การตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินสำหรับผู้ปฏิบัติงานในการขนส่งวัตถุอันตรายทางบก
เผยแพร่เมื่อ 01/09/2564...,
เขียนโดย คุณรุ่งรัตน์ ช่างหลอม
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอลำลูกกา...,
เรื่อง การตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
ในการขนส่งวัตถุอันตรายทางบก
ในหลายครั้งที่พบเห็นเหตุการณ์อุบัติเหตุบนท้องถนนที่เกิดขึ้นกับรถบรรทุกที่ขนส่งวัตถุอันตราย ในกรณีผู้ปฏิบัติงานขับรถและผู้ปฏิบัติงานประจำรถทราบถึงวิธีการตอบโต้เหตุการณ์ฉุกเฉินที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งวัตถุอันตราย จะเป็นการช่วยลดการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน และลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นตามมา ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์อุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองเป็นหลักสำคัญ หลังจากนั้นควรปฏิบัติดังนี้
1. พยายามหยุดรถ ดับเครื่องยนต์ และตัดสวิตช์ควบคุมระบบไฟฟ้าหลักของรถ(Battery Master Switch)
2. ไม่กระทำการใดๆที่อาจจะเกิดประกายไฟ โดยห้ามสูบบุหรี่หรือใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยเด็ดขาด
3. แจ้งหน่วยกู้ภัยหรือหน่วยตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน โดยให้ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ เช่น สถานที่เกิดเหตุ มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และวัตถุอันตรายที่บรรทุกมาให้ชัดเจน
4. ใส่เสื้อสะท้อนแสง และวางกรวยยางทั้งด้านและด้านหลังของรถในระยะห่างประมาณ 50-100 เมตร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนบนเส้นทางจราจร
5. ห้ามเข้าไปใกล้วัตถุอันตรายที่รั่วไหล และต้องอยู่เหนือลม หลีกเหลี่ยงการสูดดมไอ ควัน จากวัตถุที่รั่วไหล
6. หากประเมินสถานการณ์แล้วว่าปลอดภัย โดยสามารถใช้ถังดับเพลิงที่ติดประจำรถได้ ดับเพลิงขั้นต้นที่ลุกไหม้จาก ยางล้อรถ เบรกไหม้ หรือจากห้องเครื่องยนต์
7. ผู้ปฏิบัติงานขับรถและผู้ปฏิบัติงานประจำรถ ห้ามทำการดับเพลิงที่กำลังลุกไหม้วัตถุอันตรายในห้องบรรทุกวัตถุอันตรายที่กำลังลุกติดไฟโดยเด็ดขาด
8. ถ้าไม่สามารถระงับเหตุการณ์ขั้นต้นได้ ให้รีบออกจากพื้นที่เกิดเหตุ และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย
9. รีบถอดเสื้อผ้าและอุปกรณ์ส่วนบุคลที่ปนเปื้อนออกโดยเร็วที่สุด
10. อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ต้องจัดไว้สำหรับผู้ปฏิบัติงานขับรถและผู้ปฏิบัติงานประจำรถแต่ละคัน ดังนี้ เสื้อที่มีแถบสะท้อนแสง อุปกรณ์ส่องสว่างแบบพกพาได้ ถุงมือยางที่กันสารเคมี แว่นตานิรภัย หน้ากากกันสารเคมี
11. อุปกรณ์ประจำรถ เช่น พลั่ว สำหรับตักทรายเพื่อลดผลกระทบจากการรั่วไหลของวัตถุอันตรายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ถังพลาสติกที่มีขนาดเหมาะสมสำหรับใช้รองรับวัตถุอันตรายที่รั่วไหลในปริมาณไม่มาก