รถบัสโดยสารไฟไหม้ ปัญหานี้...แก้ที่ตัวเองก่อน

เผยแพร่เมื่อ 10/10/2567
เขียนโดย คุณวีริศ จิรไชยภาส
           OH&S Manager SCG-SL

 

รถบัสโดยสารไฟไหม้ ปัญหานี้...แก้ที่ตัวเองก่อน

          ไม่อยากให้พวกเรามองว่าเรื่องนี้ เป็นไฟไหม้ฟาง วัวหายล้อมคอก แต่อยากให้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อลดและแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าเราจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม จะเป็น จป.วิชาชีพ การบุคคล ฝ่ายจัดหา หรือแม้กระทั่งเป็นผู้โดยสารธรรมดา เราก็มีสิทธิที่จะเลือกและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถบัสทุกครั้ง

          ขออนุญาตนำมาตรฐานของ เอสซีจี มีเผยแพร่ เพื่อเป็นวิทยาทานและเป็นแนวทางให้แต่ละบริษัท ลองนำไปปรับใช้และพิจารณา เพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้น เกิดจากความหละหลวมจากหลายฝ่าย ผู้ประกอบการขนส่งที่ละเลยมาตรฐานความปลอดภัย อู่ที่ประกอบถังแก็สเกินมาตรฐานที่เหมาะสม ราชการปล่อยปล่ะเรื่องการตรวจสอบ หรือแม้กระทั่งตัวเรา ที่เพิกเฉยหรือละเลยที่จะดูแลป้องกันอุบัติเหตุเช่นนี้

          ขอบอกตามตรงว่า ในขณะที่ SCG กำลังจัดทำมาตรฐานฉบับนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องของอายุรถและอายุของโครงคัสซี แต่เราหาข้อมูลได้ค่อนข้างยากมาก โดยเฉพาะการกำหนดอายุรถโดยสาร ซึ่งเท่าที่เราทราบ สมุดจดทะเบียนประจำรถนั้น เป็นตัวบอกอายุของรถได้ก็จริง แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องซะทีเดียว  ผมเชื่อว่ารถโดยสารในประเทศเรา มากกว่าร้อยละ 70 เป็นรถโดยสารที่ดัดแปลง และประกอบโดยอู่หรือช่างภายในประเทศ โดยผู้ประกอบการจะซื้อโครงคัสซีเก่าจากในและต่างประเทศเข้ามาใช้ ซื้อเครื่องยนต์เก่าบ้างใหม่บ้างมาประกอบ ขึ้นตัวโครงใหม่ ดัดแปลง แต่งเติมจนหาอายุที่แก้จริงได้ยาก และไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าจะดูจากการจดทะเบียนหรือดูจากอายุโครงคัสซี เพราะรถโดยสารใหม่ที่นำเข้ามาทั้งคันนั้น หาได้ค่อนข้างยาก และราคาก็สูงมากไปด้วย  

          ดังนั้น ในการพิจารณาถึงอายุโครงคัสซีรถที่ผ่านมา จึงแก้ปัญหาโดยใช้การจดทะเบียนและตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกเป็นตัวอ้างอิงเท่านั้น จนมาในวันนี้เอง ถึงได้พบว่า มีมติกรรมการการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ต่อนายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย เกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานการให้บริการสำหรับรถที่จะนำมาบรรจุเพิ่มใหม่ โดยกำหนดว่า

  • เส้นทางที่มีระยะทางเกิน 500 กิโลเมตร รถที่จะนำมาบรรจุเพิ่มตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติจะต้องเป็นรถใหม่ หรือรถประกอบขึ้นใหม่เท่านั้น
  • เส้นทางที่มีระยะทางเกิน 300 กิโลเมตร แต่ไม่เกิน 500 กิโลเมตร รถที่จะนำมาบรรจุเพิ่มตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติจะต้องเป็นรถใหม่ หรือรถประกอบขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยนตัวถังใหม่ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี และอายุของโครงคัสซีไม่เกิน 15 ปี
  • เส้นทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร รถที่จะนำมาบรรจุเพิ่มตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุมัติจะต้องเป็นรถใหม่ หรือรถประกอบขึ้นใหม่ หรือเปลี่ยน หรือประกอบตัวถังใหม่ ที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 7 ปี และอายุของโครงคัสซีไม่เกิน 30 ปี

ซึ่งในอนาคตทาง SCG จะได้นำแนวปฏิบัตินี้มาปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องต่อไป

