PPE แห่งอนาคต ขั้นกว่าของความปลอดภัยและสวมใส่สบาย

เผยแพร่เมื่อ 26/12/2566
เขียนโดย คุณธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์ 
           ผู้เชี่ยวชาญประจำแผนกผลิตภัณฑ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคล
           บริษัท 3 เอ็ม ประเทศไทย จำกัด

 

PPE แห่งอนาคต ขั้นกว่าของความปลอดภัยและสวมใส่สบาย

          อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal protective equipment, PPE) เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยบรรเทาอันตรายและความบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะหรือส่วนต่างๆของร่างกายของผู้สวมใส่ในขณะปฏิบัติงาน PPE แต่ละชนิดจำเป็นต้องได้รับการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับส่วนของร่างกายที่ต้องการคุ้มครอง และต้องผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการป้องกันตามที่มาตรฐานสากลหรือมาตรฐานของแต่ละประเทศกำหนดไว้

          แม้ว่าการใช้ PPE จะเป็นมาตรการหนึ่งที่โรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปใช้ในการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงาน แต่ยังคงมีผู้ปฏิบัติงานจำนวนหนึ่งที่หลีกเลี่ยงการใช้ PPE ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ          
                    1. ความรู้สึกไม่สบาย (Comfort) ขณะสวมใส่ เช่น หายใจไม่สะดวกเมื่อสวมใส่หน้ากาก ขาแว่นนิรภัยบีบขมับแน่นเกินไป รู้สึกร้อนเกินไปเมื่อสวมใส่ชุดคลุมทั้งตัว (Coverall) เป็นต้น   
                    2. อุปสรรคที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงาน เช่น สวมใส่หน้ากาก ปลั๊กลดเสียงแล้วสื่อสารไม่สะดวก สวมใส่ถุงมือทำให้หยิบจับชิ้นงานและสิ่งต่างๆลำบาก เป็นต้น

          จากอุปสรรคข้างต้น ผู้ผลิต PPE ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆและศาสตร์การออกแบบเพื่อให้ PPE รุ่นใหม่ๆยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายตามที่มาตรฐานกำหนด แต่ให้ความสบายขณะสวมใส่มากขึ้น และไม่เป็นข้อจำกัดในการปฏิบัติงานอีกต่อไป เทคโนโลยีและการออกแบบต่อไปนี้อาจเป็นตัวกำหนดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้ใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้ 
                    1. เทคโนโลยีนาโน (Nano technology) 
                      เส้นใยเล็กจิ๋วมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับนาโนเมตรถูกสร้างขึ้นให้ซ้อนทับกันอย่างไม่เป็นระเบียบ มีความสามารถในการดักจับอนุภาคขนาดเล็กมากๆ ถูกนำมาใช้เป็นชั้นกรองอนุภาคของหน้ากากคุณภาพสูง หรือนำมาทำเป็นชุดป้องกันฝุ่นและละอองสารเคมี ทำให้ผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆมีประสิทธิภาพในการป้องกันดีขึ้น น้ำหนักเบา และระบายอากาศได้ดี

รูปที่ 1 ลักษณะเส้นใยที่ซ้อนทับกันอย่างไม่เป็นระเบียบ    
ที่มา https://www.nanotech-now.com/news.cgi?story_id=33145

 

    

รูปที่ 2 การนำผืนเส้นใยไปใช้งาน     
ที่มา https://www.3m.com/3M/en_US/p/d/b00046828/


                    2. เทคโนโลยีสวมใส่ได้อัจฉริยะ (Wearable technology)
                       
เทคโนโลยีสวมใส่ได้อัจฉริยะที่มาในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เราคุ้นเคย เช่น นาฬิกา สายรัดข้อมือที่เก็บและประมวลผลข้อมูลสุขภาพของผู้สวมใส่ ได้ถูกพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของ PPE แล้ว
                              2.1 Full body harness with RFID tag
                                  เป็นการใช้ระบบปฏิบัติการที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้เก็บข้อมูลของสายรัดนิรภัย (Body harness) ชิ้นนั้น อาทิ การใช้งาน การตรวจสอบและการดูแลรักษา ไว้ในระบบ ก่อนการใช้งาน ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้โดยการใช้เครื่องอ่านแผ่น RFID ที่ติดอยู่ที่ผลิตภัณฑ์นั้น เป็นการประเมินความพร้อมของผลิตภัณฑ์ด้วยตนเองก่อนใช้งาน

