4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับ กฎหมายการประเมินและการทำแผนจัดการความเสี่ยงอันตรายของประเทศไทย

เผยแพร่เมื่อ 13/12/2567
เขียนโดย คุณยุทธภูมิศักดิ์  บุญธิมา
           คณะกรรมการบริหารสมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.)
           
ประสบการณ์ 20 ปี ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากกว่า 10 สถานประกอบกิจการ
           และมีประสบการณ์หลากหลายด้าน เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น-ขั้นกลาง-ขั้นปลาย, อุตสาหกรรมอาหาร, โครงการก่อสร้างโรงงาน (Major Project), กฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย, Business continuity Plan (BCP), การวาระบบ PSM Implementation และตรวจ PSM Audit, ISO 9001/14001/45001, Safety culture, การประเมินความเสี่ยงอันตรายและการทำแผนบริหารความเสี่ยง (โดยใช้เทคนิคพื้นฐานและเทคนิคขั้นสูง) เป็นต้น

 

4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายการประเมินและการทำแผนจัดการความเสี่ยงอันตรายของประเทศไทย

          สวัสดีครับ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ทุกท่านคงทราบกันแล้วว่า กระทรวงแรงงานได้ประกาศกฎหมายฉบับใหม่ล่าสุด คือ “ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การประเมินอันตราย การศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมในการทำงานและการจัดทำแผนควบคุมดูแลลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ” และ “กฎกระทรวง การอนุญาตเป็นผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2567” ซึ่งทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับในปีหน้า ประมาณเดือนพฤษภาคม 2568

          สาระสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับนี้คือ “นายจ้างต้องจัดทำรายงานประเมินความเสี่ยงอันตราย และทำแผนบริหารความเสี่ยง” และต้องให้ “ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัยฯ แนะนำและลงนามรับรองในรายงานดังกล่าว” โดยสถานประกอบกิจการที่เข้าข่าย จะต้องส่งรายงานดังกล่าวให้หน่วยงานราชการภายในช่วงปลายปีหน้า ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2568 และต้องมีการทบทวนจัดส่งรายงานฯ ทุก 3 ปี

          วันนี้จึงขอนำความรู้เรื่อง 4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายการประเมินและการทำแผนจัดการความเสี่ยงอันตรายของประเทศไทย” มาฝาก เพื่อให้ทุกท่านได้ทบทวนความรู้และประยุกต์ใช้งานต่อไป   

 

4 เรื่องสำคัญที่ควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายการประเมินและการทำแผนจัดการความเสี่ยงอันตรายของประเทศไทย
          1. กฎหมายในประเทศไทยเกี่ยวกับ “การประเมินความเสี่ยงอันตราย และการบริหารความเสี่ยง” มีอยู่หลายฉบับ และมีจากหลายกระทรวง และที่สำคัญคือ กฎหมายทุกฉบับมีบทลงโทษ ยกตัวอย่างเช่น

 

 

          2. “การประเมินและการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง” ตามกฎหมายทุกฉบับ มีวิธีการดำเนินการ ด้วยหลักการพื้นฐานเหมือนกัน (รายละเอียดความเข้มข้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละกระทรวง) แบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้
               2.1 
ชี้บ่งอันตราย
                   
การชี้บ่งอันตราย คือ การค้นหา ระบุ หรือชี้บ่งว่า “ในสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือ ในกระบวนการผลิต หรือ ในการดำเนินงาน” ของเรามีอะไรบ้างที่เป็น “สิ่งอันตรายหรือสิ่งคุกคาม” ทั้ง “ต่อสุขภาพ ต่อความปลอดภัยส่วนบุคคล ต่อความปลอดภัยกระบวนการผลิต” โดยนอกจากการ “ระบุสิ่งอันตรายแล้ว” จะต้องระบุถึง “เหตุการณ์อันตราย และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น” ด้วย

               2.2 วิเคราะห์อันตราย
                   การวิเคราะห์อันตราย คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นไปได้ของเหตุการณ์อันตราย ซึ่งการวิเคราะห์อันตรายนั้น มีตั้งแต่การใช้เทคนิคขั้นพื้นฐาน เช่น What if, Checklist ฯลฯ และการใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น HAZOP, FTA, FMEA, ETA ฯลฯ

               2.3 ประเมินความเสี่ยง
                   
การประเมินความเสี่ยง หรือการประเมินอันตราย คือ การประเมินระดับโอกาสและระดับความรุนแรง โดยผลลัพท์ของการประเมินความเสี่ยงคือ ระดับความเสี่ยง หรือระดับอันตราย ซึ่งการประเมินความเสี่ยงนั้นมีทั้งแบบ Qualitative Risk Assessment, Semi-Quantitative Risk Assessment, Quantitative Risk Assessment

