การจัดการด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิต ในกระบวนการที่มีอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา (PSM of Reactive Hazard)

เผยแพร่เมื่อ: 13/09/2564
เขียนโดย คุณจุฑารัตน์ ไชยมงคล
                ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการปรึกษาวิศวกรรมและความปลอดภัยกระบวนการผลิต
                บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด...,

 

เรื่อง การจัดการด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิต 

ในกระบวนการที่มีอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา 

(PSM of Reactive Hazard)

          จากการเฝ้าสังเกตการออกกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยกระบวนการผลิตของ OSHA-PSM (Occupational Safety and Health Administration - Process safety management of highly hazardous chemicals) นั้นถึงแม้ว่าเราจะเห็นได้ว่าตัวกฎหมายและข้อบังคับนั้นได้ออกมาหลายปีมากแล้ว แต่การนำไปบังคับใช้กับโรงงานในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ยังมีบางประเด็นที่ไม่สามารถตอบรูปแบบการดำเนินการของโรงงานที่มีความแตกต่างหลากหลายได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจะมีข้อซักถามถึงประเด็นกฎหมายเข้าไปยังหน่วยงาน OSHA อยู่เรื่อยๆ ซึ่งวงการของการจัดการด้านความปลอดภัยในประเทศไทยเราเองก็มีความสนใจ และในประเทศไทยเราก็ได้มีข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๙ และ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓ ออกมาบังคับใช้เกี่ยวกับความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management) ไปเรียบร้อยแล้ว  เพื่อใช้บังคับต่อโรงงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  

          แต่จากที่เท้าความไปในเบื้องต้นเกี่ยวกับการไม่ครอบคลุมบางประการของข้อบังคับ OSHA-PSM จากทางฝั่ง USA เขาก็มีการปรับปรุงมาตรฐานของทางบ้านเขาขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นประเด็นที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ก็จะเป็นประเด็นของ “การจัดการด้านความปลอดภัยกระบวนการผลิตในกระบวนการที่มีอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา (PSM of Reaction Hazard)”ที่มีการกล่าวกันว่า OSHA-PSM แม้จะมีทะเบียนรายชื่อสารเคมีอันตรายร้ายแรงสูง (Highly Hazardous Chemical : HHC) กำหนดรายการสารเคมีไว้อยู่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม “อันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา (Reactive Hazard)”

          ด้วยประเด็นดังกล่าวจะพาพวกเราตามรอยไปดูว่ามีเรื่องราว หรือมูลเหตุอย่างไรที่ว่าไม่ครอบคลุม ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า Reactive Hazard มันคืออะไรนะคะ หน่วยงาน Center for Chemical Process Safety (CCPS) ได้ให้การอธิบายความไว้ว่า “อันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา (Reactive Hazard) คือ สารเคมี (Chemicals) หรือสภาวะทางกายภาพ (Physical Condition) ที่มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดอุบัติการณ์จากการเกิดปฏิกิริยาทางเคมี (Reactive Incident หรือ Reactive Chemical Incident) ซึ่งส่งผลกระทบต่อบุคคล ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ อาทิ สารที่ไวต่อการกระแทก หรือความร้อน (Impact-Sensitives / Thermally Sensitive materials), การเกิดปฏิกิริยาที่ควบคุมไม่ได้ (Runaway  Reaction), ปฏิกิริยาจากสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible Substance) นอกเหนือจากนี้ทาง OSHA ยังเคยได้รับคำแนะนำจากหน่วยงาน CSB* ให้ทบทวนข้อกำหนดทางด้าน PSM ให้ครอบคลุมถึงอันตรายจากปฏิกิริยาเคมี

หมายเหตุ*Chemical Safety and Hazard Investigation Board(CSB) เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการสอบสวนอุบัติการณ์ใหญ่ๆ และให้ข้อแนะนำทั้งต่อภาครัฐและโรงงาน

 

    กรณีศึกษา    

   

