ระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนสำหรับการวิ่งมาราธอน (Heat Stress Monitoring for Marathon)

เผยแพร่เมื่อ 18/10/2566
เขียนโดย รศ.ดร.ปวีณา มีประดิษฐ์
               และคุณทิพรัตน์ นาคมอญ

 

ระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนสำหรับการวิ่งมาราธอน
(
Heat Stress Monitoring for Marathon)

          เป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพอากาศที่ร้อน จะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการวิ่งมาราธอน รวมถึงการเกิดภาวะลมแดด (Exertional heat stroke; EHS) ในระหว่างหรือหลังการแข่งขันมาราธอนจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ หากไม่ได้รับการเฝ้าระวังและรักษา EHS โดยทันที ดังนั้น ในการวิ่งมาราธอนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตระหนักถึง EHS และหยุดความเสียหายของเซลล์ ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อที่เกิดจากความร้อน จนถึงระดับที่รุนแรงจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ การลดความรุนแรงของ EHS คือ การทำความเย็นทั่วร่างกายทันทีด้วยการแช่ในอ่างน้ำแข็ง หรือใช้ผ้าเย็นเช็ดตัวอย่างรวดเร็วไปที่ลำตัว แขนขา และศีรษะ รวมถึงการประคบน้ำแข็งที่คอ รักแร้ และขาหนีบ ซึ่งการระบายความร้อนที่ล่าช้าจะเพิ่มโอกาสในการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ดังนั้น ควรรักษาทันทีด้วยการทำความเย็นทั่วร่างกาย ณ สถานที่เกิดเหตุ และเมื่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอยู่ในสภาวะคงที่แล้ว จึงย้ายนักวิ่งไปรับการประเมินและการดูแลเพิ่มเติม (William O. Roberts, 2007) ในปี ค.ศ. 1990 International Marathon Medical Director Association (IMMDA) ได้เริ่มทำการศึกษาติดตามสภาวะทางภูมิอากาศในระหว่างการแข่งขันกีฬากลางแจ้งประเภทที่ต้องใช้ความอดทนหลายรายการในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อชี้บ่งภาวะความเครียดจากความร้อนที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดการแข่งขัน ทั้งสำหรับผู้เข้าแข่งขันและผู้ชม ทั้งในด้านสภาพแวดล้อม ระยะเวลา และสภาพภูมิอากาศตลอดเส้นทาง พบว่าทำให้เกิดความเครียดจากความร้อนต่อนักกีฬาหรือผู้ชม (J. Verdaguer‐Codina, P. Pujol, A. Rodriguez & E. Ortiz, 1995)

          สำหรับประเทศไทยอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบ (Wet Bulb Globe Temperature: WBGT) ถูกนำมาใช้ในทางกฎหมายครั้งแรกคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงาน เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2546 กำหนดให้บริเวณปฏิบัติงานต้องมีระดับความร้อนเฉลี่ยในช่วงเวลาสองชั่วโมงที่มีอุณหภูมิเวตบัลบ์โกลบสูงสุดของการทำงานปกติ ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และต่อมากระทรวงแรงงานก็ได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559 คือ ต้องควบคุมและรักษา ระดับความร้อนภายในสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างทำงานอยู่ มิให้เกินมาตรฐานระดับความร้อน ดังต่อไปนี้
               (1) ลักษณะงานเบาไม่เกินค่าเฉลี่ย WBGT 34 องศาเซลเซียส
               (2) ลักษณะงานปานกลางไม่เกินค่าเฉลี่ย WBGT 32 องศาเซลเซียส และ
               (3) ลักษณะงานหนักไม่เกินค่าเฉลี่ย WBGT 30 องศาเซลเซียส

          ดังนั้นในปี พ.ศ. 2563 เมื่อผู้เขียนได้รับการประสานจากคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของการจัดงานวิ่ง Bangsaen 21 (Half Marathon) เพื่อให้ดำเนินการเฝ้าระวังสภาพอากาศตลอดระยะเวลาในการวิ่ง จึงได้ดำเนินการจัดทำระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนสำหรับการวิ่งมาราธอน (Heat Stress Monitoring for Marathon) ให้ใช้งานควบคู่กับการบันทึกข้อมูลในเครื่องวัดดัชนีความร้อน WBGT ชนิดส่งสัญญาณดิจิตอล (ภาพที่ 1) ซึ่งได้ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง และอีกครั้งในปีนี้งานวิ่ง Bangsaen 21 ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566 เป็นการจัดใหญ่เพื่อฉลองการได้รับ Credit เป็นระดับ Platinum Label ถือเป็น Platinum แรกของโลก ในระดับ Half Marathon โดยที่เหลือ 14 สนามทั่วโลก จะเป็นระดับ Full Marathon ทีมอาจารย์และนิสิตอาสาสมัครคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จะได้นำระบบดังกล่าวไปใช้ในการเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อน เพื่อให้ฝ่ายแพทย์และพยาบาลอาสาสมัครที่ประจำอยู่ในโซนต่าง ๆ ตลอดระยะทางวิ่ง สามารถติดตามข้อมูลได้ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน (ดังตัวอย่างในภาพที่ 2) เพื่อจะได้เตรียมการรับมือเหตุฉุกเฉินทางด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการแข่งขันมาราธอนได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ที่มาร่วมงานต่อไป

ภาพที่ 1 คู่มือการใช้งานระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนสำหรับการวิ่งมาราธอน (Heat Stress Monitoring for Marathon)

 

 ภาพที่ 2 ตัวอย่างกราฟวิเคราะห์ข้อมูล WBGT ของแต่ละ Zone ตามช่วงเวลาที่บันทึก

 

เอกสารอ้างอิง
     J. Verdaguer‐Codina, P. Pujol, A. Rodriguez & E. Ortiz. (1995). Predictive climatology for the Olympic Marathon and race-walking events in Barcelona 1992. Sports Medicine, Training and Rehabilitation, 6(1), 7-13

     William O. Roberts. (2007). Exertional Heat Stroke in the Marathon. Sports Medicine, 37, 440–442

     กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2559.(17 ตุลาคม 2559).ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 133 ตอนที่ 91 ก หน้า 48-54.

     ปวีณา มีประดิษฐ์ และทิพรัตน์ นาคมอญ. (2563). คู่มือการใช้งานรระบบเฝ้าระวังสภาพอากาศร้อนสำหรับการวิ่งมาราธอน (Heat Stress Monitoring for Marathon). (ลิขสิทธิ์).

 

 

 

Visitors: 415,018