บทที่ 5 SAFETY PROMOTION
เผยแพร่เมื่อ: 01/11/2564....,
เขียนโดย คุณวีระ ซื่อสุวรรณ
ที่ปรึกษาและวิ
บทที่ 5 SAFETY PROMOTION
ความเดิมจากตอนที่แล้ว วิศวกรหนุ่มชื่อ “ทิม” เข้ามาทำงานในโรงงานในตำแหน่งวิศวกรฝ่ายผลิต พบกับสิ่งใหม่และปัญหาใหม่ในเรื่องของ “ความปลอดภัยในการทำงาน” ตั้งแต่การปฐมนิเทศน์ นโยบายความปลอดภัย กฎความปลอดภัย เพื่อการป้องกันควบคุมอันตรายต่างๆ รวมทั้งเรื่องของคนด้วย จนกระทั่งเขามีเพื่อนเป็นเซฟตี้ ที่ดูเสมือนว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยเหลือกันตลอดมา
“นายช่างทิม” เมื่อทำงานมาได้ 2 ปีกว่า เขาได้รับข่าวดีอย่างไม่คาดคิด ได้โปรโมทเป็น “ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลิต” นอกจากเลื่อนตำแหน่งขึ้นแล้วเงินเดือนก็เพิ่มขึ้นด้วย เมื่อมีเรื่องดีก็ต้องมีเรื่องเครียดตามมาพร้อมกัน นั่นคือความรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้น การผลิต ความปลอดภัย คุณภาพ ต้นทุน และขวัญกำลังพนักงานที่ตอนนี้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ “ผู้ช่วยทิม” หลังจากติดประกาศที่บอร์ดบริษัทเจ้านายมาแสดงความยินดี รวมทั้งเพื่อนๆ ที่ยินดีด้วย และบางคนอิจฉา ด้วยยังกังขาในความสามารถ
วันนี้ในที่ประชุม เซฟตี้เสนอในที่ประชุมเรื่อง “การรณรงค์การสวมใส่หมวกกันน็อค” โดยหน่วยงานเซฟตี้เสนอว่า พนักงานของเรามีอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์ ในห้วงเวลา 6 เดือน มีผู้บาดเจ็บ 5 ราย บางรายนอกจากตัวเองแล้วภรรยาบาดเจ็บด้วยแม้ว่า เป็นอุบัติเหตุนอกงาน (Off- the-Job) แต่ส่งผลกระทบต่องาน และภาพลักษณ์ของบริษัท กล่าวคือ พนักงานควรเป็นตัวอย่างให้ชุมชนด้วย หน่วยงานเซฟตี้ จึงขออนุมัติทำโครงการ “รณรงค์การสวมใส่หมวกกันน็อค” โดยมีขั้นตอน 1 สำรวจจำนวนผู้ที่มาทำงานด้วยรถจักรยานยนต์ 2 จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ 3 ซื้อหมวกกันน็อคจำหน่ายครึ่งราคา 4 ออกระเบียบให้พนักงานและผู้รับเหมา ที่สวมหมวกกันน๊อค เท่านั้นที่สามารถนำรถเข้ามาจอดรถในโรงงานได้ นอกนั้นต้องจอดรถจักรยานยนต์ไว้ข้างนอก 5 เสนอของบประมาณจำนวนหนึ่ง ในที่ประชุม สอบถามกันพักหนึ่ง จึงอนุมัติโครงการ รวมทั้ง “ผู้ช่วยทิม” ก็เห็นชอบด้วยเช่นกัน
โครงการนี้ดำเนินการไปได้พักใหญ่ประกาศเชิญชวนเข้ามารับการอบรมการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างปลอดภัย โดยจัดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้ขอความอนุเคราะห์จากบริษัทผู้ขายรถจักรยานยนต์ ส่งทีมครูฝึกและตำรวจมาเป็นผู้สอน ผู้ช่วยทิมสนใจสมัครและมาเรียนเป็นความรู้ด้วย แม้ว่าน้อยครั้งที่เขาจะใช้รถจักรยานยนต์
ขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างปลอดภัยนั้น ประเด็นสำคัญคือ การคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้ร่วมทาง การทรงตัวที่ต้องให้ส่วนของร่างกายไม่ยื่นล้ำออกไปนอกตัวรถ ขาต้องหนีบแนบกับบตัวรถ การสวมใส่หมวกกันน็อคเป็นสิ่งที่สำคัญ ส่วนการป้องกันเศษฝุ่น ลม ฝน ปลิวเข้าดวงตา อาจใช้กระบังหน้าแต่มันก็ไม่จำเป็น หากวัสดุที่ผลิตมีคุณภาพต่ำอาจแตกง่าย ให้เปลี่ยนเป็นแว่นตาดำ เหมาะสมกว่า เพราะกันแสงแดดจ้าได้
จากนั้นไม่นานก็มีการให้พนักงาน ผู้รับเหมาประจำมาซื้อหมวกกันน็อคได้ครึ่งราคา ตามที่มีการสำรวจไว้ก่อน สังเกตพบว่า ทุกคนพึงพอใจกับโครงการนี้จากผลตอบรับ
หกเดือนถัดมา หน่วยงานเซฟตี้ รายงานว่า ห้วงแรก พนักงานและผู้รับเหมาประจำ มีการสวมใส่ได้อย่างถูกต้อง บัดนี้เหตุการณ์ผ่านไป 6 เดือน กลับพบว่าการรณรงค์ ทำได้ดีในช่วงต้นเท่านั้น หลังจากจบโครงการก็กลับมาดังเดิม ถึงแม้ว่า รปภ.ไม่ให้ผ่านเข้ามาจอดรถในโรงงาน ก็มีบริการให้ยืมเวียนหมวกกันน๊อค ไว้ที่หน้าโรงงาน ให้ขับขี่ผ่านประตูโรงงานมาจอดรถได้ สรุปแล้วไม่ได้ผล เสียงบประมาณเปล่าประโยชน์
จากนั้นในที่ประชุมสรุปว่า ปัญหาคือ พนักงานขาดจิตสำนึกด้านความปลอดภัย แก้ไขพฤติกรรมแบบนี้ไม่ได้ จึงเสนอให้ห้ามรถจักรยานยนต์เข้ามาจอดรถในโรงงานอีกต่อไป
เซฟตี้จึงแจ้งว่า การใช้ข้อสรุปที่ว่า “พนักงานไม่มีจิตสำนึก” นั้นเกินจริง เพราะข้อมูลจริงห้วงเวลาแรกนั้น ก็ประสบความสำเร็จ แต่มันย้อนกลับไปที่เดิมนั้นเป็นได้หลายสาเหตุ 1 ยังไม่เกิดความเคยชิน 2 ไม่ได้รับความชื่นชม 3 สังคมสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อ 4 ระยะเวลาของโครงการยังไม่เพียงพอ
เมื่อพบกับปัญหาความมีส่วนร่วม ต้องการแก้ไขปัญหานั้น ด้วย “การรณรงค์”ซึ่งต้องใช้เวลาและวัดผลได้ หากไม่สำเร็จ ต้องค้นหาสาเหตุจริง ไม่ใช้การอนุมาณ แล้วจัดการแก้ไขตัวสาเหตุของปัญหา การชี้ให้คนเป็นตัวปัญหาเองนั้นไม่ได้ เพราะคนเป็นเป้าหมาย ถึงแม้ว่า วัดผลโครงการแล้วสำเร็จ หยุดไม่ได้ ก็ต้องทำการกระตุ้นเป็นระยะเหมือนการฉีดวัคซีน
ส่วนการรณรงค์ ด้วยการจูงใจนั้น การจูงใจมี 2 วิธี “จูงใจจากภายนอก” และ “จูงใจจากภายใน” จูงใจภายนอกได้แก่ เงิน รางวัล มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ระยะสั้น เมื่อหมดเงิน หมดรางวัล ก็หยุดทำ ต้องหาเงิน รางวัลมาใหม่
ส่วนแรงจูงใจภายใน ได้แก่ คำชื่นชม การทำให้เป็นตัวอย่าง การติดประกาศ รับใบประกาศเกียรติคุณ การเปลี่ยนแปลงจะทำให้ได้ผลนานกว่า
วันหนึ่งเพื่อนเซฟตี้เข้ามาปรึกษา กึ่งท้อใจเรื่องการตั้งงบประมาณ บ่นว่าหน่วยงานความปลอดภัยของเขา ปีนี้โดนตัดงบประมาณไปเกือบ 10% ทำให้ทำงานได้ลำบาก ไม่เหมือน หน่วยงานผลิตของท่านผู้ช่วยทิน ที่ไม่ได้รับการตัดงบประมาณ เสนอไปผ่านฉลุยทุกครั้ง โรงงานเราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยจริงหรือ ไม่เหมือนนโยบาย “Safety First”
