เริ่มต้นดีมีชัยทั้งวัน (Pre-Job Start Meeting)

เผยแพร่เมื่อ 17/07/2564...,
เขียนโดย คุณประสงค์ แถวเนิน 
               รองผู้จัดการแผนกความปลอดภัย
               บริษัท Thai Rotary Engineering Co., Ltd....,

 

เรื่อง เริ่มต้นดีมีชัยทั้งวัน (Pre-Job Start Meeting) 

          เคยไหมครับ? เมื่อเราออกจากบ้าน แล้วเราเจอเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือประสบเหตุที่คาคไม่ถึง จนอาจจะทำให้เสียทรัพย์ หรือเจ็บตัวเล็กๆ น้อยๆ  เราก็จะรำพึงกับตัวเองว่า วันนี้ก้าวเท้าข้างไหนออกมาจากบ้านก่อน หรือวันนี้มีเสียงจิ้งจกทักก่อนออกจากบ้าน หรือออกมาจากบ้านในเวลาที่ลงท้ายด้วยเลขตามความเชื่อไหม ก็ว่ากันไปเนอะ

          เหมือนกับการเริ่มการทำงานในหลายโรงงาน หลายบริษัท จะมีการเริ่มต้นด้วยการพูดถึงเรื่องความปลอดภัยจนเกิดเป็นวัฒนธรรมขององค์ ยกตัวอย่างเช่น ในงานก่อสร้าง การเริ่มงานแต่ละวัน เรามักจะเริ่มต้นด้วยการ สนทนาความปลอดภัยที่เราเรียกว่า Safety talk หรือเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่พื้นที่ แต่จุดมุ่งหมาย คือ พูดเพื่อให้ทุกคนทราบถึงอันตราย และเราจะต้องจัดการควบคุมมันอย่างไรกันบ้าง

          การประชุม Pre-job start (อาจมีชื่อเรียกก็ตามแต่สไตล์) ก่อนเริ่มงาน เป็นวิธีกำหนดให้ทีมงานมาประชุมแบบสั้นๆ ตอนเช้าก่อนลงมือ ซึ่งนำโดยหัวหน้างาน ไม่ว่าจะเป็นโฟร์แมน, ซุปเปอร์ไวเซอร์, เอ็นจิเนียร์ กล่าวถึงงานที่จะทำในวันนี้กับทีมงาน เพื่อให้ทราบว่า วันนี้จะทำงานอะไร และขั้นตอนการทำงานคร่าวๆ เป็นอย่างไร แต่ละขั้นตอนมีอันตรายอะไรบ้าง รวมถึงการป้องกันอันตรายเหล่านั้น โดยเป็นการให้ทุกคนช่วยกันพูดออกเสียงถึงอันตรายที่อาจจะเกิด และช่วยกันทบทวนว่าเราควรป้องกันอย่างไร ซึ่งขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้

                    1. เริ่มต้นโดยหัวหน้างาน แจ้งว่าวันนี้จะทำงานอะไรบ้าง ขั้นตอนการทำงานมีอะไรบ้าง
                    2. 
หัวหน้างาน ถามว่า “อันตรายหรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง?”
                    3. 
ผู้ปฏิบัติงาน ต้องช่วยกันพูดออกเสียง (ย้ำว่าออกเสียง) ตอบ “อันตราย หรือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น คือ............”
                    4. 
หัวหน้างาน ต้องถามต่อว่า “เรามีวิธีการ หรือมาตรการอะไรบ้าง? เพื่อป้องอันตรายเหล่านี้”
                    5. 
ผู้ปฏิบัติงาน ต้องช่วยกันพูด (ย้ำว่าออกเสียง) ตอบ “วิธีการ หรือมาตรการเพื่อป้องอันตราย คือ.........”
                    6. 
หัวหน้างาน ทำหน้าที่สรุปและเน้นยำทั้งหมดให้ทุกคนเข้าใจตรงกันอีกครั้ง
                    7. 
หัวหน้างาน ต้องกำหนดเวลาให้สั้น กระชับ ไม่ควรเกิน 10 นาที
                    8. 
จุดสำคัญ ต้องเน้นให้หัวหน้างาน ‘ถาม’ และผู้ปฏิบัติงาน ‘ตอบ’ ออกเสียง
                    9. 
หากมีแบบฟอร์มบันทึก ก็จะช่วยให้ง่ายและสะดวกขึ้น (ผู้เขียนเอามาแชร์ให้ด้วย) แต่หากไม่มีหรือไม่ใช้ก็ผิดอะไร

 

          สุดท้ายแล้ว การปฏิบัติงานต้องทำตามข้อตกลง หรือที่เราเรียกกันว่า ขั้นตอนการทำงานอย่างปลอดภัย (WI, Procedure) เพราะมันคือวิธีการที่ได้คิด และวิเคราะห์มาแล้ว และขั้นตอนการทำงานที่ดี ควรมีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อแก้ไขก็ต้องแจ้งหรือสื่อสารให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบ เท่านี้เราก็จะสามารถเริ่มต้นวันทำงานกันด้วยความปลอดภัยแล้วครับ

 

Visitors: 415,518