องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ ตอนที่ 1

เผยแพร่เมื่อ 28/2/2567
เขียนโดย อาจารย์ ดร.ปาจรีย์ กุณฑลบุตร
           ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยมหิดล

 

องค์ประกอบของระบบเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมและสุขภาพ ตอนที่ 1

          เป้าหมายของงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยคือ การที่พนักงานไม่เกิดการบาดเจ็บและการเกิดโรคจากการทำงาน หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน พนักงานจะเกิดโรคจากการทำงาน หรือการเจ็บป่วยจากการทำงาน ก็คือการสัมผัสสิ่งคุกคาม ในสภาพแวดล้อมการทำงาน ได้แก่ สิ่งคุกคามทางกายภาพ (Physical Hazard) สิ่งคุกคามทางชีวภาพ (Biological Hazard) สิ่งคุกคามทางเคมี (Chemical Hazard) สิ่งคุกคามทางการยศาสตร์ (Ergonomic Hazard) สิ่งคุกคามทางจิตสังคม (Psychosocial Hazard) และอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดโรคได้เร็ว หรือรุนแรงขึ้น คือ ปัจจัยส่วนตัวของคนงาน สุขภาพส่วนตัวของคนทำงาน (Host) เช่น โรคประจำตัว พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัว อาหาร ยา การดื่มสุรา สูบบุหรี่ สุขภาพจิตและอารมณ์ส่วนบุคคลของคนที่ทำงาน เป็นต้น การป้องกันไม่ให้พนักงานเจ็บป่วยจากการทำงาน ต้องมีการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อม หรือการรับสัมผัส ให้คนงานไม่มีการรับสัมผัสเลย หรือรับสัมผัสในระดับปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายต่ำกว่าค่ามาตรฐานนั้นเอง และอีกมาตรการหนึ่งคือ การเฝ้าระวังสุขภาพ คือการหาผลกระทบต่อสุขภาพจากการสัมผัสสิ่งคุกคามในการทำงานโดยเร็วที่สุด (คือตั้งแต่ระยะแรกๆ) เพื่อจะได้ป้องกันได้ทันที ซึ่งเป็นรูปแบบของการป้องกันแบบทุติยภูมิ (secondary prevention) ผลจากการเฝ้าระวังยังใช้ในการบ่งชี้ว่ามีสิ่งคุกคามที่สำคัญที่ยังหาไม่พบความเหมาะสมของมาตรการควบคุม

ภาพที่ 1.1 การสัมผัสสิ่งคุกคามในสภาพแวดล้อมการทำงาน
ที่มา: สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค

 

          1.1 การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงาน
            
การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงาน ประกอบไปด้วยกิจกรรมการสำรวจทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม และการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการทำงานสัมผัสสารเคมี เป็นกระบวนการในการประเมินโอกาสระดับการสัมผัสสิ่งคุกคาม หรืออันตรายในการทำงานที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพต่อพนักงาน ซึ่งผลของการเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม สามารถนำสู่ไปการควบคุม หรือลดการสัมผัสสิ่งคุกคามของพนักงาน เพื่อนำไปสู่การลดโอกาสในการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และโรคจากการทำงานได้ การเฝ้าระวังสิ่งคุกคาม เป็นการป้องกันการเกิดความผิดปกติ หรือโรคที่เกิดจากการทำงาน หรือเกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เนื่องจากโรคจากการทำงาน มักมีระยะเวลาในการก่อโรคที่ยาวนาน การป้องกันโดยการลดการสัมผัสสิ่งคุกคาม จึงสามารถป้องกันโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก โดยต้องมีการเฝ้าระวังสภาพแวดล้อม หรือการรับสัมผัส ให้คนงานไม่มีการรับสัมผัสเลย หรือรับสัมผัสในระดับปริมาณที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย ต่ำกว่าค่ามาตรฐานนั้นเอง นอกจากนี้ กิจกรรมในการระบุการสัมผัสสิ่งคุกคามในการทำงานสามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าการค้นหาโรค หรือความผิดปกติทางสุขภาพ ที่มักมีปัจจัยในการก่อโรคหลายปัจจัยทำให้ยากต่อการระบุความผิดปกติมากกว่า
             
การเฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นกระบวนการในการบ่งชี้การสัมผัสสิ่งคุกคามของลูกจ้าง โดยพนักงานอาจสัมผัสสิ่งคุกคามทางสุขภาพผ่านทางการหายใจ ทางผิวหนัง หรือทางปากก็ได้ ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังสิ่งคุกคามนี้สามารถบ่งบอกได้ว่ามาตรการควบคุมความเสี่ยงเพื่อลดการสัมผัสสิ่งคุกคาม ที่ดำเนินการอยู่นั้นมีประสิทธิภาพเพียงพอหรือไม่ และนำข้อมูลที่มีไปปรับปรุงมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงให้เหมาะสมต่อไป การเฝ้าระวังสิ่งคุกคามทำได้หลายวิธี เช่น การตรวจวัดความเข้มข้นของสารเคมี ในบรรยากาศสถานที่ทำงาน การตรวจวัดสารเคมีในตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อประเมินการับสัมผัสสารเคมี เป็นต้น
             
การสำรวจด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมในโรงงาน เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เข้าใจพื้นฐานของปัจจัยอันตรายในแต่ละกระบวนการผลิตหรือพื้นที่ในโรงงานทั้งยังเป็นการประเมินเบื้องต้นเพื่อให้ทราบระดับความเป็นอันตราย และเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนการดำเนินงานตามโปรแกรมทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรมขั้นต่อ ๆ ไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
             
มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อให้นายจ้างมีข้อมูลที่เพียงพอให้สามารถตัดสินใจ เกี่ยวกับมาตรการการควบคุม ป้องกันอันตรายจากสิ่งคุกคามต่อสุขภาพจากการทำงาน ในการดำเนินกิจกรรมการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากการทำงานสัมผัสสารเคมี ควรมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้แก่ สารเคมีที่ใช้ในการทำงาน ความเป็นอันตรายและผลกระทบต่อสุขภาพของสารเคมี การรับสัมผัสสารเคมีของลูกจ้าง รวมถึงระดับการสัมผัส ช่องทาง การสัมผัส และระยะเวลาการสัมผัส กลุ่มลูกจ้างผู้สัมผัสผลการประเมินติดตามมาตรการการควบคุมป้องกันความเสี่ยงที่ผ่านมา ข้อมูลผลการเฝ้าระวังสุขภาพที่ผ่านมา และข้อมูลอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
             
การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพนี้ควรมีการทบทวนหรือประเมินความเสี่ยงซ้ำ หากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานที่อาจพบว่าผลการประเมินที่ผ่านมาไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น หลังจากได้ผลการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพแล้ว นายจ้างควรจัดให้มีมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงและลดการสัมผัสสิ่งคุกคามทางสุขภาพของลูกจ้างให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของลูกจ้าง โดยมาตรการการควบคุมความเสี่ยงนั้น ควรควบคุมอันตรายตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบโดยการใช้สารที่อันตรายน้อยกว่าทดแทน การแยกกระบวนการที่อันตรายออกไปหรือใช้การระบายอากาศ เป็นการควบคุมมลพิษที่แหล่งกำเนิด การควบคุมทางด้านการบริหารจัดการ เช่น การควบคุมการได้รับสารของคนงานโดยการลดช่วงเวลาการทำงานในบริเวณที่มีสารมลพิษ ให้ใช้ขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ดีและการฝึกอบรม การตระหนักถึงอันตรายและการฝึกปฏิบัติงานที่จำเพาะกับงานจะช่วยลดการได้รับสัมผัสสารของคนงาน และการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

          1.2 การเฝ้าระวังสุขภาพ
              
การเฝ้าระวังสุขภาพ หมายความถึง การติดตาม สังเกต พินิจพิจารณา ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการเกิดการกระจายของโรคของผู้ประกอบอาชีพที่สัมผัสสารเคมีรวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ อย่างต่อเนื่องด้วยกระบวนการที่เป็นระบบประกอบด้วยการรวบรวม เรียบเรียง วิเคราะห์แปลผล และกระจายข้อมูล ข่าวสารสู่ผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อการวางแผน กำหนดนโยบายการปฏิบัติงานและการประเมินมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กระบวนการในการประเมินสุขภาพพนักงานเพื่อที่จะระบุความผิดปกติทางสุขภาพที่เกิดขึ้นของพนักงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามทางสุขภาพในการทำงานของลูกจ้าง การวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพเพื่อหาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ทำงาน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน  เพื่อตรวจหาผลกระทบต่อสุขภาพในระยะแรก ที่เกิดจากการทำงานสัมผัสสิ่งคุกคามในระยะแรก เพื่อสามารถจัดมาตรการป้องกันที่เหมาะสมได้ ซึ่งถือเป็นการป้องกันในระดับทุติยภูมิ เพื่อประเมินผลของมาตรการควบคุม และข้อมูลที่ได้อาจใช้ในการค้นหาอันตรายและประเมินความเสี่ยง ดังนั้น ในการเฝ้าระวังสุขภาพจึงรวมถึงการตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยงอย่างเป็นระบบ การประเมินทางสุขภาพประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจประเมินทางการแพทย์ การตรวจสารบ่งชี้ทางชีวภาพ การตรวจทางรังสีวิทยา การใช้แบบสอบถามและการทบทวนข้อมูลบันทึกผลสุขภาพ การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายจากการทำงานและผลกระทบต่อสุขภาพในระยะแรกที่อาจตรวจพบแก่พนักงาน และการส่งต่อพนักงานเพื่อการวินิจฉัยและรักษา
              
การตรวจร่างกายเพื่อค้นหาและควบคุมผลกระทบด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ควรดำเนินการเมื่อ
                   1) ก่อนมอบหมายงาน เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพพื้นฐาน พร้อมทั้งซักประวัติสุขภาพ และประวัติการทำงานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รวมถึงการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สอดคล้องกับอันตรายซึ่งคาดว่าพนักงานจะสัมผัส
                   2) ตรวจเป็นระยะในระหว่างการจ้างงาน เพื่อเฝ้าระวังความเจ็บป่วยหรือโรคจากการทำงาน 
                   3) เมื่อย้ายงานหรือลาออก/ออกจากงานเพื่อมั่นใจได้ว่ามีสุขภาพสมบูรณ์หรือไม่มีความผิดปกติจากการทำงานที่จะส่งผลต่อสุขภาพในภายหลัง
              
ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังสุขภาพจะสามารถนำมาใช้ในการบ่งชี้ความเหมาะสมของมาตรการการควบคุมความเสี่ยง ระดับความเสี่ยงรายบุคคลของลูกจ้าง การใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานทางการแพทย์ของลูกจ้าง และบ่งชี้โอกาสในการให้อาชีวสุขศึกษาแก่ลูกจ้าง นอกจากนี้ยังข้อมูลที่ได้ยังสามารถระบุขนาดของปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์กรได้

Visitors: 414,972