การป้องกันควบคุมอนุภาคนาโน (Controlling of nanoparticles exposure)

เผยแพร่เมื่อ 18/12/2566
เขียนโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ บัตรสูงเนิน
           Ph.D. in Life Science (Occupational Health and Safety of Nanotechnology)
           ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
           สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

การป้องกันควบคุมอนุภาคนาโน
(
Controlling of nanoparticles exposure)

          การป้องกันควบคุมอันตรายจากอนุภาคนาโน เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่สุด ที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองคนงาน ให้ปราศจากอันตรายจากการสัมผัสอนุภาคนาโนนั้น ๆ เมื่อมีการป้องกันควบคุมที่ดี ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากอนุภาคนาโนลดลง วิธีการป้องกันควบคุมที่ดีที่สุดและคุ้มค่าต่อการลงทุนที่สุดควรพิจารณาตั้งแต่การออกแบบกระบวนการผลิต โดยมีหลักการในการป้องกันควบคุมอนุภาคนาโนพิจารณาตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
                    1. 
การกำจัดสารที่เป็นพิษหรือเป็นอันตรายออกจากกระบวนการทำงาน (Elimination)
                    2. 
การใช้สารที่มีความเป็นพิษหรือความเป็นอันตรายน้อยกว่าทดแทน (Substitution)
                    3. 
การป้องกันควบคุมทางด้านวิศวกรรม (Engineering control)

          การป้องกันควบคุมอนุภาคนาโนที่ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดต้องอาศัยหลักการทั้ง 3 หลักการข้างต้น เป็นอันดับแรก แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถดำเนินการได้ให้พิจารณา อีก 2 หลักการ ดังต่อไปนี้
                    4. 
การป้องกันความคุมทางด้านการบริหารจัดการ (Administrative control)
                    5. 
การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE) ให้พิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้ายถ้าไม่สามารถดำเนินการวิธีการอื่นได้

          แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันควบคุมอนุภาคนาโน สามารถใช้การผสมผสานหลาย ๆ หลักการร่วมกันได้ เพื่อให้การป้องกันควบคุมมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด 

          9.1 การป้องกันควบคุมอนุภาคนาโนทางด้านวิศวกรรม (Engineering control) (4)(54)(56)
          
การปฏิบัติงานที่ต้องมีการสัมผัสอนุภาคนาโน วิธีการที่ปลอดภัยที่สุดต้องทำในระบบปิด (Enclosure หรือ Close system) เพื่อป้องกันอนุภาคนาโนปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ตัวอย่างระบบปิดที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้แก่ Glove box containment และระบบระบายอากาศที่มีการติดตั้งตัวกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (high-efficiency particulate air (HEPA) filter) เป็นต้น
          
แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่สามารถดำเนินการในระบบปิดได้ ควรมีการติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่ (Local exhaust ventilation) เช่น capture hood หรือ enclosing hood ที่มีการติดตั้งตัวกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (HEPAfilter) ณ จุดกำเนิดอนุภาคนาโน และจุดก่อนที่จะปล่อยอากาศที่ปนเปื้อนออกสู่ภายนอก

รูปที่ 1: การปฏิบัติงานกับอนุภาคนาโนในระบบปิด

          9.2 การป้องกันความคุมอนุภาคนาโนทางด้านการบริหารจัดการ (Administrative control)
          
สถานประกอบการที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับอนุภาคนาโน ควรมีแนวปฏิบัติที่ดีทางด้านการบริหารจัดการ เกี่ยวกับการป้องกันการสัมผัสอนุภาคนาโนของคนงาน โดยใช้วิธีการ ดังต่อไปนี้ (4)(23)(56)
                    o 
ให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อลดปริมาณการสัมผัสอนุภาคนาโนให้น้อยที่สุด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอนุภาคนาโนโดยตรง
                    o 
จัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติ อันตรายของอนุภาคนาโนให้กับผู้ปฏิบัติงาน เช่น เอกสารความปลอดภัยของอนุภาคนาโน (Safety data sheet: SDS) รวมถึงแนะนำหลักการในการป้องกันอันตรายจากอนุภาคนาโนที่ผู้ปฏิบัติงานนั้น ๆ สัมผัส
                    o 
จัดเตรียมวิธีการปฏิบัติงาน คู่มือการทำงานที่ปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงาน
                    o 
ส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงาน ให้มีสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดี เช่น การไม่สูบบุหรี่ การล้างมือ ทำความสะอาดร่างกาย ก่อนรับประทานอาหาร หรือก่อนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน
                    o 
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มในพื้นที่การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคนาโน
                    o 
เตรียมมาตรการควบคุมเพิ่มเติม เช่น กำหนดพื้นที่ควบคุมอนุภาคนาโน พื้นที่กันชน (Buffer zone) พื้นที่ปลอดภัย รวมถึงลดการปนเปื้อนอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าอนุภาคนาโน ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกจากที่ทำงานได้
                    o 
มีการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ที่อาบน้ำ ที่เปลี่ยนเสื้อผ้า รวมถึงบริการซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนอนุภาคนาโนในสถานที่ทำงาน ห้ามนำเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนอนุภาคนาโนกลับบ้านโดยเด็ดขาด
                    o 
มีการจัดเตรียมแนวปฏิบัติเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น กรณีอนุภาคนาโนเกิดการรั่วไหล เหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ รวมทั้งมีการดำเนินการซ้อมแผนฉุกเฉินต่าง ๆ เป็นประจำ
                    o 
การจัดการของเสียที่มีการปนเปื้อนของอนุภาคนาโน ควรดำเนินการตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ถ้าไม่มีกฎหมายให้ดำเนินการจัดการด้วยวิธีการที่ปลอดภัย
                    o 
มีการตรวจวัดความเข้มข้นของอนุภาคนาโนในพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นประจำ
                    o 
มีการตรวจสุขภาพคนงานก่อนเข้าทำงาน ตรวจสุขภาพตามปัจจัยเสี่ยง และตรวจสุขภาพก่อนออกจากงาน

          9.3 การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลสำหรับอนุภาคนาโน (4)(54)(57) (Personal Protective Equipment: PPE)
          
อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นเพียงสิ่งบาง ๆ กั้นกลางระหว่างผู้ปฏิบัติงานและอนุภาคนาโนเท่านั้น ดังนั้นควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเป็นมาตรการสุดท้าย ในการป้องกันอันตรายสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอนุภาคนาโน สถานประกอบการควรเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เหมาะสม และเพียงพอกับอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับ ไม่เพียงแต่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลสำหรับการปฏิบัติงานปกติ แต่ควรมีการเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้วย สถานประกอบการต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้ (Training) เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ถูกต้อง การทดสอบความกระชับ (Fit testing) รวมถึงการบำรุงรักษา (maintenance) อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลตามมาตรฐานและข้อกำหนดของอุปกรณ์แต่ละชนิด

          ในพื้นที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับอนุภาคนาโน เมื่ออุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีการปนเปื้อนอนุภาคนาโนควรเก็บไว้ในถุงที่ปิดสนิท แล้วส่งให้หน่วยงานกลาง เพื่อทำความสะอาดหรือส่งทำลาย ห้ามนำอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ใช้แล้ว และมีการปนเปื้อนอนุภาคนาโนออกจากพื้นที่ปฏิบัติงานเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้อนุภาคนาโนปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก

          การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ควรเลือกให้เหมาะสมกับประเภทของอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะได้รับ โดยอาศัยหลักการพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้  (58)
                    o 
ชนิดของอนุภาคนาโนที่สัมผัส (Type of nanoparticle)
                    o 
สภาพแวดล้อมการทำงาน (Working condition)
                    o 
ระยะเวลาการสัมผัสอนุภาคนาโน (Exposure duration)
                    o 
อันตรายที่อาจจะได้รับ (Potential hazard identification)
                    o 
การกระจายตัวขนาดอนุภาค (Size distribution)
                    o 
ความเข้มข้นของอนุภาคนาโน (Nanoparticleconcentration)

          อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถลดอันตรายจากแหล่งกำเนิดอันตรายได้ ถ้าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเสียสภาพการป้องกัน จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายทันที ทั้ง ๆ ที่มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอยู่ ซึ่งเป็นอันตรายมากเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานคิดว่ามีการป้องกันที่ดีแต่จริง ๆ แล้วไม่สามารถป้องกันอันตรายได้

          9.3.1 อุปกรณ์ป้องกันอันตรายระบบทางเดินหายใจ: หน้ากากกรองอากาศ (Respirators, Mask)
          
หน้ากากกรองอากาศ จัดเป็นอุปกรณ์กรองอากาศชนิด Air purifying respirator โดยอาศัยหลักการกรองอากาศให้บริสุทธิ์ โดยใช้ไส้กรองหรือตลับกรองอากาศ ที่เรียกว่า cartridge หรือ canister ตลับกรองอากาศนี้จะต้องเลือกให้มีความเฉพาะเจาะจงกับอนุภาคนาโนที่ผู้ปฏิบัติงานอาจได้รับสัมผัส โดยอากาศที่ปนเปื้อนอนุภาคนาโนจะถูกกรองให้บริสุทธิ์โดยตลับกรองนี้ หน้ากากกรองอากาศชนิดนี้นิยมใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเข้มข้นของอนุภาคนาโนไม่สูงนัก หรือสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องสัมผัสอนุภาคนาโนในลักษณะการทำงานปกติ ไม่สามารถใช้ได้ในกรณีที่ความเข้มข้นของอนุภาคนาโนสูง ๆ ได้ เช่น กรณีเกิดการรั่วไหลของอนุภาคนาโน หรือสภาพสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอย่างเฉียบพลัน (Immediately dangerous to life or health: IDLH) เป็นต้น
          
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกตลับกรอกอากาศให้ตรงกับลักษณะอันตรายที่อาจจะได้รับ จึงจะทำให้ป้องกันอันตรายทางระบบทางเดินหายใจมีประสิทธิภาพสูงสุด การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับอนุภาคนาโน หน้ากากกรองอากาศมีความสำคัญมากในการป้องกันผู้ปฏิบัติงานจากการสัมผัสผ่านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่าการสัมผัสอนุภาคนาโนในระบบทางเดินหายใจนั้นเกิดได้ง่ายที่สุดและมีความเป็นอันตรายที่สุด ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสอนุภาคนาโน ควรสวมหน้ากากป้องกันอนุภาคนาโนตลอดระยะเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน

          ปัจจุบันมาตรฐานอุปกรณ์ป้องกันอันตรายระบบทางเดินหายใจหรือหน้ากากกรองอากาศมีหลายมาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตาม มี 2 มาตรฐานหลักๆ ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ มาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (US. Standard) และมาตรฐานของสหภาพยุโรป (European Standard) โดยมีรายละเอียดจะได้กล่าวถึงต่อไป

          9.3.1.1 หน้ากากกรองอากาศตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา (US. Standard for Respirator)
          
จากคำแนะนำของ NIOSH และ OSHA ให้ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอนุภาคนาโน ควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลในระบบทางเดินหายใจ อย่างน้อยที่สุดหน้ากากกรองอากาศต้องมีตัวกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง (high-efficiency particulate air : HEPAfilter) ตามมาตรฐาน OSHA 29 CFR 1910.134 หรือ มาตรฐานเทียบเท่าตัวกรองอากาศของ NIOSH 42 CFR 84

 

          โดยหน้ากากกรองอากาศชนิด HEPAfilter สามารถป้องกันอนุภาคที่มีขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมโครเมตร (300 นาโนเมตร) ที่ฟุ้งกระจายในอากาศในระดับความเชื่อมั่นที่ 99.97 เปอร์เซ็นต์ โดยความเชื่อมั่นนี้ภายในหน้ากากต้องมีการรั่วไหล (Leak) ของอากาศภายในหน้ากากไม่เกิน 10 % หน้ากากกรองอากาศตามมาตรฐานประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ หน้ากากกรองอากาศประเภท N หน้ากากกรองอากาศประเภท P และหน้ากากกรองอากาศประเภท R ซึ่งหน้ากากทั้ง 3 ประเภท สามารถป้องกันอนุภาคในลักษณะการทำงานที่ต่างกัน รายละเอียดแสดงดังตารางที่ 3 

ตารางที่ 1: ประเภทของหน้ากากกรองอากาศตามมาตรฐานของประเทศสหรัฐอเมริกา

          N (Not resistant to oil) หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ ไม่สามารถป้องกันอนุภาคที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบได้ เหมาะสำหรับงานที่มีฝุ่นทั่วไป เช่น ฝุ่นไม้ ฝุ่นโลหะ เป็นต้น
          R (Resistant to oil) หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารถป้องกันอนุภาคที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบได้ เหมาะสำหรับงานที่มีละอองน้ำมัน (Oil mist) หรือส่วนผสมของปริโตรเลี่ยมต่าง ๆ 
          
P (Oil Proof) หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารถป้องกันอนุภาคที่มีน้ำมันและไม่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบได้ เช่น เหมาะสำหรับงานเชื่อม งานที่มีเขม่าไอเสียจากเครื่องยนต์ เพราะลักษณะงานเหล่านี้มีองค์ประกอบของอนุภาคหลายประเภทเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งทีเป็นน้ำมันและอนุภาค

          ส่วนตัวเลขด้านหลังจะบ่งบอกถึงประสิทธิ์ภาพในการป้องกันอนุภาคของหน้ากากแต่ละประเภท แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
          
95 หมายถึง หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารป้องกันอนุภาคในระบบทางเดินหายใจที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์
          
99 หมายถึง หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารป้องกันอนุภาคในระบบทางเดินหายใจที่ระดับความเชื่อมั่น 99 เปอร์เซ็นต์
          
100 หมายถึง หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารป้องกันอนุภาคในระบบทางเดินหายใจที่ระดับความเชื่อมั่น 99.97 เปอร์เซ็นต์

          ตัวอย่างเช่น N95 หมายถึง หน้ากากป้องกันอันตรายของระบบทางเดินหายใจนี้ สามารถป้องกันอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตร ที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95 เปอร์เซ็นต์
          
R99 หมายถึง หน้ากากป้องกันอันตรายของระบบทางเดินหายใจนี้ สามารถป้องกันอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตร ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ที่ระดับความเชื่อมั่น 99 เปอร์เซ็นต์
          
P100 หมายถึง หน้ากากป้องกันอันตรายของระบบทางเดินหายใจนี้ สามารถป้องกันอนุภาคขนาด 0.3 ไมโครเมตร ที่อาจจะมีหรือไม่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ ที่ระดับความเชื่อมั่น 99.97 เปอร์เซ็นต์

 รูปที่ 2: หน้ากากกรองอนุภาคนาโนชนิด N100 และ P100

          ในกรณีเกิดการั่วไหลของอนุภาคนาโนที่มีความเข้มข้นสูงมาก ๆ หรือสภาพแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพอย่างเฉียบพลัน (Immediately dangerous to life or health: IDLH) หน้ากากกรองอากาศชนิดAir purifying respirator จะไม่สามารถป้องกันอันตรายได้ ควรเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจชนิดส่งอากาศชนิด (Supplied air) โดยใช้ท่อส่งอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกให้กับผู้ปฏิบัติงาน หรืออาจใช้ Self-contained breathing apparatus: SCBA แทน ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานปลอดภัยมากที่สุด

รูปที่ 3: หน้ากากกรองอากาศชนิด Self-contained breathing apparatus: SCBA(59) 

          9.3.1.2 หน้ากากป้องกันอนุภาคตามมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EuropeanStandard for Respirator)
          สำหรับมาตรฐานยุโรป (European standard: EN) (60)(61) มี 2 มาตรฐานได้แก่ EN 143 และ EN 149 ทั้งสองมาตรฐานทดสอบมาตรฐานโดยการหาปริมาณการซึมผ่านของอนุภาคของโซเดียมคลอไรด์ (Sodium chloride: NaCl) และ พาราฟินออย (paraffin oil) ที่ 70 องศาเซลเซียส และ -30 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามลำดับ
          
โดยมาตรฐาน EN 143 ทำการทดสอบไส้กรอง (Filter) ที่ติดมากับหน้ากาก ในขณะที่ EN 149 ทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากชนิดครึ่งหน้า (filtering half masks) หรือ  (filtering face pieces) โดยมีการทดสอบการรั่วไหลของอากาศภายในหน้ากากและใบหน้า แสดงในตารางที่ 4 และตารางที่ 5

ตารางที่ 2: หน้ากากตามมาตรฐาน EN 143

หมายเหตุ: ประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคของหน้ากาก ทดสอบที่อัตราการไหล 95 ลิตร ต่อนาที 

 

 

รูปที่ 4: หน้ากากป้องกันอนุภาค ชนิด P3

 

ตารางที่ 3: หน้ากากตามมาตรฐาน EN 149

หมายเหตุ: ประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคของหน้ากาก ทดสอบที่อัตราการไหล 95 ลิตร ต่อนาที 

 

รูปที่ 5: หน้ากากป้องกันอนุภาค ชนิด FFP3

 

          ข้อสังเกตเกี่ยวกับหน้ากากกรองอนุภาคนาโนตามที่ NIOSH และ OSHA แนะนำ ไม่ว่าจะเป็น N100 R100 และ P100 สามารถกรองอนุภาคที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมโครเมตร หรือ 300 นาโนเมตรนั้น   จริง ๆ แล้วไม่สามารถกรองอนุภาคนาโนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากอนุภาคนาโนมีขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร แต่อย่างไรก็ตาม หน้ากากรองอากาศที่ NIOSH, OSHA และหน้ากากกรองอากาศมาตรฐานยุโรปแนะนำ เป็นมาตรฐานหน้ากากกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันอนุภาคได้สูงที่สุด ณ ขณะนี้ รวมทั้งบางครั้งอนุภาคนาโนสามารถจับตัวกันเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ได้ จึงทำให้หน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ สามารถกรองอนุภาคนาโนได้ถึงแม้ว่าไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักทุกครั้งสำหรับหน้ากากประเภทนี้ คือภายในหน้ากากกรองอากาศประเภทนี้ มีการรั่วไหลของอากาศสูงมาก ซึ่งถ้ามีการรั่วไหลของอากาศภายในหน้ากากในปริมาณที่มาก จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคของหน้ากากลดลง ดังนั้นควรมีการเลือกหน้ากากที่มีความกระชับกับใบหน้าผู้ใช้งานและทำการทดสอบความกระชับ (Fit test) ก่อนใช้งานทุกครั้งแต่อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อผู้ใช้งานควรใช้หน้ากากชนิด Self-contained breathing apparatus (SCBA)

 

          การเลือกหน้ากากกรองอากาศที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงาน โดยพิจารณาจากขนาดของอนุภาคนาโน ตัวอย่างการศึกษาการกระจายขนาด (Size distribution) และความเข้มข้น (Number concentration) ของอนุภาคปูนซีเมนต์ ในลักษณะการทำงานเขย่าปูนซีเมนต์ออกจากถุงก่อนทำการผสม (Cement bag emptying) จากผลการศึกษาพบว่า ขนาดฝุ่นปูนซีเมนต์มีขนาดเล็กกว่า 10,000 นาโนเมตร (10 ไมโครเมตร) โดยมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ 365.52 นาโนเมตร แต่ช่วงอนุภาคนาโน (ขนาดเล็กกว่า 100 นาโนเมตร) มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับความเข้มข้นของฝุ่นในบรรยากาศทั่วไป (Background particles) ดังนั้นอนุภาคของฝุ่นปูนซีเมนต์นี้ อาจไม่มีอนุภาคขนาดนาโนผสมอยู่ แต่อย่างไรก็ตามฝุ่นปูนขนาดนี้สามารถสะสมในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในถุงลมปอด ดังนั้นลักษณะการทำงานนี้ ผู้ปฏิบัติงานควรเลือกใช้หน้ากากกรองอากาศชนิด N100, FFP3 หรือ P3 ในการป้องกันฝุ่นจากการทำงานนี้ ก็จะสามารถป้องกันฝุ่นได้ที่ความเชื่อมั่น 99.97 เปอร์เซ็นต์ เพราะฝุ่นปูนซีเมนต์นี้มีขนาดอนุภาคใหญ่กว่า 300 นาโนเมตร ที่สำคัญประสิทธิภาพในการป้องกันระดับนี้ภายในหน้ากากต้องไม่มีการรั่วไหลของอากาศไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์  เหตุผลที่เราไม่ใช้หน้ากาก R100 หรือ P100 เนื่องจากอนุภาคฝุ่นปูนนี้ไม่มีน้ำมันผสมอยู่ เป็นต้น (62)(63)(64)

รูปที่ 6: การกระจายตัวของอนุภาคลักษณะการทำงานเขย่าปูนซีเมนต์ออกจากถุงก่อนทำการผสมปูน

          9.3.2 ถุงมือ (Gloves)(65)
          