ผู้ช่วยทิน จึงกล่าวว่า “การผลิต” และ “ความปลอดภัย” เป็นสิ่งที่เทียบกันไม่ได้ เพราะอยู่บนเป้าหมายที่แตกต่างกัน เหมือนการเอาศาสนามาเทียบกัน คนพุทธก็บอกว่าของตนดีที่สุด ส่วนคนมุสสลิมก็ว่าของเขาดีที่สุด ดังนั้น อย่าเอาสิ่งที่เทียบกันไม่ได้มาเปรียบเทียบ โรงงานต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ส่งมอบให้ถึงมือลูกค้า ส่วนของความปลอดภัย เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและความปลอดภัย ของพวกเราพนักงาน ผู้รับเหมาก็เป็นสิ่งสำคัญ การประกันชีวิตให้พนักงานก็เป็นเพียงการบรรเทาผล ผู้ช่วยทิน ยังกล่าวอีกว่า ผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย ทั้งสามสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็น และควบคู่กันไป ไม่ต้องขัดแย้งกันหรือแข่งกันว่า สิ่งใดเหนือกว่า จริงไหม
เซฟตี้ ได้ยินคำพูดของ ผู้ช่วยทิม แล้วก็ยิ้มอย่างพึงพอใจ โดยไม่ต้องมีคำพูดต่ออีก
ความคุ้มค่าของงานความปลอดภัย ผลที่ได้ไม่ใช่รายรับ แต่ลดต้นทุนที่ต้องจ่ายค่าความสูญเสียจากผลของอุบัติเหตุ และยังเป็นส่วนที่ไปลดผลกำไร
หากหน่วยงานความปลอดภัย สามารถทำให้พนักงานของเรา ไม่สูญเสียชีวิต หรือ พิการ ได้เพียง 1 ราย ก็ถือว่าคุ้มค่าสุดๆ แล้ว ยังไม่รวมภาพลักษณ์ของบริษัทที่มีต่อสังคม เป็นความมั่นใจต่อทุกคน
ในการประชุมระบบคุณภาพ มีปัญหาคือ ลูกค้าร้องเรียน เรื่องน้ำหนักสินค้าน้อยไปถึงเกือบ 500 กิโลกรัม ต้องส่งสินค้าเพิ่มให้ครบตามจำนวน หรือ หักเงิน เพราะลูกค้าพบสินค้าบางถุงน้ำหนักขาดหายไป แม้ว่าถ้าชั่งน้ำหนักโดยรวมแล้วน้ำหนักครบพอดี แต่ลูกค้านับเฉพาะถุงที่น้ำหนักขาด ส่วนที่น้ำหนักเกินถือว่าเป็นความบกพร่องที่ลูกค้ารับได้ น้ำหนักขาดร้องเรียน น้ำหนักเกินพอใจ
ในที่ประชุมถกเถียงกันถึงสาเหตุต้นตอ สรุปว่า เกิดปัญหาจาก “งานผู้รับเหมา” กล่าวคือ ผู้รับเหมาไม่สนใจงาน เพราะไม่ผูกพันธ์กับบริษัท จึงไม่รับผิดชอบ เมื่อชั่งน้ำหนักเกินหรือขาด ก็ไม่สนใจ เร่งทำให้เสร็จไปวันๆ แล้วรับค่าจ้าง บริษัทผู้รับเหมาก็ทำแค่ส่งคนงานมาเท่านั้น จึงเสนอแนะให้ งานชั่งน้ำหนักสินค้า เป็นงานของพนักงาน เพราะ เชื่อว่าจะรับผิดชอบดีกว่า มีความผูกพันธ์กับบริษัทมากกว่า จึงขอเสนอให้รับพนักงานเพิ่มอีก 4 อัตรา เพื่อมาทำงานนี้
ผู้จัดการโรงงาน จึงสั่งการว่า ทุกครั้งที่เครื่องชั่งน้ำหนักผิดเพี้ยน มากไป หรือ น้อยไป ให้กดปุ่มสัญญานแจ้งให้พนักงานที่ควบคุมเครื่องชั่งต้องออกมาทำการแก้ไขทันที ตั้งแต่นั้นปัญหาเรื่องการชั่งน้ำหนักจึงหมดไป
ปัญหานี้จะไม่หมดไป เนื่องจาก การโทษพนักงานเรื่องจิตสำนึก โทษเรื่องของวินัยโดยที่ไม่ได้ศึกษาข้อเท็จจริง ข้อมูลจริง ทำให้แก้ไขปัญหาไม่ได้ อาจเกิดปัญหาใหม่มาแทน ไม่รู้จบ เสมือนการโทษว่า การทุจริตเกิดจาการขาดจิตสำนึก การยกย่องคนรวย แท้จริงสาเหตุนั้น เกิดจากความไม่โปร่งใสต่างหากครับ
วีระ ซื่อสุวรรณ
“ความรู้ได้จากการเรียน ความรู้จริงได้จากปฏิบัติ”