          สำหรับมาตรฐานการปฏิบัติสำหรับรถบัสที่ใช้งานเพื่อกิจการของบริษัทหรือ SCG นั้น กำหนดขึ้นใช้สำหรับรถบัสโดยสารเช่านอก โดยการว่าจ้างชั่วคราวและการว่าจ้างประจำนั้น ได้ประกาศตั้งแต่ปี 2562 และมีการทบทวนปรับปรุงอีกครั้ง ในเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้แบ่งหัวข้อการพิจารณาดำเนินการ ออกเป็น 3 ข้อกำหนด ได้แก่ ข้อกำหนดของคนขับรถบัส ตัวรถบัส และการบริหารจัดการรถบัส และมีข้อกำหนดพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญคือ ไม่อนุญาตให้ใช้รถบัสโดยสาร หรือรถตู้บริการที่ใช้ LPG หรือ NGV เป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องของแก็สรั่วไหล และอันตรายจากเพลิงไหม้ซึ่งจะเกิดความรุนแรงอย่างมากในกรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งจะมีการลามไฟได้อย่างรวดเร็ว  หรืออาจกล่าวได้ว่า รถที่ใช้เพื่อการโดยสารทั้งหมด จะไม่มีการใช้เชื้อเพลิง LPG &NGV เลย อนุญาตเฉพาะรถบรรทุกสินค้าและรถงานเท่านั้น 

          สำหรับมาตรฐานรถบัสโดยสารนั้น มีรายละเอียดของการดำเนินการในแต่ละข้อกำหนด ดังนี้
          1. 
ข้อกำหนดของพนักงานขับรถบัส
                    
1.1 ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถถูกต้องตามชนิดและประเภทของรถที่ตนเองขับ และต้องมีใบอนุญาตขับรถอยู่กับตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ ไว้แสดงต่อนายทะเบียนหรือผู้ตรวจการเมื่อขอตรวจ
                    
1.2 ผู้ขับรถต้องมีอายุ 25-60 ปี หากเกิน 60 ปี ให้มีผลการตรวจสุขภาพ จากแพทย์เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการขับรถตามภาคผนวก 2 โดยให้มีการยื่นผลตรวจสุขภาพ เพื่อต่ออายุการทำงานปีต่อปี และขออนุมัติผู้บริหารสูงสุดของพื้นที่โรงงานนั้น
                    
1.3 วุฒิการศึกษาขั้นต่ำ ป.6 ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
                    
1.4 มีประสบการณ์การขับรถ มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ปี โดยพิจารณาจากใบอนุญาตขับรถ
                    
1.5 ผ่านการตรวจสุขภาพและการประเมินความพร้อมในการปฏิบัติงาน โดยอ้างอิงรายการตรวจตามหลักเกณฑ์การตรวจสุขภาพเพื่อออกใบรับรองแพทย์สาหรับผู้ขอรับและต่ออายุใบอนุญาตขับรถ กรมการขับขี่ทางบก จานวน 10 โรค (โรคเรื้อน พิษสุราเรื้อรัง ผ่านัดสมอง โรคจิตประสาท ลมชัก เป็นต้น) และการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคประจาตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ และโรคติดต่อที่น่ารังเกียจ (ระดับน้ำตาล ไขมัน การทำงานตับ ไต สารเสพติด เป็นต้น) และให้แพทย์ทำการประเมินความพร้อมในการปฏิบัติงานสาหรับงานขับรถ โดยต้องไม่เป็นโรคโรคหัวใจและหลอดเลือด ไม่มีปัญหาการมองเห็นและได้ยิน ไม่เป็นโรคพาร์กินสัน โรคประสาทและสมอง โรคกระดูกและกล้ามเนื้อ โรคความดันโลหิตสูง และไม่กินยากดประสาท ง่วงซึม
                    
1.6 ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม โดยผู้สมัครให้ข้อมูลเบื้องต้นด้วยตนเองในตอนสมัครงาน และผู้ว่าจ้างทำการตรวจสอบภายหลัง และไม่ถูกห้ามจากการเป็นพนักงานขับรถจากบริษัทใน SCG
                    
1.7 ผ่านการอบรม ตามมาตรฐานความปลอดภัยการใช้รถยนต์ในกิจการของบริษัท ดังนี้
                         
1.7.1 มาตรฐานความปลอดภัยในการใช้ยานพาหนะทางถนนเพื่อกิจการของบริษัท (Road Safety Standard), กฎพิทักษ์ชีวิต (LSRs), นโยบายการขับขี่ (Driving Policy) ข้อกำหนดความปลอดภัยเบื้องต้น ในการขับขี่ของแต่ละพื้นที่ ทบทวนทุก 2 ปี
                         