   

รูปที่ 3 สายรัดนิรภัยชนิดเต็มตัวพร้อมแผ่น RFID
 ที่มา https://www.3m.com/3M/en_US/p/dc/v101267472/

                              2.2 Smart hardhat
                                  เป็นการบูรณาการหมวกนิรภัยเข้ากับการระบบการตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบๆตัวผู้สวมใส่เช่น พิกัดสถานที่ การเคลื่อนไหวของคน เครื่องจักร หรือยานพาหนะ อุณหภูมิ ชนิดและการทำงานของเครื่องจักร ระดับเสียง แสงสว่าง เป็นต้น รวมทั้งระบบการสื่อสาร 2 ทางแบบไร้สาย เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานและทีมงานที่เกี่ยวข้อง

รูปที่ 4 ตัวอย่าง Smart hardhat
ที่มา
https://www.guardhat.com/devices/hc1-communicator/ 

                              2.3 Smart fabrics
                                 
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้เซนเซอร์และแบตเตอรี่มีขนาดเล็ก บาง และยืดหยุ่นจนสามารถผสานเป็นส่วนหนึ่งของผืนผ้าเพื่อใช้ตรวจวัดอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต อัตราการสูญเสียเหงื่อของร่างกายผู้สวมใส่ ปริมาณฝุ่นรอบตัว สามารถส่งสัญญาณเตือนเมื่อผู้สวมใส่อาจได้รับอันตรายเมื่อต้องปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่นั้นๆ
                                  
ดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงลวดลายผ้าเมื่อปริมาณฝุ่นในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขี้นได้ที่ 
                                  
https://www.nikolasbentelstudio.com/aerochromics 

                              2.4 Augmented reality (AR) safety eyewear
                                  เป็นการนำเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented reality, AR) มาทำงานร่วมกับอุปกรณ์ปกป้องดวงตา ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องละสายตาจากงานที่ทำอยู่ตรงหน้า เพราะข้อมูลต่างๆที่จำเป็นเช่น ขั้นตอนการทำงาน ข้อควรระวัง รายละเอียดของวัสดุ ล้วนแสดงให้เห็นได้ตรงหน้า นอกจากนี้ ยังสามารถปรับความคมชัดและขยายขนาดของวัตุเพื่อให้การทำงานมีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น
                                  ดูตัวอย่างการทำงานของอุปกรณ์ปกป้องดวงตาอัจฉริยะได้ที่ https://www.univetar.com/ 

                    3. การออกแบบเพื่อความสบายและปลอดภัย
                       
การออกแบบ PPE ให้สวมใส่ได้อย่างสบายตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงานมีความสำคัญอย่างยิ่ง นักออกแบบจำเป็นต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานของมาตรฐานความปลอดภัย แก้ไข ปรับปรุงปัญหาจากการใช้งานของผลิตภัณฑ์เดิม และเพิ่มระดับความสบายขณะสวมใส่ให้มากขึ้น
                       
การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตให้ความใส่ใจ เราจึงมีโอกาสเห็น PPE ในอนาคตทำจากวัสดุเหลือใช้โดยอาจจะทำเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งชิ้นหรือเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังอาจเห็น PPE ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายๆครั้งมากขึ้นด้วย

    

รูปที่ 5 การออกแบบขาแว่นนิรภัยเพื่อลดแรงกดบริเวณขมับ
ที่มา https://www.3m.com/3M/en_US/p/d/v100714550/

 

   

รูปที่ 6 การออกแบบโครงแขวน (Suspension) เพื่อช่วยลดแรงกดบริเวณหน้าผาก
ที่มา https://www.3m.com/3M/en_US/p/dc/v101350002/

          เทคโนโลยีและการออกแบบที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลซึ่งยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต หน้าที่ของผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆคือการให้ข้อมูลการใช้งานทั้งที่เป็นข้อดีและสิ่งที่ควรปรับปรุง รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆแก่ผู้ผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยและความสบายต่อไป

Visitors: 422,200