ปัจจุบันนี้ยังไม่มีมาตรฐานเกี่ยวกับถุงมือที่เฉพาะเจาะจงกับอนุภาคนาโน เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษามากนัก รวมทั้งอนุภาคนาโนแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติงานควรเลือกใช้ถุงมือตามเอกสารความปลอดภัย (SDS) ของอนุภาคนาโนนั้น ๆ ที่ผู้ผลิตอนุภาคนาโนนั้น ๆ แนะนำ การเลือกถุงมือที่เหมาะสมกับลักษณะการปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอนุภาคนาโน ควรพิจารณาจาก ลักษณะของการปฏิบัติงาน ระยะเวลาในการสัมผัสอนุภาคนาโน ระดับความเข้มข้นของอนุภาคนาโน รวมถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสอนุภาคนาโน NOISH แนะนำให้ใช้ถุงมือที่ผลิตจากไนไตร์ (Nitrilegloves) หรือ ถุงมือกันสารเคมีที่อนุภาคนาโนไม่สามารถซึมผ่านได้ (54) และไม่ควรใช้ถุงมือผ้าในการป้องกันอนุภาคนาโน เนื่องจากผ้าสามารถสะสมอนุภาคนาโนได้
          
ถุงมือที่มีการปนเปื้อนอนุภาคนาโนไม่ควรนำกลับมาใช้ใหม่ ให้ใช้แล้วทิ้งทุกครั้งรวมถึงถุงมือที่มีการปนเปื้อนอนุภาคนาโนต้องส่งกำจัดด้วยมาตรการที่เหมาะสม เพื่อลดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

 รูปที่ 7: ถุงมือที่ผลิตจากไนไตร์ (nitrilegloves)

          9.3.3 ชุดป้องกันอนุภาคนาโน (Protective Clothingfor nanoparticle) (54)(66)
          
ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานหรือคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับชุดป้องกันอนุภาคนาโน วัตถุประสงค์ของชุดป้องกันอนุภาคนาโน คือเป็นสิ่งกั้นกลางระหว่างผู้ปฏิบัติงานและอนุภาคนาโน เพื่อป้องกันการสัมผัสทางผิวหนังของผู้ปฏิบัติงานเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติงานควรเลือกใช้ชุดป้องกันอนุภาคนาโนตามเอกสารความปลอดภัย (SDS) ของอนุภาคนาโน ที่ผู้ผลิตอนุภาคนาโนนั้น ๆ แนะนำ ผู้ปฏิบัติงานต้องเลือกชุดป้องกันอนุภาคนาโนรวมถึงรองเท้าที่เหมาะสม และสามารถป้องกันอันตรายจากอนุภาคนาโนได้ทั้งร่างกาย เช่น เสื้อต้องแขนยาว กางเกงต้องขายาว รวมทั้งต้องเหมาะกับลักษณะของอนุภาคนาโนที่สัมผัส ลักษณะการทำงาน ระยะเวลาที่สัมผัส รวมถึงความเข้มข้นขออนุภาคนาโนที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรใช้ชุดป้องกันอนุภาคนาโนที่ทำจากผ้าฝ้าย เพราะผ้าฝ้ายสามารถสะสมอนุภาคนาโน รวมทั้งผ้าฝ้ายไม่เหมาะกับการปฏิบัติงานที่พื้นที่ปฏิบัติงานเปียกชื้น เป็นต้น

รูปที่ 8: ชุดป้องกันอนุภาคนาโน

          9.3.4 อุปกรณ์ป้องกันดวงตาสำหรับอนุภาคนาโน (Eye Protection for nanoparticle) (57)
          
ผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอนุภาคนาโน ควรเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกันดวงตาที่เหมาะสม ตามลักษณะของอันตรายที่สัมผัส ระยะเวลาที่สัมผัส รวมถึงความเข้มข้นของอนุภาคนาโนที่สัมผัส สำหรับแว่นตาธรรมดา (Safety glasses) ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากอนุภาคนาโนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภาคนาโนที่ฟุ้งกระจายในบรรยากาศ (Airborne nanoparticle) ผู้ปฏิบัติงานควรเลือกใช้ที่ครอบดวงตา (Goggles) หรือกระบังป้องกันใบหน้า (Face shields) ที่เหมาะสมในการป้องกันการสัมผัสอนุภาคนาโนทางดวงตาแทน สำหรับอนุภาคนาโนที่มีความเข้มข้นสูง เช่นกรณีเกิดการรั่วไหลของอนุภาคนาโน ให้พิจารณาเลือกใช้ที่ครอบดวงตาที่ติดมาพร้อมกับอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ (full face piece respirator) เป็นต้น

รูปที่ 9: อุปกรณ์ป้องกันดวงตาสำหรับอนุภาคนาโน

Visitors: 415,059