1.7.2 การขับขี่เชิงป้องกัน (Defensive Driving) และทบทวนทุก 2 ปี
                         
1.7.3 ผ่านการประเมินความสามารถและทัศนคติด้านการขับรถ ตามภาคผนวก 5
                               
หมายเหตุ กรณีการว่าจ้างชั่วคราว ต้องเป็นรถที่อยู่ใน Approved Vendor list  และต้องมีการอบรมเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการขับขี่ กฎพิทักษ์ชีวิต กฎความปลอดภัยทั่วไป นโยบายการขับขี่ และลงนามรับทราบ
                    
1.8 ในเส้นทางที่มีระยะทางเกิน 400 กม. ต่อเที่ยวการเดินทาง ต้องมีพนักงานขับรถ 2 คน เพื่อเปลี่ยนกันขับ ระหว่างที่พนักงานขับรถคนแรกขับขี่ พนักงานขับรถคนที่ 2 ต้องนอนพักผ่อนตามที่กฎหมายกำหนด โดยให้เลือกใช้รถบัสที่มีที่พักผ่อนสำหรับพนักงานขับรถ หากไม่มีที่พักผ่อนสำหรับพนักงานขับรถ ให้ขออนุมัติจากผู้จัดการระดับส่วนขึ้นไป โดยผู้ขับขี่ต้องมีเวลาพักติดต่อกันวันหนึ่งไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากที่ทำหน้าที่ขับรถยนต์มาแล้วไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยอาจให้มีเวลาพักครั้งหนึ่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมงก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาที และเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง และห้ามมิให้พนักงานขับรถเริ่มต้นทำงานในวันทำงานถัดไปก่อนครบระยะเวลา 10 ชั่วโมง หลังจากสิ้นสุดการทำงานในวันทำงานที่ล่วงมาแล้ว (*อ้างอิงกฎกระทรวงฉบับที่ 12 ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541)
                    
1.9 สุ่มตรวจแอลกอฮอล์ และสารเสพติด ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่/บริษัท โดยต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 0% และไม่พบสารเสพติด
                    
1.10 ผู้ขับขี่และผู้ประจำรถแต่งกายสุภาพเรียบร้อย สวมรองเท้าหุ้มส้น

          2. ข้อกำหนดของรถบัส
                    
2.1 โครงสร้างและอุปกรณ์ในรถ                    
                         
2.1.1 เป็นรถชั้นเดียว ให้มีการทดสอบการทรงตัวตามที่กฎหมายกำหนด โดยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารที่มีความสูงตั้งแต่ 3.60 เมตรขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวไม่ต่ำกว่า 30 องศา โครงสร้างได้รับการป้องกันสนิมอย่างดี (ประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่อง กำหนดเกณฑ์การทรงตัวของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 20 เมษายน 2555)
                         
2.1.2 ยางสำหรับรถบัสโดยสารให้ใช้ยางที่ผลิตใหม่เท่านั้น โดยห้ามใช้ยางหล่อดอก ยางทุกเส้นต้องมีสภาพปลอดภัย ไม่มีรอยฉีกขาด และความลึกของร่องดอกยางตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตกำหนดให้ใช้ได้
                         
2.1.3 กระจกด้านหน้า ด้านข้างและด้านท้าย เป็นกระจกมาตรฐานนิรภัย 2 ชั้น กระจกมองข้างแบบรุ่นใหม่ทั้งสองข้างและต้องประกอบขึ้นจากกระจกอย่างน้อย 2 ชิ้น
                         
2.1.4 มีพื้นที่เก็บของใต้ห้องโดยสารและมีบานปิดและเปิดที่ปลอดภัย
                         
2.1.5 ภายในห้องโดยสารต้องมีความสูงภายในตามกรมการขนส่งทางบกกำหนด หรือให้ความเห็นชอบ โดยมีการบุหรือกรุผนังด้วยแผ่น PU น้ำหนักเบา หุ้มด้วย PVC มีลวดลาย ตกแต่งภายในตามมาตรฐานของผู้ผลิต มีฉนวนไม่ลามไฟและไม่ก่อให้เกิดควันพิษเมื่อได้รับความร้อน สามารถกันเสียงรบกวนและความร้อนจากพื้น ผนังและเพดานหลังคารถ
                         
2.1.6 พื้นรถภายในห้องโดยสารเป็นวัสดุความหนาแน่นสูง ชนิดเรียบกันลื่น และมีความหนาไม่น้อยกว่า 12 มิลลิเมตร กรณีที่ต้องเป็นทางลาด หรือต่างระดับจะต้องออกแบบให้มีความปลอดภัยในการเคลื่อนไหวของผู้โดยสารและตามข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก
                         
