แนวทางการลดความร้อนจากการใส่ชุด PPE ในช่วงการระบาดของโควิด-19

เผยแพร่เมื่อ 16/08/2564...,
เขียนโดย อาจารย์ ดร.ปาจรีย์ กุณฑลบุตร  
               อาจารย์ประจำภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
               คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล...,

 

เรื่อง แนวทางการลดความร้อนจากการใส่ชุด PPE
ในช่วงการระบาดของโควิด-19

          ในช่วงการระบาดของโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์มีความจำเป็นในการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส แต่เนื่องด้วยชุด PPE มีลักษณะมีการห่อหุ้มทั้งตัวนั้นมีน้ำหนักที่มาก มีการเคลื่อนไหวที่จำกัด และการขัดขวางการถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย เมื่อบุคลากรสวมใส่ชุด PPE เป็นระยะเวลานาน ประกอบด้วยกับภาระงานที่หนัก และอุณหภูมิอากาศที่ร้อน จะทำให้เกิดความร้อนสะสมในร่างกาย ถ้าร่างกายไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิแกนกลางได้ให้อยู่ในภาวะปกติ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส อาจนำไปสู่ความรู้สึกไม่สบายกาย หรือเจ็บป่วย เช่น เหนื่อยล้า ตะคริว Heat stroke หรือแม้แต่เสียชีวิตได้

          แนวทางการลดความร้อนจากการใส่ชุด PPE ทำงาน ได้แก่ การควบคุมสภาพแวดล้อมการทำงานและปริมาณงานด้วยมาตรการทางวิศวกรรม การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานที่ร้อน การดื่มน้ำและเกลือแร่ และการปรับตารางการทำงาน/การพัก ให้มีช่วงพักให้นานขึ้น เป็นต้น  แต่อย่างไรก็ตามการปรับตารางการทำงาน/ให้มีช่วงพักให้นานขึ้นไม่สามารถทำได้ในสถานพยาบาล เนื่องจากโรงพยาบาลมักมีบุคลากรไม่เพียงพอในช่วงการระบาดของ COVID-19 ขึ้น

          กลยุทธ์ cooling (การทำให้อุณหภูมิของร่างกายต่ำลง) สามารถช่วยลดความร้อนจากการใส่ชุด PPE ในการทำงานได้  โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่
                    1) ก่อนการทำงาน (Pre- cooling) ทำได้โดยการให้พนักงานดื่มน้ำเย็นหรือIce Slurry และสวมใส่ชุดทำความเย็น (Cooling vest)
                    2) ระหว่างการทำงาน (Per-cooling) ให้พนักงานสวมใส่ชุดทำความเย็น (Cooling vest)
                    และช่วงที่ 3) หลังจากการทำงาน (Post-cooling) ได้โดยการให้พนักงานดื่มน้ำเย็นหรือIce Slurry และสวมใส่ชุดทำความเย็น (Cooling vest) โดยกลยุทธ์ cooling จะช่วยเพิ่มระยะเวลาการทำงานให้มากขึ้น และลดความเหนื่อยล้าจากความร้อนได้ 

ที่มา : Coen CWG Bongers et al. Br J Sports Med 2021;55:69-70

          นอกจากนี้ WHO และ ILO แนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อภาวะความเครียดจากความร้อนควรได้รับการแนะนำให้ติดตามอาการของความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อน รวมทั้งการตรวจสอบสีและปริมาณของปัสสาวะ ควรจำกัดระยะเวลาสวมใส่ PPE แบบเต็มรูปแบบ และจัดให้มีบริเวณที่พักที่เย็นและมีน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยเพียงพอ

 

          เอกสารอ้างอิง
                    
1) Bongers CC, de Korte JQ, Catoire M, Greefhorst J, Hopman MTE, Kingma B, et al. Infographic. Cooling strategies to attenuate PPE-induced heat strain during the COVID-19 pandemic. 2021;55(1):69-70.
                    
2) Occupational safety and health in public health emergencies: a manual for protecting health workers and responders. Geneva: World Health Organization and International Labour Organization; 2018 (https://www.who.int/publications/i/item/occupational-safety-and-health-in-public-health-emergencies-a-manualfor-protecting-health-workers-and-responders
                    
3) COVID-19: Occupational health and safety for health workers Interim guidance 2 February 2021 (https://apps.who.int/iris/handle/10665/339151)

 

Visitors: 414,925