การตรวจสุขภาพอาชีวเวชศาสตร์

เผยแพร่เมื่อ 02/09/2564...,
เขียนโดย อาจารย์ ดร.สรรพัชญ์ ศิริสวัสดิ์
               สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)...,

 

เรื่อง การตรวจสุขภาพอาชีวเวชศาสตร์

          กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2563 ออกตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการตรวจสุขภาพอาชีวเวชศาสตร์โดยตรง ซึ่งการตรวจสุขภาพทางอาชีวเวชศาสตร์ (Occupational physical examination) หมายถึง การตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ต้องให้ความสำคัญในทั้งประเด็นที่เกี่ยวกับการทำงานและประเด็นสุขภาพทั่วไปของลูกจ้าง โดยสามารถอธิบายได้ตามแผนภาพวงจรสุขภาพของคนทำงานดังต่อไปนี้

ภาพที่ 1 วงจรสุขภาพของคนทำงาน (ดาริกา วอทอง, 2563)

          1. Pre-employment และ Pre-placement examination คือ การตรวจร่างกายก่อนเข้างาน ซึ่งข้อแตกต่างคือ pre-employment เป็นการตรวจร่างกายก่อนที่บริษัทจะจ้างงาน ส่วน pre-placement นั้นบริษัทรับลูกจ้างเข้ามาทำงานแล้ว และให้ตรวจร่างกายก่อนที่จะเข้าไปประจำตำแหน่ง หากถ้าตรวจแล้วพบว่าลูกจ้างพร้อมที่จะทำงาน (fit for work) ก็ให้ทำงานได้ ถ้าไม่พร้อมที่จะทำงาน (unfit for work) ควรหางานอื่นให้ทำแทน

          เหตุผลของการตรวจเพื่อดูความปลอดภัยของลูกจ้างเป็นหลัก โดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะประเมินว่า:
                    
(1) ลูกจ้างมีโรคอะไรอยู่บ้างหรือไม่
                    
(2) ถ้ามีโรคอยู่ เขาจะสามารถทำงานที่พิจารณาเข้าทำงานได้หรือไม่
                    
(3) ถ้าสามารถทำงานนั้นได้ เมื่อให้ไปทำงานแล้วลูกจ้างจะเป็นอันตรายหรืออาการป่วยจะแย่ลงหรือไม่

          2. Periodic Examination คือ การตรวจสุขภาพตามวงรอบหรือตามระยะ ซึ่งโดยทั่วไปก็คือการตรวจสุขภาพตามความเสี่ยง โดยปกติไม่ได้มีข้อกำหนดที่แน่นอนว่าต้องตรวจปีละครั้ง หากแต่ขึ้นกับลักษณะงาน กล่าวคือถ้างานที่ทำเสี่ยงมากอาจตรวจถี่กว่าปีละครั้งก็ได้ เช่น ตรวจทุก 6 เดือนในกรณีที่ทำงานกับสารเคมีอันตราย เป็นต้นกรณีที่พบว่าลูกจ้างมีความผิดปกติ ต้องแจ้งผลภายใน 3 วัน

          เหตุผลของการตรวจนี้ ตรวจเพื่อประเมินว่า:
                    
(1) หลังจากลูกจ้างทำงานมาระยะหนึ่งแล้วยังมีสุขภาพดีอยู่หรือไม่
                    
(2) ผลจากการทำงาน อายุของลูกจ้าง และสาเหตุอื่น ๆ สามารถทำให้สุขภาพของลูกจ้างแย่ลงหรือเกิดโรคได้หรือไม่
                    
(3) ถ้ามีโรค ลูกจ้างยังพร้อมที่จะทำงานอยู่หรือไม่

          3. Fitness for work (FFW) examination และ Return to Work (RTW) examination ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2563 มีการกำหนดให้นายจ้างจัดการตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน (Return to Work (RTW) examination) และมีเนื้อความสนับสนุนให้แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ประเมินและลงความเห็นว่าลูกจ้างยังมีความพร้อมในการทำงาน (Fitness for work (FFW) examination) อยู่หรือไม่ โดยมีรายละเอียดของการตรวจสุขภาพดังต่อไปนี้
                    
3.1 Fitness for work (FFW) examination คือ การตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกายเมื่อจะให้ลูกจ้างไปทำงานที่เสี่ยงบางอย่าง เช่น งานเดินเรือทะเล งานในที่อับอากาศ งานดำน้ำ งานขับรถ เป็นต้น
                    
3.2 Return to Work (RTW) examination คือ การตรวจเพื่อดูความพร้อมของร่างกาย หลังจากที่ลูกจ้างเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ จนต้องหยุดงานไปเป็นเวลานานแล้วกำลังจะกลับมาทำงาน

          โดยหลักการตรวจทั้ง Fitness for work (FFW) examination และ Return to Work (RTW) examination ใช้หลักการเดียวกันคือ การประเมินสภาวะสุขภาพ (physical fitness) เทียบกับงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ (work demand) หากตรวจแล้วแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ประเมินว่าลูกจ้างพร้อมที่จะทำงาน (fit for work) ก็ให้ทำงานได้ แต่ถ้าหากลูกจ้างไม่พร้อมที่จะทำงาน (unfit for work) แพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะประเมินว่าควรให้งดทำงานไว้ก่อน หรือให้นายจ้างจัดงานอื่นให้ทำแทน

          นอกจากนี้ กรณีตรวจหลังจากเจ็บป่วย ในบางครั้งแพทย์อาชีวเวชศาสตร์อาจต้องส่งต่อให้ลูกจ้างได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพก่อนจะกลับไปทำงานเดิมได้ตามปกติ

          4. Retirement examination หรือ Exit examination คือ การตรวจเมื่อลูกจ้างจะเกษียณหรือจะลาออกจากงาน การตรวจสุขภาพในข้อนี้เป็นการตรวจเพื่อประเมินว่าหลังจากที่ทำงานมาเป็นเวลานานแล้ว สุขภาพของลูกจ้างเป็นอย่างไรบ้าง มีโรคเกิดขึ้นหรือไม่ มีความเสื่อมใดเกิดขึ้นบ้าง ถ้ามีโรคเกิดขึ้นแพทย์อาชีวเวชศาสตร์จะแนะนำให้รีบรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
          
ในเชิงกฎหมาย การตรวจRetirement examination หรือ Exit examination จะมีประโยชน์มากในกรณีที่ลูกจ้างฟ้องร้องนายจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีการฟ้องร้องกันสูง นายจ้างจะสามารถใช้ผลการตรวจ Retirement examination หรือ Exit examination เป็นหลักฐานที่แสดงได้ว่าก่อนที่ลูกจ้างจะออกจากงานได้มีการตรวจสุขภาพและผลปรากฎว่าลูกจ้างไม่มีโรคใด ๆ ก่อนออกจากงาน

 

เอกสารอ้างอิง:
          1. 
พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 128 ตอนที่ 4 ก (ลงวันที่ 17 มกราคม 2554).
          2. 
กระทรวงแรงงาน.กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานการตรวจสุขภาพลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. 2563. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 137 ตอนที่ 80 ก (ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563).
          
3. สรรพัชญ์ ศิริสวัสดิ์. (2563). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา HP 471 การสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ (หัวข้อที่ 8 การกำหนดวิธีการและแนวทางการบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ). คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
          
4. ดาริกา วอทอง. (2563). เอกสารประกอบการสอนรายวิชา HP 471 การสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ (หัวข้อที่ 9 การดูแลสุขภาพคนทำงาน). คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

 

Visitors: 414,909