2.1.7 รูปแบบการจัดวางที่นั่งโดยสารและระยะห่างระหว่างที่นั่ง ให้เป็นไปตามกรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ
                         
2.1.8 เบาะที่นั่งแบบยึดติดกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์หรือถอดเข้าออก เพื่อเพิ่มปริมาณที่นั่งจนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย
                         
2.1.9 มือจับหน้าหลัง กันตกหน้าและท้าย ผลิตด้วยเหล็กอัดลาย กันลื่น ให้ความกระชับปลอดภัยในการจับขึ้นลง
                         
2.1.10 ประตูฉุกเฉินอยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ตามประกาศกรมการขนส่งทางบกเรื่อง ประตูทางขึ้นลงและประตูฉุกเฉินสําหรับรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร พ.ศ. 2557 และมีป้ายอธิบายการใช้งาน

                    2.2 ระบบเบรคและระบบไฟฟ้า
                         
2.2.1 พวงมาลัยบังคับเลี้ยวอยู่ด้านขวาและมีระบบช่วยผ่อนแรง
                         
2.2.2 ระบบเบรคแบบลมช่วยดันและแยกระบบล้อหน้าและหลัง
                         
2.2.3 ประตูขึ้นและลงของผู้โดยสารมีระบบป้องกันประตูหนีบ
                         
2.2.4 ระบบกันสะเทือนเป็นแบบถุงลมและโช๊คอัพ หรือแบบแหนบรับแรงและโช๊คอัพ
                         
2.2.5 ออกแบบระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัยและ มีตัวกำเนิดไฟฟ้าที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอต่อการใช้งาน พร้อมทั้งระบบป้องกันไฟเกินกำลังและไฟต่ำเกินกว่าจะใช้งานเพื่อป้องกันอุปกรณ์ไฟฟ้าของรถเสียหาย
                         
2.2.6 ติดตั้งไฟแสงสว่างบริเวณพื้นที่เพดานรถโดยให้มีจำนวนและความสว่างที่เพียงพอต่อการใช้งาน
                         
2.2.7 ติดตั้งโคมไฟแสงสว่างและโคมไฟสัญญาณต่างๆ ครบถ้วนตามตำแหน่งและมีจำนวนที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด
                         
2.2.8 ติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงหรือแผ่นสะท้อนแสง ที่สามารถสังเกตเห็นในเวลากลางคืนได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร โดยแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ด้านท้ายรถ ให้ติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงสีแดง ส่วนด้านข้างรถทั้งสองข้าง ให้ใช้อุปกรณ์สะท้อนแสงสีเหลืองอำพัน
                         
2.2.9 มีชุดแผงฟิวส์รถเป็นแผงมาตรฐาน ใช้ฟิวส์เสียบ

                    2.3 เข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ที่สามารถดึงกลับอัตโนมัติทุกที่นั่ง และมีป้ายติดแนะนำคาดเข็มขัดนิรภัยในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจนในตัวรถ

                    2.4 อายุการใช้งานรถไม่เกิน 10 ปี และตัวรถต้องผ่านการตรวจสภาพรถตามกฎหมาย

                    2.5 ประกันภัยภาคบังคับ ตามกฎหมาย

                    2.6 อุปกรณ์ฉุกเฉินประจำรถ
                         
2.6.1 ถังดับเพลิงขนาดขั้นต่ำ 10 ปอนด์  อย่างน้อย 3 ถัง (6A 20B)
                         
2.6.2 ค้อนทุบกระจก อย่างน้อย 4 อัน
                         
2.6.3 ที่ตัดสายเข็มขัดนิรภัย อย่างน้อย 4 อัน
                         
2.6.4 ไฟฉาย
                         
2.6.5 สามเหลี่ยม หรือกรวยสะท้อนแสงอย่างน้อย 2 ชิ้น
                         
2.6.6 ชุดปฐมพยาบาล อ้างอิง Road Safety Standard (ฉบับปรับปรุงล่าสุด) โดยให้ติดตั้งอุปกรณ์ฉุกเฉินในจุดที่เข้าถึงได้สะดวกและพร้อมใช้งาน
                         
2.6.7 หมายเหตุ รถโดยสารพัดลม ไม่ต้องมีค้อนทุบกระจก

                    2.7 ระบบการบันทึกข้อมูลการใช้รถ
                         
2.7.1 ติดตั้ง GPS และเชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก
                         
2.7.2 ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณเสียง หรือแสงเพื่อแสดงหรือเตือนเมื่อใช้ความเร็วเกินกำหนด

