การเป็นเซฟตี้ที่ดีอย่างไร ในยุคโควิด (COVID-19)

เผยแพร่เมื่อ 22/09/2564...,
เขียนโดย คุณชนิกานต์ ปัญญาพืชน์
               จป.วิชาชีพ - หัวหน้าแผนกความปลอดภัยฯ 
               บริษัท เอ็น เอช เค สปริง (ประเทศไทย) จำกัด...,

 

เรื่อง การเป็นเซฟตี้ที่ดีอย่างไร ในยุคโควิด (COVID-19) 

          ไหว้สา!! เยาวรุ่นเหล่าจป.ร่วมวิชาชีพทุกคน คงจะปวดหัวกับสถานการณ์โรคระบาดระดับโลกอยู่ในขณะนี้ อารมณ์ประมาณว่า “ทุกวันนี้แทบจะไม่ใช่ จป. แล้ว แทบจะเป็น อสม.คนนึงแล้ว” แต่ก็นั่นแหละค่ะ อาชีพ จป.เป็นอาชีพที่ช่วยเหลือพนักงาน รวมไปถึงครอบครัวพนักงานให้มีความปลอดภัยในทุกๆด้าน เพราะฉะนั้นไม่แปลกค่ะ ที่เหล่า จป. จะต้องทำงานเกี่ยวโควิด ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม (ให้กำลังใจซึ่งกันและกันค่ะ)

          มาเข้าถึงหัวข้อ “การเป็นเซฟตี้ที่ดีอย่างไร ในยุคโควิด (COVID-19)” โดยพื้นฐานแล้ว จป.แทบจะเป็นทุกอย่างให้บริษัทแล้วอยู่แล้วก็ตาม โดยการเป็นเซฟตี้ที่ดีนั้น ต้องมีการปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆรอบตัวเสมอ เช่น

          1. อัพเดตยอดผู้ติดเชื้อ:  ภายในบริษัท ภายนอกบริษัท รอบข้างบริษัท สถานการณ์ภายในประเทศ สถานการณ์โลก เพื่อทราบสถานการณ์อย่างทันท่วงที จะได้รู้ว่าข้าศึกจะตีประชิดเมืองเราเมื่อไหร่

          2. ติดตามสถานการณ์วัคซีน: ติดตามให้รวดเร็ว ประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง นั่นหมายความว่า เราหาวัคซีนได้มากเท่าไร นั่นหมายถึง พนักงานเราปลอดภัย เราก็จะปลอดภัยตามไปด้วย

          3. ติดตามประกาศของจังหวัด,บริษัท: จริงๆ แล้วประกาศจังหวัดก็คือกฎหมายตัวน้อยๆ ฉบับนึงนี่แหละ อ่านค่ะอ่าน จับใจความ ตีความหมาย จับประเด็นให้ถูกว่า ผู้ว่าฯ ต้องการให้สถานประกอบการทำอะไรบ้าง ยิ่งถ้าบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาบเกี่ยวกัน เช่น บริษัทอยู่จังหวัดระยอง แต่พนักงานส่วนใหญ่พักอยู่ชลบุรี ติดตามเลยค่ะทั้ง 2 จังหวัด ยาวไปนะคะคุณจป.

          4. ปรับใช้ออกมาตรการที่เกี่ยวข้อง: จป.ทำงานเกี่ยวกับคน เป็นอะไรที่ยากสุดแล้ว ทำงานกับเครื่องจักร อย่างมากก็งอแง เครื่องเสีย ซ่อมหน่อยจ้า จบ!! ตัดภาพมาทำงานกับคน ยาวไปจ้า ร้อยแปดปัญหา เพราะฉะนั้น ปรับใช้มาตรการที่เหมาะสม สามารถยืดหยุ่นได้ตามสมควร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรด้วยอีกส่วนหนึ่ง

          5. การมีคอนเนคชั่นที่ดี: ตรงนี้หมายถึงทั้งภายใน และภายนอกองค์กรนะ เชื่อว่าจป.ทุกคนมีสกิลด้านนี้อยู่แล้ว (สืบๆ เผือกๆ) ในการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของพนักงาน และบ้านเพื่อนรอบบริษัท ถ้าจป.ท่านใด ยังไม่มีสกิลนี้ จำเป็นต้องฝึกส่วนนี้เพิ่มเติม เพราะสามารถช่วยงานเราได้ค่อนข้างมาก เช่น การสืบหาไทม์ไลน์ที่บางทีพนักงานเราก็กลัวที่จะแจ้งความจริง,การหารค่าตรวจหา ATK จากโรงพยาบาล กับบริษัทข้างเคียง ในกรณีที่พนักงานเราน้อย เป็นต้น

          6.การสรุป และนำเสนอเนื้อหาใจความสำคัญ: ข้อนี้ยกให้เป็นส่วนสำคัญที่สุดเลย เพราะจากข้อ 1-5 เป็นอะไรที่ข้อมูลเยอะอยู่แล้ว ฉะนั้นจป.ต้อง “จับใจความ จับประเด็น สื่อสารด้วยข้อความเข้าใจง่าย เน้นเนื้อหา ประชาสัมพันธ์ในระยะเวลาอันสั้น”  อันนี้หลักง่ายๆเลย ลองนึกใจเขา ใจเรา ใครอยากจะมารวมตัว ใครอยากจะมาฟัง ถ้าจป.พูดแต่น้ำ อ้อมไปอ้อมมา ไม่เข้าประเด็นสักที ถูกมั้ย?

 

          จบไปแล้วสำหรับ 6 ข้อหลักใน “การเป็นเซฟตี้ที่ดีอย่างไร ในยุคโควิด (COVID-19)” อยากฝากเพื่อนร่วมอาชีพทุกท่าน งานจป.เป็นงานช่วยคน ช่วยพนักงาน ชาวเราจะใจฟูทุกครั้งที่เราได้ช่วยพนักงาน ลองเปิดใจดูกันนะคะ สุดท้ายนี้ จป.อยู่ไม่นาน เพราะจป.ได้งานใหม่ (ขอบคุณค่ะ)

Visitors: 414,926