          ดังจะยกตัวอย่างจากกรณีศึกษาของอุบัติเหตุการณ์การระเบิดจากปฏิกิริยาเคมีที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Runaway Reaction) ที่ T2 Laboratories, Inc. ในลักษณะที่เกิดการคายความร้อน (Exothermic) ในระหว่างขั้นตอนการทำปฏิกิริยา Metalation ของ Methylcyclopentadienyl Manganese Tricarbonyl (MCMT) Process โดยกระบวนการซี่งมีการคายก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen) ซึ่งเป็นก๊าซไวไฟสูง ร่วมกับปัญหาระบบหล่อเย็นบกพร่อง ทำให้การเกิดอุณหภูมิและความดันพุ่งสูงขึ้นมากในถังปฏิกรณ์ (Reactor) การปะทุของแรงดันทำให้เกิดประกายไฟ และการระเบิดที่รุนแรงเท่ากับการระเบิดของ TNT ขนาด 1,400 ปอนด์ (ทำลายทั้งโรงงานในทันที มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 32 ราย และส่งผลกระทบต่อทรัพยสินที่อยู่รายรอบโรงงานด้วยเช่นกัน)

          จากกรณีศึกษานี้พบว่าข้อบกพร่องหลักของโรงงาน คือ ขาดการตระหนักรู้ถึงอันตราย  (Reactive Hazard Recognition) ที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการในสภาวะต่างๆ รวมถึงสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นในชณะที่ระบบทำความเย็นผิดปกติหลังจากการเกิดปฏิกิริยา Metalation และมีการคายความร้อนที่สูงขึ้นจะมีอันตรายอย่างไร และไม่มีการรองรับ เช่น ระบบหล่อเย็นสำรอง หรือมาตรการลดความรุนแรงอื่นๆ ที่อาจทำได้ ซึ่งต้องมีการคาดการณ์และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันไว้ก่อน นอกเหนือจากนี้ T2 Laboratories, Inc. ยังมีการพัฒนาจากขนาดการผลิตจากขนาดเดิม 1 แกลลอนเป็น 2,500 แกลลอน และหลังจากนั้นมีการขยายเพิ่มขึ้นไปอีก 1 ใน 3 ซึ่งทำให้การควบคุมไม่ให้เกิดความร้อนเกินยิ่งยากลำบากขึ้นไปอีก

          สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากกรณีศึกษาดังกล่าว คือ
                    o 
การตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการเกิดปฏิกิริยา (Reaction Hazard) ของกระบวนการของเราเอง
                    o 
การเตรียมพร้อมการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (Emergency Preparedness) ต่ออันตรายแต่ละสภาวะที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของเรา
                    o 
การออกแบบกระบวนการและการขยายกระบวนการผลิต (Process Design and Scale – up) ควรขยายขอบเขตของความสามารถในการป้องกันให้ครอบคลุอันตรายที่เพิ่มขึ้นด้วย
                    o 
ถึงแม้ว่ากฎหมายของบ้านเราจะมีตารางกำหนดสารเคมีช่วยบ่งชี้ว่ากระบวนการไหนที่ต้องทำ PSM แล้วก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือโรงงานแต่ละโรงงานมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาอันตรายของกระบวนการในแง่ของปฏิกิริยาเคมีและอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเกิดปฏิกิริยาสภาวะต่างๆ ของกระบวนการ เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดในการเกิดอันตรายจากปฏิกริยาเคมีที่เราอาจคาดไม่ถึงและเป็นภัยแผง (Potential Hazard) ได้อย่างแท้จริง

          ส่วนหลังจากทาง OSHA ได้ทำการศึกษาและการปรับปรุงแนวทาง PSM of Reactive Hazard อย่างไรนั้น ดิฉันจะได้นำมาเล่าสู่พวกเราฟังต่อไปในภาค 2 นะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ

 

อ้างอิง

https://www.csb.gov/csb-board-members-identify-modernization-of-process-safety-management-regulations-as-the-agencys-second-most-wanted-safety-improvement-/

https://www.csb.gov/improving-reactive-hazard-management/


Visitors: 415,117