นักอาชีวอนามัย กับการเป็นผู้ให้คำปรึกษา ตอนที่ 2

เผยแพร่เมื่อ 21/12/2566
โดย สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

 

นักอาชีวอนามัย กับการเป็นผู้ให้คำปรึกษา #2

          ตามที่เคยเกริ่นไปแล้วว่า บริบทของการทำงานเป็นนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทบาทในการทำงานนั้นส่วนใหญ่นั้น ต้องสามารถจูงใจในบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้ทำงานในหน้าที่ของตนให้ตรงจุดและครอบคลุม ดังจะเห็นว่า “กฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคลเพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2565” ได้ปรับให้มีการแบ่งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้มีสองประเภท คือ
                    1. โดยตำแหน่ง ได้แก่ ระดับหัวหน้างาน และ ระดับบริหาร และ
                    2. โดยหน้าที่เฉพาะ ได้แก่ ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง และระดับวิชาชีพ ยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร เป็น “หลัก” ที่จะอำนวยให้เกิดความปลอดภัยอย่างแท้จริง และกฎหมายฯ ยังกำหนดให้ สถานประกอบกิจการทุกบัญชี (1-3) ล้วนต้องมีและแต่งตั้งเมื่อจำนวนลูกจ้างถึงเกณฑ์ตามกฎหมายฯ

          จะเห็นว่า การปฏิบัติงานด้วยตนเองในหลายโอกาสก็ไม่ได้ง่าย แต่การที่ปฏิบัติเพื่อให้งานสำเร็จผ่านบุคคลอื่น ก็นับว่าย่อมมีความยากมากกว่ามาก ในฐานะ “นักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ”  บทบาทของ “ผู้ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน และระดับบริหารที่เป็น “หลัก” มีความรู้ ความเข้าใจ และยอมรับเพื่อนำไปปฏิบัตินั้น นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

          และผู้ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาได้นั้น ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการของการให้คำปรึกษาเป็นลำดับแรก  รวมถึงการต้องมีทักษะและความสามารถเบื้องต้นอันเป็นคุณสมบัติของนักให้คำปรึกษาที่ดี วันนี้จึงจะขอหยิบยกหลักการคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาที่ดีเพิ่มเติมมาอธิบาย และนำมาให้ผู้อ่านได้พิจารณาดังนี้

 

กฎ 3 ข้อ สำหรับการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดี
          
ข้อ 1. เป็นผู้ฟังที่ดี
                    
เมื่อบุคคลต้องการคำปรึกษาหรือขอคำแนะนำเกี่ยวกับประเด็นปัญหา สิ่งแรกที่บุคคลเหล่านั้นอยากทำคือ การบอกเล่าเรื่องราวหรือสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา ดังนั้นสิ่งที่ผู้ให้คำปรึกษาควรทำลำดับแรกคือการฟัง และต้องเป็นผู้ฟังที่ดี โดยให้ความสนใจและตั้งใจฟังทุกๆ ประเด็นที่พูดคุยหรือบอกเล่าจนจบโดยไม่พูดขัด เพราะอาจจะทำให้รู้สึกอึดอัด และคิดว่าผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้ตั้งใจรับฟัง รวมถึงควรมีการสบตาด้วยเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ให้คำปรึกษาตั้งใจฟังในเรื่องนั้นๆ นอกจากนี้ลักษณะท่าทางก็มีส่วนช่วยได้มาก ควรพยักหน้าเป็นระยะๆ ตามที่เขาพูด และนั่งหันตัวเข้าหาเขา ไม่บิดตัวไปมา เพื่อแสดงถึงการฟังอย่างตั้งใจ

          ข้อ 2. ให้คำแนะนำที่ดี
                    
การให้คำแนะนำด้วยแนวความคิดดีๆ ในเชิงสร้างสรรค์ เป็นจริงและเป็นไปได้ เพื่อให้ผู้รับฟังสามารถนำไปวิเคราะห์ประเด็นปัญหาด้วยเหตุและผล แล้วนำไปแก้ไข เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ดีขึ้น หากผู้ให้คำปรึกษารู้สึกหรืออยากแสดงความคิดเห็นหรือถามข้อมูลเพิ่มเติมนั้นก็สามารถทำได้  เพียงทบทวนดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความจริงใจและความห่วงใย แต่อย่าลืมว่า สิ่งที่เรานำเสนอ คือ คำแนะนำ/แนวคิดที่จะให้ผู้ฟังได้พิจารณา และตัดสินใจด้วยตนเอง

          ข้อ 3. “อยู่เพื่อเขา” ในยามที่เขาต้องการ
                    
การที่ผู้ให้คำปรึกษาถามไถ่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เป็นการแสดงถึงความห่วงใยอย่างหนึ่ง โดยแสดงให้เห็นว่าเรามั่นใจในการตัดสินใจของเขา และจะสนับสนุนการดำเนินการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ทุกกรณี และยินดีช่วยเหลือให้คำแนะนำเท่าที่สามารถทำได้

          หลายๆ คนอาจคิดว่าการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่ดีเป็นเรื่องยาก  แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า การเป็นผู้ฟังที่ดีสามารถช่วยให้ผู้ที่ขอรับคำปรึกษารู้สึกดีขึ้นมากว่าครึ่งหนึ่งได้    ในชีวิตประจำวัน เราพบผู้พูดจำนวนมากแล้ว เราต้องการผู้ฟังที่ดีบ้าง ดังนั้นเราควรตั้งใจฟังมากกว่าที่จะพูด   และถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะทำให้ผู้ที่ขอคำปรึกษารู้สึกดี  สบายใจ ถึงแม้ว่าไม่อาจช่วยได้ทั้งหมด อย่างน้อยก็ จะทำให้ผู้ให้คำปรึกษามีความสุขใจด้วยเช่นกัน

          แน่นอนทักษะการให้คำปรึกษา (Consulting Skills) ยังมีประเด็นที่สำคัญอีกหลายด้าน ที่ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องพัฒนาเพื่อจะมีทักษะในการให้คำปรึกษาที่ครบถ้วน และการใช้กระบวนการให้คำปรึกษาอย่างมืออาชีพ  เช่น  ทักษะในการวิเคราะห์ (Analytical skills) ความสนใจใฝ่รู้อย่างชาญฉลาด (Intellectual curiosity) ทักษะการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี (People skills) แม้แต่ทักษะการนำเสนอและทักษะการใช้ PowerPoint (Presentation skills & PowerPoint skills) และทักษะความเป็นผู้นำและทักษะการขาย (Leadership skills & Sales skills) ที่จะนำนำเสนอแนวคิดให้เห็นภาพ ทำให้ผู้ฟัง มี mindset ที่ถูกต้อง และที่สำคัญ เห็นภาพ Vision อย่างชัดเจน ผู้ฟังถึงจะสามารถไปประยุกต์ไปสร้างแผนงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนแผนที่ดีนี้ ก็จะทำให้เกิดประสิทธิผล ตามหลัก อินธิบาทสี่ ความรักความพอใจที่จะทำ พากเพียรและขยันอย่างต่อเนื่อง เอาใจใส่มุ่งมั่น และรับผิดชอบ และความตระหนักไตร่ตรองถึงเหตุและผลด้วยปัญญา

Visitors: 422,196