การวิเคราะห์ความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error Analysis)

เผยแพร่เมื่อ 24/08/2564...,
เขียนโดย คุณมนตรี  อบเชย
               ผู้จัดการส่วนความปลอดภัยภาคพื้น
               บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด...,

 

เรื่อง “การวิเคราะห์ความผิดพลาดของมนุษย์
(Human Error Analysis)

          หากพูดถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ตามทฤษฎีของ H.W. Heinrich ซึ่งเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้ศึกษาถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุอย่างจริงจังในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในปี ค.ศ.1920 ผลจากการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้
                    
1) สาเหตุที่เกิดจากคน (Human Causes) มีจำนวนสูงที่สุด คือประมาณ 88% ของการเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง
                    
2) สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของเครื่องจักร (Mechanical Failure) มีประมาณ 10% ของการเกิดอุบัติเหตุทุกครั้ง
                    
3) สาเหตุที่นอกเหนือการควบคุม (Acts of God) มีประมาณ 2% เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ นอกเหนือการควบคุมได้ เช่น พายุ น้ำท่วม ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว เป็นต้น

          แน่นอนว่าความความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) ถือเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของอุบัติเหตุที่มาจากคน  (Human Causes) แต่การวิเคราะห์ลึกลงไปเกี่ยวกับสาเหตุของความผิดพลาดของมนุษย์นั้น จะช่วยให้พิจารณาว่า การกระทำ การไม่กระทำ หรือการละเลยนั้น เป็นการกระทำโดยตั้งใจกระทำ (Intended actions) หรือโดยไม่ได้ตั้งใจกระทำ (Unintended actions)  ผลลัพธ์ของการวิเคราะห์สามารถช่วยให้เราระบุได้ว่า ความผิดพลาดนั้นมีสาเหตุมาจากอะไร เช่น การฝึกอบรมไม่เพียงพอ การฝึกทักษะของพนักงานไม่เพียงพอ หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานยังไม่เหมาะสม เป็นต้น

          สาเหตุของความผิดพลาดของมนุษย์ และการฝ่าฝืน (Causes of human errorsand violation)
                    1. สาเหตุของความพลั้งเผลอ (Causes of slips)
                              o 
ข้อจำกัดของสมาธิ (Attention limitations)
                              o 
เปลี่ยนแปลงสถานการณ์/สภาพแวดล้อมแต่ยังเคยชินกับพฤติกรรมเดิมอยู่ (Habit Pattern)
                              o 
กดดัน เร่งรีบให้เสร็จทันเวลา (Time pressure)
                              o 
ความชะล่าใจ (Complacency)
                              o 
ความเหนื่อยล้า (Fatigue)

                    2. สาเหตุของความหลงลืม (Causes of lapse)
                              o 
ข้อจำกัดของหน่วยความจำ (Memory Limitation)
                              o 
ข้อมูลที่ต้องจำมีมากเกินไป (Information Overload)
                              o 
การจำสิ่งที่คล้ายกัน (Similarity Inference)
                              o 
ความเครียด (Stress)

                    3. สาเหตุของการทำผิด (Causes of mistakes)
                              o 
ขาดความรู้  ขาดการฝึกอบรม (Lack of knowledge)
                              o 
ขาดประสบการณ์ (Lack of experience)
                              o 
ขาดข้อมูล ข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลไม่ชัดเจน (Lack of information)
                              o 
เวลามีจำกัด (Time pressure)
                              o 
ตั้งสมมุติฐานผิด (Fault assumption)

                    4. สาเหตุของการฝ่าฝืน (Causes of violation)
                              o 
กดดันเรื่องเวลา เร่งรีบ ลัดขั้นตอนให้งานเสร็จทัน (Time pressure)
                              o 
ขาดการกำกับดูแลจากหัวหน้างาน (Lack of supervision)
                              o 
ขาดขวัญและกำลังใจ (Lack of morale)
                              o 
กลุ่มผู้ปฏิบัติงานยินยอมให้มีการฝ่าฝืนกฎระเบียบ (Norm)
                              o 
ความขัดแย้งในหน่วยงาน (Conflict)
                              o 
กฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือ (Unclear rules)

          เมื่อเราทราบว่าอุบัติเหตุ หรืออุบัติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดหรือการฝ่าฝืน เราจำเป็นต้องวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงสาเหตุของความผิดพลาดหรือการฝ่าฝืนนั้น ว่ามีมาจากอะไร และต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไขสาเหตุเหล่านั้นเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำ

          หากเกิดอุบัติเหตุกับพนักงานจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe acts) บางครั้งอาจจะมีการลงโทษพนักงานโดยหัวหน้างานหรือผู้บริหาร โดยที่ไม่มีการวิเคราะห์ก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ (Human Error) หรือการฝ่าฝืน (Violation) ซึ่งหากพนักงานเกิดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงาน ที่ไม่ใช่การจงใจฝ่าฝืนกฎระเบียบ ข้อบังคับ ไม่ควรมีมาตรการทางวินัย หากแต่ควรแก้ไขหรือป้องกันที่สาเหตุของความผิดพลาดนั้นๆ จึงจะสามารถลดความผิดพลาดลงได้ ในทางกลับกันหากองค์กรใด เน้นการลงโทษพนักงานที่เกิดอุบัติเหตุในทุกกรณีโดยหวังเพียงว่าเป็นการป้องปราม นั่นหมายความว่าการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) จะเป็นไปได้ยากมาก เพราะพนักงานจะไม่อยากรายงานเหตุการณ์ตามความเป็นจริงเพราะกลัวความผิด กลัวการตำหนิติเตียน หรือกลัวการลงโทษ

Visitors: 414,752