นักอาชีวอนามัยกับการเป็นผู้ให้คำปรึกษา

เผยแพร่เมื่อ 20/9/2566
โดย สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน

 

นักอาชีวอนามัย กับ การเป็นผู้ให้คำปรึกษา

          บริบทของการทำงานเป็นนักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า บทบาทในการทำงานนั้นส่วนใหญ่นั้นต้องสามารถจูงใจในบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ ได้ทำงานในหน้าที่ของตนให้ตรงจุดและครอบคลุม ชี้ให้เห็นความสำคัญของ “คน” ที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญในองค์กรและหน่วยงาน บทบาทหนึ่งที่ต้องมีอยู่ในทุกคน ๆ ในฐานะ “นักอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ” ก็คือ บทบาทของ “ผู้ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา” และผู้ที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาได้นั้น ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักการของการให้คำปรึกษาเป็นลำดับแรก  รวมถึงการต้องมีทักษะและความสามารถเบื้องต้นอันเป็นคุณสมบัติของนักให้คำปรึกษาที่ดี

          จึงจะขอหยิบยกหลักการคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษาที่ดีนั้นมาอธิบาย เพื่อแนะนำและนำมาให้ผู้อ่านได้พิจารณาเบื้องต้นที่น่าสนใจไว้ดังนี้
                  
1. สนใจและใส่ใจผู้อื่นอย่างแท้จริง  โดยคุณสมบัติแรกที่ไม่ใช่ “ทักษะ” แต่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อการเป็นผู้ให้คำปรึกษา  เราจะไม่สามารถตื่นขึ้นมาทำงานอย่างมีพลังได้หากเราไม่รักที่จะนั่งอยู่กับคนอื่น รับฟังและสนใจเรื่องราวของคนเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง ความสำเร็จของการให้คำปรึกษา คือ การปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและการเชื่อมโยงข้อมูล ที่มีอยู่เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้
                  
2. การตระหนักรู้และตกผลึกความคิด ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องมีความช่างสังเกต สังเกตและมีความตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหา และเข้าใจหลักการในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริงและตกผลึกความคิด ซึ่งจะทำให้ช่วยเหลือให้คำปรึกษาได้เป็นอย่างดี และสามารถทำให้ดีขึ้น
                  
3. ความสามารถในการ “ฟัง” ในหลายระดับสิ่งที่แตกต่างระหว่างคนทั่วไปกับผู้ให้คำปรึกษาที่ดี คือ การฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังโดยไร้ซึ่งการตัดสิน การตีความ หรืออคติใดๆ ทั้งปวง  ผู้ให้คำปรึกษาไม่ควรด่วนสรุปซึ่งสิ่งนี้เป็นความท้าทาย  (แน่นอนทุกคน เป็นไปไม่ได้ที่จะตัดสินคนอื่น แต่ที่แน่ๆ เราต้องตระหนักรู้ว่าเรากำลังตัดสิน)
                     
ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรับฟังข้อมูลหรือประเด็นต่างๆ โดยใช้ประสบการณ์และมุมมองของตัวเองมาเป็นกรอบความคิด  ซึ่งจะทำให้การให้คำปรึกษาไม่ประสบความสำเร็จ  ทั้งนี้ ผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องฟังทั้งสิ่งที่บุคคลบอกกล่าวและไม่ได้บอกกล่าวออกมา  ความยากอยู่ตรงที่หลายครั้งที่ผู้รับคำปรึกษาไม่ได้บอกเล่าออกมาทั้งหมด อาจเนื่องจากความไม่ไว้วางใจหรืออาจคิดว่าไม่ใช่ประเด็น  แต่ผู้ให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญจะสามารถวิเคราะห์สิ่งที่ไม่ได้บอกเล่าออกมา และเข้าใจตามมุมมองและบริบทของเจ้าของเรื่องได้อย่างแท้จริง ซึ่งทักษะนี้ ต้องใช้เวลานานในการฝึกฝน
                  
4. การเข้าถึงง่ายและความจริงใจผู้ให้คำปรึกษาจำเป็นต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดกับผู้รับคำปรึกษาให้ได้  สิ่งสำคัญคือต้องใช้ความจริงใจและปรารถนาดีอย่างแท้จริง  รวมถึงการเข้าถึงได้ง่ายเพื่อ “ผ่อนคลายความไม่ไว้วางใจ” ดังนั้นการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ไว้วางใจกันระหว่างผู้รับคำปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาจึงสำคัญมาก
                  
5. ความยืดหยุ่นและเข้าใจความหลากหลาย บุคคลแต่ละบุคคลมีที่มาจากพื้นฐานชีวิตและประสบการณ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง  การเติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ความเชื่อ ฐานะทางเศรษฐกิจ และพื้นฐานครอบครัวที่ไม่เหมือนกัน ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีจำเป็นต้องเข้าใจถึง ความหลากหลายนี้ และปรับให้เข้ากับผู้รับคำปรึกษาแต่ละบุคคลโดยไม่ยึดติดกับกรอบใดกรอบหนึ่งหรือแนวทางใดแนวทางหนึ่ง  รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการส่งมอบไปให้ผู้ให้คำปรึกษาคนอื่นๆ กรณีที่มีความจำเป็นตามความเหมาะสม
                  
6. การมีกระบวนการแก้ปัญหาในความเป็นจริงแล้วผู้ให้คำปรึกษาไม่ได้มีหน้าที่ในการแก้ปัญหา หรือบอกคำตอบว่าผู้รับคำปรึกษาจะต้องทำอะไรในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่พบ แต่ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีต้องสามารถเป็นผู้นำกระบวนการให้ผู้เข้ารับคำปรึกษาสามารถ “ค้นพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง” รวมทั้งเข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้จนรู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อไป และสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างแท้จริง
                     
ในด้านความปลอดภัย ก็มีเครื่องไม้เครื่องมือและเทคนิคมากมาย ที่จะสนับสุนการปรับปรุงพัฒนาตาม “คำตอบ” ที่ผู้เข้ารับคำปรึกษาค้นพบ ความสำคัญอยู่ที่กระบวนการที่ทำให้สามารถ “การค้นพบคำตอบด้วยตนเอง” นั้นเอง
                  
7. การมีจรรยาบรรณของผู้ให้คำปรึกษาการเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่เป็นมืออาชีพนั้น ล้วนต้องยึดถือหลักจรรยาบรรณ เช่น ต้องไม่เปิดเผยเรื่องราวของผู้รับคำปรึกษา ไม่ตัดสินผู้รับคำปรึกษา และรีบบอกคำตอบโดยไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือชี้แนะวิธีการหรือชักจูงไปในทางที่เป็นความคิดของตนเองทั้งที่ทราบว่าอาจไม่ถูกต้อง

          ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นคือคุณสมบัติสำคัญเบื้องต้นของผู้ให้คำปรึกษา ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่เป็นส่วนเติมเต็มอีกจำนวนมากสำหรับผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์จากการฝึกฝนกรณีจริงมากเพียงพอ แต่สำหรับผู้ที่มีใจรักและมีความมุ่งมั่นจริง สิ่งเหล่านี้ไม่ยากเกินความสามารถที่จะสั่งสมจนเป็นผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพได้ สร้างคุณค่าให้กับผู้คนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

Visitors: 422,196