อันตรายจากการยก (Lifting) และการเอื้อม (Reaching) และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ:  10/09/2564....,
เขียนโดย อาจารย์ศรุดา จิรัฐกุลธนา 
               มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
...,

 

เรื่อง อันตรายจากการยก (Lifting) และการเอื้อม (Reaching)
และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์

          ใน EP.2 ที่ผ่านมาเรื่องวิธีการควบคุมตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomic Control Methods) เป็นหลักการเบื้องต้นสำหรับการประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมปัญหาทางการยศาสตร์ที่จะเกิดขึ้น ใน EP นี้ ผู้เขียนจะยกตัวอย่างอันตรายทางการยศาสตร์ที่จะนำเอามาฝากให้ทุกท่านดูเป็นตัวอย่าง เพื่อที่จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่ง EP นี้เป็นอันตรายของการยกชิ้นงานและการเอื้อมเหนือไหล่หรือศีรษะค่ะ

          โดยปกติแล้ว ท่าทาง Neutral posture (ท่าทางที่เป็นปกติหรือธรรมชาติ) ของมนุษย์จะเป็นท่าทางที่ทำให้ส่วนของร่างกายมีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้น ท่าทางขณะทำงานควรจะใช้ท่าทางที่เป็น Neutral posture ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งท่าทาง Neutral posture คือท่าทางที่มีลักษณะ ดังรูปที่ 1 ได้แก่
                    o 
ยืนตรง คอตรง เท้าขนานกับไหล่
                    o 
แขนส่วนบนอยู่ข้างลำตัว
                    o 
ข้อศอกงอประมาณ 90°
                    o 
ข้อมือตรง
                    o 
ลักษณะของมือ อยู่ในท่า handshake

          ขณะทำงานเมื่อต้องใช้แรง ควรจะรักษาท่าทางให้อยู่ในระดับ Work zone (หรือ Power zone) นั่นคือโซนตั้งแต่ช่วงอกถึงสะโพก ดังรูปที่ 1 ซึ่งเป็นโซนการทำงานที่ทำให้ร่างกายสามารถออกแรงได้ดีโดยไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บหรือก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้น้อย แต่ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการเอื้อมที่มากเกินไป หรือการบิดตัวขณะทำงาน


          ส่วนใหญ่อันตรายจากการยกจะมาจากปัจจัย 3 ปัจจัย ได้แก่ Heavy, Frequent,Awkward lifting นั่นคือชิ้นงานอาจจะมีน้ำหนักมาก (Heavy) ผู้ปฏิบัติงานมีความถี่ของการยกสูงหรือยกซ้ำๆ หลายครั้งติดต่อกัน (Frequent) รวมทั้งการยกด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง (Awkward posture) ดังรูปที่ 2 ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่หลังส่วนล่าง เกิดจากการที่กล้ามเนื้อตึงและเกิดความล้า และอาจเกิดความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ก่อให้เกิดแนวโน้มในการบาดเจ็บเกิดขึ้น


          ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาจากการยก เพื่อลดอาการบาดเจ็บ ทำโดยปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน เช่น ลดน้ำหนักที่ต้องแบกรับโดยหาเพื่อนร่วมงานมาช่วยยกชิ้นงาน (Team Lifting) จะทำให้ลดการออกแรงที่ต้องใช้ได้ ดังรูปที่ 3 หรือการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการยก เช่น Scissors lifts, Load lifter, Pneumatic lifter อุปกรณ์เหล่านี้มี function การใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังรูปที่ 4 จากรูปจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์สามารถปรับขึ้น-ลงได้ ผู้ปฏิบัติงานไม่จำเป็นต้องก้มตัวหรือโค้งตัวลงไปเพื่อยกชิ้นงาน หรือการที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถสไลด์ชิ้นงานจาก shelve ไปที่อุปกรณ์ช่วยยก ซึ่งจะช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ลดการบิดตัวขณะยกชิ้นงานและลดท่าทางที่ไม่ถูกต้องที่อาจจะเกิดขึ้น

 

          ส่วนในกรณีลักษณะงานที่จำเป็นต้องยกชิ้นงานค้างไว้นานๆ เช่น งานเท ออกแบบและแก้ไขโดยใช้โต๊ะหรือเก้าอี้ในการ support ถังบรรจุ เพื่อลดแรงของการยกชิ้นงานที่น้ำหนักมากค้างไว้เป็นเวลานาน ดังรูปที่ 5


          กรณีที่ต้องยกชิ้นงานเพื่อย้ายไปบริเวณต่างๆ จากพื้นที่หนึ่งๆ ไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง สามารถใช้หลักการของ Engineering design เพื่อออกแบบการทำงาน เช่น การทำรางขนส่งชิ้นงาน เพื่อใช้ในการลำเลียงชิ้นงานจากบริเวณหนึ่งไปอีกบริเวณหนึ่ง หรือรางวนกรณีพื้นที่การทำงานมีจำกัด หรือใช้สายพานลำเลียงล้อสเก็ต เพื่อเคลื่อนชิ้นงานได้แทนการยกของ ดังรูปที่ 6


          นอกจากนี้ หากชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมาก ควรใช้อุปกรณ์ในการช่วยยก เช่น รอก (hoist) หรือเครน (cranes) มาช่วยยกชิ้นงาน ดังรูปที่ 7


          อุปกรณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ถุงมือ และ soft material เพราะนอกจากจะช่วยลดการสัมผัสระหว่างส่วนที่แข็งกับส่วนของร่างกายแล้ว ยังช่วยทำให้สามารถจับกับชิ้นงานได้อย่างมั่นคง ลดการลื่นไหลที่อาจจะเกิดขึ้น ดังรูปที่ 8 แต่อย่างไรก็ตามการยกด้วยแรงคน จะต้องคำนึงถึงน้ำหนักด้วย เพราะถ้าหากชิ้นงานมีน้ำหนักมาก ควรพิจารณาใช้อุปกรณ์ในการช่วยยกดังที่กล่าวข้างต้น


          สำหรับอันตรายจากการเอื้อมเหนือไหล่หรือเหนือศีรษะ (Reaching above the head/shoulders) ดังรูปที่ 9 อันตรายที่อาจเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดการจำกัดการไหลเวียนของเลือดและส่งผลให้เกิดการกดทับเส้นประสาท ส่งผลต่อแขน ขา และไหล่ด้านบน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดอาการชา รู้สึกเสียวซ่า ไม่สบายตัว และเมื่อยล้า


          วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจากการเอื้อมเหนือไหล่หรือศีรษะ คือ ควรปรับระดับของพื้นที่การทำงานหรือปรับระดับของผู้ปฏิบัติงาน โดยเพิ่มความสูงของผู้ปฏิบัติงานให้ระดับการทำงานอยู่ที่ระดับ work zone หรือ power zone เช่น การใช้บันไดเพื่อเพิ่มระดับความสูงของผู้ปฏิบัติงานให้เข้าใกล้ชิ้นงานให้มากที่สุด ดังรูปที่ 10

          สำหรับ EP นี้ ผู้เขียนหวังว่าทุกท่านน่าจะเข้าใจและเห็นภาพของอันตรายจากการยกและการเอื้อม พร้อมทั้งการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ใน EP ต่อไปจะเป็นในเรื่องของอันตรายจากการทำงานที่มีท่าทางไม่เหมาะสม (Awkward posture) และการทำงานซ้ำๆ (Repetitive motion) และวิธีการออกแบบแก้ไขตามหลักการยศาสตร์ ฝากติดตามนะคะ

 

Visitors: 419,865