                    2.8 กล้อง ติดตั้งกล้องคุณภาพสูงและใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อบันทึกภาพขณะใช้รถ จำนวน 3 จุด พร้อมอุปกรณ์เก็บบันทึกข้อมูล โดยติดที่ ด้านหน้ารถ จำนวน 1 จุด ภายในห้องคนขับ  1 จุด เพื่อบันทึกภาพพนักงานขับรถ จำนวน 1 จุด และภายในห้องโดยสาร อีกอย่างน้อย 1 จุดเพื่อความปลอดภัยของผุ้โดยสาร 
                    หมายเหตุ รถที่ว่าจ้างชั่วคราวต้องมีกล้อง อย่างน้อย 1 จุด ให้บันทึกภาพด้านหน้ารถ

          3. ระบบการบริหารจัดการรถบัส
                    3.1 รถที่นำมาใช้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านการตรวจสภาพรถและชำระภาษีถูกต้อง มีรายงานการตรวจสภาพรถครั้งล่าสุด ไม่เกิน 6 เดือน
                    
3.2 ต้องมีสมุดจดบันทึกประจำรถ ประวัติผู้ขับประจำรถ ติดไว้ในรถ
                    
3.3 ต้องศึกษาเส้นทางและวางแผนการเดินทาง ในกรณีเส้นทางเดินรถใหม่
                    
3.4 กรณีที่พนักงานขับรถมีสภาพร่างกายไม่พร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ไม่สามารถขับได้อย่างปลอดภัยให้เปลี่ยนตัวพนักงานขับรถที่ได้รับอนุญาตขับแทน
                    
3.5 ก่อนเคลื่อนรถ ให้พนักงานขับรถเป็นผู้ร่วมตรวจสอบเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสาร และจะไม่เคลื่อนรถ ถ้าผู้โดยสารยังคาดเข็มขัดนิรภัยไม่เรียบร้อย
                    
3.6 จำนวนผู้โดยสาร/ น้ำหนักบรรทุก ต้องไม่บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าจำนวน ตามที่กฎหมายกำหนด
                    
3.7 ต้องปฏิบัติตามกฎพิทักษ์ชีวิต (LSRs), นโยบายการขับขี่ (Driving Policy) และกฎความปลอดภัยทั่วไป ของแต่ละพื้นที่อย่างเคร่งครัด ดังนี้
                         
3.7.1 ไม่ดื่มเครื่องดิ่มที่มีแอลกอฮอล์ สารเสพติด และยาอื่นใด ที่ทำให้ความสามารถในการขับขี่อย่างปลอดภัยลดลง
                         
3.7.2 คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง และแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารคาดนิรภัยก่อนเคลื่อนรถ
                         
3.7.3 ไม่ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือขับขี่รถยนต์ โดยไม่ใช้อุปกรณ์สริมช่วย
                         
3.7.4 ไม่ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร
                         
3.7.5 ไม่ขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
                         
3.7.6 ไม่แซงรถอื่นในที่คับขัน
                         
3.7.7 ไม่ขับรถย้อนศร

          และนอกจากนี้ ตามหลังวันที่ 1 มกราคม 2568 นี้ผู้ประกอบการรถบัสโดยสาร ที่มีรถบัสโดยสาร ตั้งแต่ 1 คันขึ้นไป จะต้องจัดให้มี Transportation Safety Manager อย่างน้อย 1 คนที่จะมาทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยในการจัดการขนส่งให้กับผู้โดยสาร จึงต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม ทดสอบ และประเมินผลจากหลักสูตร ขั้นตอนการถ่ายทอดความรู้ การทดสอบ และการประเมินผลที่มีมาตรฐาน ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการหน้าที่ทั้ง 5 ด้าน พร้อมขึ้นทะเบียนผู้จัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง เพื่อนำไปสู่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุมาจากการขาดการตรวจสอบด้านความปลอดภัยในการขนส่งอย่างยั่งยืน

          ลองนำมาตรฐานข้างต้องไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรนะครับ ผมเชื่อมั่นว่า เราจะสามารถลดอุบัติเหตุและลดความสูญเสีย จากการเดินทางของพนักงานไดล้งอย่างมากครับ

อ้างอิงจาก : มาตรฐาน SD-01-07-R01 มาตรฐานความปลอดภัยของการใช้ยานพาหนะทางถนน ในกิจการของบริษัท (Road Safety Standard) ฉบับ มีนาคม 2564SCG

Visitors: 409,214