               2.4 ทำแผนบริหารความเสี่ยง
                   
แผนบริหารความเสี่ยง แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1. แผนลดความเสี่ยง และ 2. แผนควบคุมความเสี่ยง  โดยมีหลักการในการกำหนดแผนบริหารความเสี่ยงแบบง่ายๆ คือ “ถ้าความเสี่ยงอยู่ในระดับสูง ต้องทำแผนลดความเสี่ยง และเมื่อลดความเสี่ยงลดมาได้แล้ว จะต้องมีแผนควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง” และ “ถ้าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้แล้ว ไม่ต้องมีแผนลดความเสี่ยง แต่ต้องมีแผนควบคุมความเสี่ยง เพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง”   

          3. การทำแผนบริหารความเสี่ยง (แผนลดและควบคุมความเสี่ยง) ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย โดยเฉพาะในการลดความเสี่ยงจะใช้หลักการ ลำดับชั้นของการควบคุมอันตราย (hierarchy of controls)” ดังนี้
               1) การขจัดอันตราย (Elimination)
               
2) การทดแทน (Substitution)
               
3) การควบคุมทางวิศวกรรม (Engineering control)
               
4) การควบคุมเชิงบริหารจัดการ (Administrative control)
               
5) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (PPE)

          และสำหรับแผนควบคุมความเสี่ยงนั้น เป็นการควบคุมและตรจสอบการดำเนินงานเพื่อรักษาให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ตลอดเวลา อย่างน้อยต้องประกอบด้วย “มาตรการหรือกิจกรรมหรือการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง, ผู้รับผิดชอบ, หัวข้อเรื่องที่ควบคุม, เกณฑ์หรือค่ามาตรฐานที่ใช้ควบคุม และผู้ตรวจสอบติดตาม”

          4. ผู้ดำเนินการ ผู้ให้คำแนะนำ และผู้ลงนามใน “รายงานประเมินความเสี่ยงอันตรายและแผนบริหารความเสี่ยง” จะต้องมีคุณสมบัติเป็นตามที่กฎหมายกำหนด และกฎหมายมีบทลงโทษหากคุณสมบัติไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใดทำการรับรองรายงานรายงานประเมินความเสี่ยงอันตราย และทำแผนบริหารความเสี่ยง ตามกระทรวงแรงงาน เรื่อง การประเมินอันตรายฯ โดยยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ชำนาญการด้านความปลอดภัยฯ” มีบทลงโทษคือ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200.000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

          ในเร็วๆนี้ สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) จะมีหลักสูตรอบรมเรื่อง “การประเมินความเสี่ยงอันตรายและการทำแผนบริหารความเสี่ยง (ทั้งการประเมินด้วยเทคนิคพื้นฐานและเทคนิคขั้นสูง)” ทั้งแบบ Online และ Onsite โดยผู้ที่สนใจสามารติดตามข่าวสาร และลงทะเบียนเข้ารับการจัดอบรมฯ ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่างๆ ของสมาคม ส.อ.ป. ได้นะครับ

หมายเหตุ:
- ตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน คำว่า “สภาพแวดล้อมในการทำงาน” หมายความว่า สภาพแวดล้อมซึ่งปรากฎอยู่ในบริเวณที่ทำงานของลูกจ้าง ซึ่งรวมถึงสภาพต่างๆ ในบริเวณที่ทำงาน เครื่องจักร อาคาร สถานที่ การระบายอากาศ สารอันตราย ความร้อน แสงสว่าง เสียง รังสี ไฟฟ้า อับอากาศ ตลอดจนสภาพและลักษณะการทำงานอย่างอื่นของลูกจ้างด้วย

- ตามกฎหมายของกรมโรงงานอุตสาหกรรม คำว่า “การดำเนินงาน” หมายความว่า การออกแบบ กระบวนการผลิต การรับจ่าย การเก็บ การขนถ่ายหรือขนย้าย การใช้ การขนส่ง วัตถุดิบ เชื้อเพลิง สารเคมี หรือวัตถุอันตราย ผลิตภัณฑ์และวัตถุพลอยได้ วิธีการปฏิบัติงาน เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต และกิจกรรมหรือสภาพการณ์ต่างๆ ภายในโรงงาน เป็นต้น

- ตามกฎหมายของ กนอ. เรื่อง Process Safety Management (PSM) คำว่า “กระบวนการผลิต” หมายความว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายร้ายแรง รวมถึง การจัดเก็บ การใช้ การผลิต การครอบครอง หรือเคลื่อนย้ายสารเคมีใดๆ ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรม

Visitors: 422,196