้อไอน้ำ ชุดถังก๊าซ LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของหม้อไอน้ำอยู่ในบริเวณอาคารเดียวกันทั้งหมด ไม่มีการกั้นแยกแต่อย่างใด



          การให้คำปรึกษาและยกระดับโรงงานด้านความปลอดภัย เราสามารถใช้เครื่องมือการประเมินความเสี่ยง(Risk Assessment)มาช่วยยืนยันระดับความเสี่ยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ ในที่นี่ผู้เขียนใช้เครื่องมือง่ายๆอย่าง What IF โดยเน้นการตั้งคำถาม  “จะเกิดอะไรขึ้น ...ถ้า...” ตามตารางWhat If ด้านล่างโดยเริ่มจากคอลัมน์แรก ถามโดยสมมุตเหตการณ์จะเกิดอะไรขึ้น...ถ้าไฟไหม้กองเศษกระดาษ ในคอลัมน์ที่สองผลที่ตามมานั้นเป็นผลที่ตามมาจากเหตุการณ์ในคอลัมน์แรก และต้องคิดเป็นกรณีย์ผลที่เลวร้ายสุดๆ (Worst Case Scenario) เหตุการณ์จะไปสิ้นสุดที่ไหนโดยไม่คำนึงถึงมาตรการที่มีอยู่ ในที่นี่ก็จะพบว่าไฟอาจลุกลามไปที่เครื่องจักร กองม้วนกระดาษ และชุดถังแก๊สภายในโรงงานเกิดไฟไหม้รุนแรงและอาจเกิดการระเบิดเสียหายได้ ในคอลัมน์ที่สามมาตรการที่มีอยู่จากการสำรวจและสัมภาษณ์พบว่ามีเพียงเครื่องดับเพลิงมือถือ ซึ่งมีเพียงมาตรการเดียวเท่านั้น และด้วยโรงงานประเภทนี้มีสถิติเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อยๆด้วยเนื่องจากวัตถุดิบกระดาษติดไฟง่ายและลุกลามอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการใช้ความร้อนจากหม้อน้ำในการต้มกาวเพื่อทำกระดาษลูกฟูก จึงประเมินโอกาสเกิดอัคคีภัยอยู่ในระดับ 2และเมื่อเกิดอัคคีภัยขึ้นแล้ว สถานการต่อมาการปิดMain Valve และการฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิชุดถังก๊าซLPGจะทำได้ยากเนื่องจากชุดถังก๊าซอยู่ในอาคารซึ่งจะเต็มไปด้วยกลุ่มควัน จะทำให้เกิดไฟลาม (Domino Effect) อย่างรวดเร็วและรุนแรง การดับเพลิงเป็นไปได้ยากเพราะมีเพียงแค่เครื่องดับเพลิงมือถือเท่านั้น จึงประเมินความรุนแรงอยู่ในระดับ 4เมื่อเอาค่าของโอกาสและความรุนแรงคูณกันได้ 8 นั่นคือได้ผลระดับความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องทำแผนลดความเสี่ยงเนื่องจากมาตรการที่มีอยู่น้อยเกินไป จึงให้คำแนะนำในคอลัมน์ช่องข้อเสนอแนะ โดยมีความเห็นว่าวัตถุดิบกระดาษนั้นเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีติดไฟง่ายและลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับในบริเวณเดียวกันมีชุดถังแก๊ส LPG ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหม้อไอน้ำอาจได้รับผลกระทบจากความร้อนจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ และขณะเกิดเหตุปริมาณควันที่มีมากอยู่ในอาคารจะทำให้การปิดMain Valveของชุดถังก๊าซLPG ทำได้ยากและการที่พนักงานดับเพลิงจะฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิถังก๊าซนั้นก็จะทำได้ลำบาก จึงแนะนำว่าให้ติดตั้งชุดถังก๊าซLPG ไว้นอกอาคาร จะทำให้การเข้าถึงเพื่อปิดMain Valve และการฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิถังก๊าซLPGทำได้ง่ายขึ้นควรมีการกั้นแยกส่วนเครื่องจักรหม้อน้ำ ส่วนผลิต กับส่วนเก็บวัตถุดิบผลิตภัณฑ์โดยมีกำแพงกันไฟกั้นเพื่อป้องกันไฟลามด้วยแนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคาร เนื่องจากประเภทโรงงานเกี่ยวกับกระดาษอยู่ในกลุ่มเสี่ยงด้านอัคคีภัยสูง เป็นประเภทกิจการที่มีสถิติอัคคีภัยติดอันดับต้นๆของประเทศไทย และได้แนะนำให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำดับเพลิง เพื่อสามารถป้องกันอัคคีภัยได้เองตั้งแต่แรก จะดีกว่าที่จะรอหน่วยงานราชการท้องถิ่นมาช่วยในการดับเพลิงซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางมาควบคุมเหตุ

 

ตารางการประเมินความเสี่ยงด้วยวิธี What ….If


          จากการให้คำแนะนำกับผู้ประกอบกิจการรายละเอียดในช่องข้อเสนอแนะนั้นจะมีความสอดคล้องตามกฎหมาย “การป้องกันและระงับอัคคีภัยในโรงงาน พศ.2552” ดังนี้

          ตามข้อ 19 พื้นที่ของอาคารโรงงาน ที่มีสถานที่เก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นวัตถุที่ติดไฟได้หรือสถานที่เก็บวัตถุไวไฟ ต้องกั้นแยกจากพื้นที่ส่วนอื่นของอาคารด้วยวัสดุที่มีอัตราการทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง และ

          ตามข้อ 4 อาคารโรงงานต้องจัดให้มีอุปกรณ์ตรวจจับและแจ้งเหตเพลิงไหม้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารตามความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่

          หากโรงงานมีการปรับปรุงตามการให้คำปรึกษาหรือคำแนะนำแล้ว ผลของการปรับปรุงดังกล่าวจะย้ายไปอยู่ในคอลัมน์ช่องมาตรการที่มีอยู่ เมื่อประเมินระดับความเสี่ยงใหม่หลังปรับปรุงจะพบว่า โอกาสและความรุนแรงลดลงโดยผลจากการปรับปรุงนั้นทำให้เพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยมีเพิ่มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ระดับความเสี่ยงลดลงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้.... ครับผม

Visitors: 420,860