ยุคทองของ Safety Management
เผยแพร่เมื่อ 21/09/2564...,
เขียนโดย คุณเสกสรรค์ ปรีจิตต์
CEO PS safety Co.,Ltd....,
เรื่อง ยุคทองของ Safety Management
หากจะกล่าวว่า ตอนนี้งานด้าน OHS ของไทยกำลังเข้าสู่ยุคทองของระบบการจัดการด้าน OHS คงจะเป็นการกล่าวที่ไม่เกินความจริงไป ทำไมผมถึงได้กล่าวเช่นนั้น
บทความนี้จะเผยให้เราได้เห็นถึงสิ่งที่กล่าวในข้างต้น เพื่อให้เพื่อนๆ จป.วิชาชีพ ได้รับรู้การมาถึงของยุคใหม่ในการทำงานด้าน OHS และเราจะได้เตรียมตัวรับมือกันแต่เนินๆ
หากย้อนกลับไปเมื่อเริ่มต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 1 ในซีกโลกตะวันตก ประมาณ ปี ค.ศ. 1760-1860 (พ.ศ. 2303-2383) ได้เริ่มต้นยุคของการนำเครื่องจักรไอน้ำเข้ามาทำงานแทนแรงงานคน จนเริ่มมีอินเตอร์เน็ตใช้ใน ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 ประมาณปี ค.ศ. 1960-1990 (พ.ศ.2533) ตอนนั้น ประเทศไทยเราอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) เพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม โดยเน้นการขยายเศรษฐกิจ จากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองและอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกันซีกโลกตะวันตก ได้เริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตกันไปแล้ว
คงปฏิเสธได้ยากครับ ว่าตลอด 300 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยถูกพัฒนาตามหลังฝั่งตะวันตกอย่างชัดเจน ปัจจุบันเรื่องราวต่าง ๆ ก็ยังคงเป็นอยู่เช่นเดิม ผมเองก็ไม่ค่อยชอบใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นมากนัก แต่ถ้ามองอีกมุม ประวัติศาสตร์ได้ให้บทเรียนแก่เราและเตือนให้เราเตรียมตัวเพื่อรับมือกับอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น
หากเราสังเกตวิวัฒนาการของอาชีพ จป.และกฎหมายความปลอดภัยในบ้านเรา ก็จะเห็นได้ว่า อาชีพ จป.นั้นมาพร้อมกับยุคอุตสาหกรรม โดยกำเนิดขึ้นจากกฎหมายด้านความปลอดภัยใน ปี พ.ศ. 2528 เพราะอุตสาหกรรมนั้นมีปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือกระบวนการทำงาน จึงทำให้สังคมต้องการผู้ที่จะมาแก้ไขปัญหา เราจึงได้เห็นกำเนิดของวิชาชีพความปลอดภัยในการทำงานขึ้นในสังคมไทย
แต่ทว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ปัญหานี้ฝั่งซีกโลกตะวันตกได้เผชิญก่อนเราและหาทางออกก่อนเรา จะเห็นได้จาก การที่ ACGIH หรือ องค์กรสมาคมนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1938 (พ.ศ.2481) และยังมีประวัติศาสตร์ที่สหราชอาณาจักร มีการออกกฎหมายแต่งตั้งให้มีผู้ตรวจโรงงาน (Factory inspector) เพื่อทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1833(พ.ศ.2376)
ตั้งแต่ ค.ศ. 2000 มุนษย์การก้าวเข้าสู่ ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือที่เราเรียกว่าติดปากว่า ยุค 4.0 มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ปรับปรุงกระบวนผลิตและการทำงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และถ้าเราโฟกัสมองลงไปที่รูปแบบการจัดการปัญหาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน เราจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่า รูปแบบการทำงานนั้นกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
การแก้ปัญหาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งของภาครัฐหรือภาคธุรกิจ ล้วนให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าระบบการบริหารจัดการ อาทิเช่น สถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ทยอยเปิดหลักสูตรด้านการบริหารขึ้นอย่างมากมาย ทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ,การตลาด,กฎหมาย,การปกครอง,การบริหารด้านคุณภาพ,ด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นนะครับ แต่มันเกิดขึ้นนานแล้วในซีกโลกตะวันตก ท่านอาจคุ้นตาไม่น้อยกับ ISRS หรือ Modern safety management, BS8800, OHSAS18001, ILO-OSH MS2001 ล่าสุดก็คือ ISO 45001:2018 คลื่นลูกนี้กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยแบบที่ไม่ต้องสังเกตก็เห็นได้ ดูจาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมายของไทย จากเดิมจะมีรูปแบบเชิงเทคนิค มุ่งแก้ปัญหาเป็นแบบเฉพาะจุดไป เครื่องไหนมีปัญหาก็ไปแก้เครื่องนั้น แต่ปัจจุบัน กฎหมายที่ออกใหม่แทบทุกฉบับ นอกจากจะการกำหนดลักษณะเชิงเทคนิคแล้วยังมีการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการความอันตรายหรือความเสี่ยงเหล่านั้นไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดให้บุคคลกรที่ทำงานอันตรายเหล่านั้นต้องมีความรู้หรือคุณสมบัติที่เหมาะสม ต้องการตรวจสอบตามรอบเวลา ต้องมีการกำหนดวิธีการขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย หรือ แม้กระทั่งกำหนดให้สถานประกอบกิจต้องมีระบบการจัดการด้านความปลอดภัยฯ
ภาพจาก: https://safetyofficer2020.blogspot.com/2020/04/ISO-45001-New-Safety-Management-System-OSHA.html
ที่สุดแล้วองค์กรใดหรือ จป.วิชาชีพ คนใดที่ขาดองค์ความรู้หรือความสามารถทักษะในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมอย่างเป็นระบบแล้ว จะเกิดผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จป.วิชาชีพ ซึ่งจะต้องเป็นผู้เริ่มนับหนึ่งให้กับองค์กร หากไร้ทักษะความสามารถนี้ ท่านจะกลายเป็นผู้ถูกคัดออก ประวัติท่านจะถูกนำออกจากรายชื่อผู้เรียกสัมภาษณ์
สัญญาณนี้นับวันยิ่งทวีความแรงขึ้น ยิ่งในภาวะสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา ยิ่งต้องใช้มาตรการต่างๆเข้ามาแข่งขันหรือกีดกัน และที่ผ่านมาก็มักใช้มาตรการด้านมาตรฐานต่างๆ ของสินค้าและบริการเข้ามาเป็นสิ่งคัดกรองหรือข้อกีดกันทางการค้า ส่วนตัว จป.วิชาชีพ ก็คงต้องตะหนักว่าหากท่านทำงานในหน่วยธุรกิจการค้า คงยากที่จะหนีสงครามการค้าได้ และสิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับอนาคตนี้
สุดท้ายแล้วด้วยความห่วงใยเพื่อน ร่วมวิชาชีพ หวังว่าบทความนี้จะเข้าไปกระตุ้นต่อมความกระหายใคร่รู้ให้ท่านได้ตื่นตัวเรียนรู้พัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลานะครับ