ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงาน

เผยแพร่เมื่อ 31/07/2564...,
เขียนโดย คุณพรชนก เลิศสถาพร
               สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์และสิ่งแวดล้อม 
               มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ...,

 

เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงาน: กรณีศึกษา สถานประกอบการผลิตอาหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร

(Relationship between Psychological Characteristics Factors and Personal Protective Equipment Acceptation of Employees: A Case Study of Food Manufacturing in Bangkok)

          บทคัดย่อ
                    
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร โดยประชากรที่ศึกษาเป็นพนักงานฝ่ายการผลิตจำนวน 97 คน เก็บรวบรวมข้อมูลในเดือนกันยายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2563 เครื่องมือวิจัยเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทุติยภูมิเป็นเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน และแบบสอบถามปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลจำนวนทั้งสิ้น 20 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลโดยแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และทดสอบความสัมพันธ์ใช้ค่าสหสัมพันธ์เพียรสัน (Pearson product moment correlation coefficient)
                    
ผลการศึกษาพบว่า พนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหารส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุในช่วง 30-39 ปี มีการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีอายุงานในสถานประกอบการแห่งนี้ 6-10 ปี มีภาพรวมของค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาอยู่ในระดับปานกลาง และการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอยู่ในระดับค่อนข้างมาก โดยค่าเฉลี่ย (ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 3.47 (0.13)  และ 4.08 (0.88) ตามลำดับ ผลทดสอบความแตกต่างของปัจจัยเชิงจิตวิทยาตามกลุ่มแผนกพบว่า มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.35) แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าประเด็นการไม่หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้นและขัดขวางการทำงานมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05)  โดยแผนกฟิลลิ่งมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดและแตกต่างจากแผนกอื่น สำหรับระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยามีความสัมพันธ์กับปัจจัยการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ( p-value = 0.09)
                    
คำสำคัญ:  อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล โรงผลิตอาหาร

          บทนำ
                    
การเกิดอุบัติเหตุและการเจ็บป่วยขณะปฏิบัติงานอาจเป็นผลมาจากการไปสัมผัสกับสารเคมีอันตราย เสียงที่ดัง ฝุ่นฟุ้งกระจาย แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ กระแสไฟฟ้า อุปกรณ์และเครื่องจักร และอันตรายอื่นในสภาพแวดล้อมการทำงาน ตามหลักความปลอดภัยสำหรับการป้องกันอันตรายต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขที่แหล่งกำเนิดเป็นสิ่งแรก (source) ด้วยการควบคุมทางด้านวิศวกรรม วิธีการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการ (engineering, work practice, and administrative controls)อย่างไรก็ตามหากการควบคุมทั้งหมดนี้เป็นไปไม่ได้หรือไม่เพียงพอในการป้องกันอันตราย การกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (personal protective equipment: PPE) และมั่นใจได้ว่า PPE มีความเหมาะสมเพียงพอในการใช้ (Occupational Safety and Health Administration, 2012) แต่การสวมใส่ PPE นั้น สามารถสร้างความอึดอัดและรำคาญให้แก่ผู้ปฏิบัติงานเนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ต้องไปปิดปาก ปิดจมูก หรือสวมบนใบหน้า ศีรษะหรือเท้าการสวมใส่ PPE จึงมีการประกาศไว้ในพระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554 มาตรา 22 ระบุให้นายจ้างจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน โดยลูกจ้างมีหน้าที่สวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลและดูแลรักษาอุปกรณ์ให้สามารถใช้งานได้ตามสภาพและลักษณะของงานตลอดระยะเวลาทํางาน ในกรณีที่ลูกจ้างไม่สวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว ให้นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างหยุดการทํางานนั้นจนกว่าลูกจ้างจะสวมใส่อุปกรณ์ดังกล่าว
                    
จากรายงานการประสบอันตรายจากการทำงานระหว่างพ.ศ. 2561-2563 ของสถานประกอบการผลิตอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดกรุงเทพมหานครพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุจำนวน 15 ครั้ง และสูญเสียวันทำงานถึง 84 วัน เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์พบว่าอวัยวะที่ได้รับอุบัติเหตุ 3 อันดับแรกได้แก่ มือและนิ้วมือ หลัง และศีรษะ ซึ่งลักษณะการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุเกิดจากวัตถุขีด ข่วน ตัดบาด และการชนกระแทก ประกอบกับกระบวนการผลิตอาหารมีการใช้น้ำและความร้อนเกือบทุกขั้นตอนเพื่อผลิตแยม เยลลี่ ฟิลลิ่ง นม เนยมาการีน และมิ๊กฟรุต ทางสถานประกอบการจึงได้มีกิจกรรมเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในกระบวนการผลิตไม่ให้เกิดซ้ำ เช่น การกำหนดวิธีการใช้งานเครื่องจักรเครื่องมือ ก่อนเริ่มต้นการทำงานทุกครั้งต้องทำการขออนุญาต (work permit) การประชุมตอนเช้า (morning talk) เพื่อชี้แจงกฎระเบียบและย้ำเตือนด้านความปลอดภัย (บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด, 2563) เห็นได้ว่าสภาวะแวดล้อมในการทำงานและการไม่ใช้ PPE ของพนักงานอาจส่งผลถึงจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จิตวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ และพฤติกรรมเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากการกระตุ้นหรือถูกจูงใจจากสิ่งเร้าต่างๆ โดยการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรมของบุคคลปัจจัยสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวกำาหนดที่สำคัญมากกว่าสิ่งอื่นๆ (สมโภชน์เอี่ยมสุภาษิต, 2550) การยอมรับ (Acceptability) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการประยุกต์นโยบายใช้ในชุมชน โดยปัจจัยเชิงจิตวิทยาที่สามารถอธิบายการยอมรับมาตรการที่กำหนดขึ้นได้แก่ การรับรู้ถึงประโยชน์ บรรทัดฐานของสังคม และการตระหนักถึงปัญหา  (Schwartz, S.H., 1977)
                    
ทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในการผลิต ด้วยเหตุนี้ผู้วิจัยจึงมุ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานเพื่อวางแผนส่งเสริมการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานโรงงานผลิตอาหารอย่างต่อเนื่องและสมํ่าเสมอ

          วัตถุประสงค์การวิจัย
                    1. 
เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร
                    2. 
เพื่อศึกษาระดับการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร
                    3. 
เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างปัจจัยเชิงจิตวิทยารายข้อของพนักงานฝ่ายการผลิตตามกลุ่มแผนก
                    4. 
เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเชิงจิตวิทยาและการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร

          ระเบียบวิธีวิจัย
                    
ประชากร  เป็นผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายการผลิต สถานประกอบการผลิตอาหาร จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 97 คน ซึ่งทำการศึกษาในประชากรทั้งหมด โดยฝ่ายการผลิตประกอบด้วย 6 แผนก มีจำนวนพนักงานดังนี้
                              
แผนกแยมจำนวน 14 คน                 แผนกเยลลี่จำนวน 16 คน
                              
แผนกฟิลลิ่งจำนวน 18 คน               แผนกนมจำนวน 16 คน
                              
แผนกเนยมาการีนจำนวน 14 คน      แผนกมิ๊กฟรุตจำนวน 19 คน
                    
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยและการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ
                    
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ
                              
ส่วนที่ 1 ข้อมูลทุติยภูมิ เป็นเอกสารข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ของฝ่ายทรัพยากรบุคคล ข้อมูลประกอบด้วย เพศ อายุ อายุงาน ระดับการศึกษา
                              
ส่วนที่ 2 แบบสอบถามที่สร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมประกอบด้วยแบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยเชิงจิตวิทยาต่อการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล มีจำนวน 10 ข้อ และแบบสอบถามเกี่ยวกับการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลจำนวน 10 ข้อ คำถามที่สร้างขึ้นเป็นคำถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Likert scale) มีระดับคะแนน 5 ระดับ
                              
โดยเกณฑ์ในการแปลผล ดังนี้ คะแนนเฉลี่ย 4.50-5.00 หมายถึง ระดับมาก คะแนนเฉลี่ย 3.50-4.49 หมายถึง ระดับค่อนข้างมาก คะแนนเฉลี่ย 2.50-3.49 หมายถึง ระดับปานกลาง คะแนนเฉลี่ย 1.50-2.49 หมายถึง ระดับค่อนข้างน้อย คะแนนเฉลี่ย 1.00-1.49 หมายถึง ระดับน้อย

           การวิเคราะห์ข้อมูล
                    
การวิเคราะห์ข้อมูล สถิติเชิงพรรณนาใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation) การทดสอบความแตกต่างใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) และการทดสอบความสัมพันธ์ใช้ค่าสหสัมพันธ์เพียรสัน (Pearson product moment correlationcoefficient)

          ผลการวิจัย
                    
ข้อมูลทั่วไปของประชากรพบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุในช่วง 30-39 ปี มีการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีอายุงานในสถานประกอบการแห่งนี้ 6-10 ปี คิดเป็นร้อยละ 68.0043.30 39.10 และ 33.00 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) 
                    
ผลการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงจิตวิทยาของประชากรพบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.47 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.13 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าข้อ 1 ถึงข้อ 5 ซึ่งแสดงถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ PPE จากการติดตามข้อมูลข่าวสารด้านความปลอดภัยและ PPE จากการประชุมประจำวัน การประชุมตามวาระ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และการเข้าอบรมให้ความรู้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.98-4.26 หมายถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ PPE อยู่ในระดับค่อนข้างมาก ในส่วนข้อ 6 ถึงข้อ 10 ซึ่งแสดงถึงการให้ความร่วมมือในการใช้ PPE พบว่าข้อ 6 การสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลทุกครั้งในขณะทำงาน และข้อ 9 การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเหมาะสมกับประเภทงานที่ทำ มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4.29-4.47 อยู่ในระดับค่อนข้างมากแต่ข้อที่เหลือ (ได้แก่ ข้อ 7 ข้อ 8 และข้อ10) มีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1.56-2.00 อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย เห็นได้ว่าการให้ความร่วมมือในการใช้ PPE อยู่ในระดับน้อยเมื่อพนักงานต้องเร่งรีบทำงาน ไม่ถนัดในการปฏิบัติงาน และไม่ได้ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในระดับวิชาชีพ (ตารางที่ 2)
                    
ผลการวิเคราะห์การยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของประชากรพบว่า ภาพรวมอยู่ในระดับค่อนข้างมาก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.08 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.88 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าทั้งหมดมีค่าเฉลี่ยของคะแนนตั้งแต่ 4.00 ขึ้นไป ยกเว้นข้อ 9 ซึ่งเป็นประเด็นอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้มีสภาพไม่ชำรุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1.60 หมายถึงการยอมรับในข้อนี้อยู่ในระดับค่อนข้างน้อย (ตารางที่ 3)
                    
ผลการทดสอบความแตกต่างของค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาของประชากรตามกลุ่มแผนก พบว่า  แผนกที่แตกต่างกันมีค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ( p-value > 0.05) เมื่อพิจารณาทดสอบความแตกต่างของค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาเป็นรายข้อ พบว่าแผนกที่แตกต่างกันมีค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาข้อ 7  ไม่เคยหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น และข้อ 8 ไม่เคยหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเนื่องจากขัดขวางการทำงาน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่า p-value เท่ากับ 0.04 และ 0.01 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) โดยคู่ที่แตกต่างกันได้แก่แผนกฟิลลิ่งและแผนกมิ๊กฟรุต อีกทั้งแผนกฟิลลิ่งมีค่าเฉลี่ยของข้อ 7 และข้อ 8 น้อยที่สุด (ภาพที่ 1)
                    
สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยากับค่าการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ( p-value > 0.05) ดังตารางที่ 4

ตารางที่ 1 จำนวนและร้อยละ ของข้อมูลทั่วไปของพนักงานฝ่ายการผลิตของสถานประกอบการผลิตอาหาร (n=97)

 

ตารางที่ 2 ผลการวิเคราะห์ปัจจัยเชิงจิตวิทยาของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร (n=97)

 

                                                *มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

 

ภาพที่ 1 ผลการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของข้อ 7  (ก) และข้อที่ 8  (ข) ตามกลุ่มแผนก ด้วย Tukey’s HSD test 

 

ตารางที่ 3 ผลการวิเคราะห์ปัจจัยการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลของพนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหาร (n=97)

 

ตารางที่ 4 ความสัมพันธ์ระหว่างค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาและค่าการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ด้วยสถิติ Person correlation


          สรุปและอภิปรายผล
                    1. 
พนักงานฝ่ายการผลิตในสถานประกอบการผลิตอาหารส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุในช่วง 30-39 ปี มีการศึกษาสูงสุดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีอายุงานในสถานประกอบการแห่งนี้ 6-10 ปี (ตารางที่ 1)  มีภาพรวมของค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาอยู่ในระดับปานกลาง และการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลอยู่ในระดับค่อนข้างมาก โดยค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.47  และ 4.08 ตามลำดับ(ตารางที่ 2 และ 3)  การที่ประชากรมีค่าปัจจัยเชิงจิตวิทยาอยู่ในระดับปานกลางนั้น หากประชากรไม่ได้รับแรงเสริมจากกิจกรรมต่างๆ ด้านความปลอดภัยแบบต่อเนื่องอาจทำให้การยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลมีระดับลดลงได้ จะเห็นได้ข้อ 7  ไม่เคยหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น และข้อ 8 ไม่เคยหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเนื่องจากขัดขวางการทำงาน ทั้งสองข้อมีค่าเชิงจิตวิทยาอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย(ตารางที่ 2) ทั้งนี้ตามทฤษฎีการยอมรับโดย Roger, & Shoemaker (1978) กล่าวว่าการยอมรับนำไปปฏิบัติ (adoption) จะเกิดขึ้นมาจากลักษณะทางจิตวิทยา 5 ระยะ โดยเริ่มจากระยะการรับรู้ โดยบุคคลนั้นต้องรู้ถึงเนื้อหาและคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น จากนั้นเกิดระยะการใส่ใจและสนใจซึ่งบุคคลนั้นจะหารายละเอียดเพิ่มเติมโดยขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพ ค่านิยม ตลอดจนบรรทัดฐานทางสังคมหรือประสบการณ์เก่าๆ ของบุคคลนั้น เมื่อมีการรับรู้และเกิดความสนใจแล้ว จะเกิดระยะการประเมินค่าซึ่งจะเกิดการไตร่ตรองในการนำมาใช้ว่าเกิดประโยชน์หรือไม่ จนกระทั่งได้รับแรงเสริมจนเกิดความเชื่อมั่นจึงเกิดการทดลองใช้บางส่วนและเป็นขั้นสุดท้ายที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจที่จะปฏิเสธหรือยอมรับต่อไป
                    2. 
ทั้ง 6 แผนกมีค่าเฉลี่ยของปัจจัยเชิงจิตวิทยาไม่แตกต่างกันทางสถิติ ( p-value > 0.05) อีกทั้งผลการพิจารณารายข้อพบว่าทั้ง 6 แผนกมีค่าเฉลี่ยรายข้อเกือบทุกข้อไม่แตกต่างกันทางสถิติ ( p-value > 0.05) (ตารางที่ 2) ยกเว้นข้อ 7 และข้อ 8 เป็นประเด็นการไม่หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้นและการขัดขวางการทำงาน โดยเฉพาะแผนกฟิลลิ่งมีค่าเฉลี่ยของทั้งสองข้อดังกล่าวน้อยที่สุดและค่ามีความแตกต่างทางสถิติกับแผนกอื่นๆ ที่เหลือ (ภาพที่ 1) จะเห็นว่าปัจจัยแผนกไม่มีผลต่อการยอมรับการใช้อุปกรณ์คุ้มครองส่วนบุคคลเนื่องจากการสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นกฎระเบียบของสถานประกอบการที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามให้เป็นตามกฎหมายและเพื่อความปลอดภัยในการทำงานที่สัมผัสปัจจัยเสี่ยง (ราชกิจจานุเบกษา, 2554) ซึ่งสอดคล้องผลการศึกษาของปรัชญา ไชยอิ่นคา (2556) ระบุว่า ปัจจัยต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ที่มีเพศและรายได้แตกต่างกันพบว่าภาพรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 พบว่าปัจจัยที่มีต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงานย่อมได้รับความรู้หรือมีสิทธ์ในการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมือนกัน โดยไม่แบ่งเป็นเพศชายเพศหญิงในการทำงานผู้มีรายได้เฉลี่ยที่มากหรือน้อยก็ต้องปฎิบัติตามกฎระเบียบในการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกคน
                    3. 
ปัจจัยเชิงจิตวิทยาไม่มีความสัมพันธ์กับปัจจัยการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ( p-value > 0.05) (ตารางที่ 4) อาจเนื่องจากการยอมรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลต้องพิจารณาถึงการบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลร่วมด้วย อีกทั้งประชากรที่ศึกษาให้คะแนนเกี่ยวกับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลไม่ชำรุดอยู่ในระดับค่อนข้างน้อย สอดคล้องผลการศึกษาของ พรธิดา เทพประสิทธิ์ และประสพชัย พสุนนท์. (2560) ระบุว่าความสัมพันธ์ต่อการยอมรับปัจจัยต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทั้ง 4 ด้าน ไม่สามารถสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทดสอบด้านสิ่งแวดล้อมได้ ด้านการรับรู้ข่าวสาร ด้านการมีส่วนร่วม ด้านความสม่ำเสมอการใช้ ด้านความสะดวกในการใช้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์จะไม่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลหากเห็นว่าชำรุด แต่ไม่สอดคล้องกับผลการศึกษาของสุรชัย ชัยขวัญงาม (2552) ระบุว่าปัจจัยลักษณะจิตวิทยาของพนักงาน บริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด มีความสัมพันธ์ต่อการยอมรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลคือ ความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เจตคติต่อการยอมรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การเปิดรับข่าวสารและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมความปลอดภัย ของพนักงาน บริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด มีความสัมพันธ์ต่อการยอมรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ 0.05 อย่างไรก็ตามผลการศึกษาของจินตนา เนียมน้อย และคณะ (2556) ชี้ว่าตัวแปรได้แก่ ทัศนคติเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล การสนับสนุนทางสังคมและการบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลสามารถร่วมกันทำนายการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้แต่ตัวแปรการบริหารจัดการอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลมากที่สุด (β = 0.271)

          ข้อเสนอแนะ
                    1. 
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพควรเน้นกิจกรรมด้านความปลอดภัยเพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมส่วนบุคคล โดยเป็นกิจกรรมให้แรงเสริมความเชื่อมั่นถึงประโยชน์ของการใช้ PPE เพื่อส่งผลต่อการยอมรับการใช้ PPE
                    2. 
เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพควรปรับรูปบบการบริหารจัดการอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล โดยเพิ่มการตรวจสอบสภาพความพร้อมในการใช้งานของ PPE และสภาพของการใช้ PPE แล้วเกิดความสะดวกในขณะปฏิบัติงานแม้ในช่วงการทำงานอย่างเร่งรีบ โดยเริ่มที่แผนกฟิลลิ่งเป็นแผนกแรก
                    3. 
การศึกษาครั้งต่อไปควรศึกษาตัวแปรสภาพแวดล้อมในการทำงานเพิ่มเติมด้วย

          กิตติกรรมประกาศ
                    
การศึกษาครั้งนี้สามารถลุล่วงไปด้วยดีนั้น ต้องขอขอบคุณท่านผู้จัดการแผนกความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (สาขาบางนา) เจ้าหน้าที่อาชีวอนามัย และความปลอดภัยในระดับวิชาชีพ และพนักงานฝ่ายการผลิตทุกท่านที่สละเวลาอันมีค่าในการตอบแบบสอบถามเป็นอย่างดี

 

  เอกสารอ้างอิง
          1. 
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 4ก วันที่ 17 มกราคม 2554. (2554). พระราชบัญญัติ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทํางาน พ.ศ. 2554.  ,5-24
          2. 
Occupational Safety and Health Administration. (2012). Personal Protective Equipment. [การเข้าถึง] https://www.osha.gov/personal-protective-equipment.
          3. 
สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. (2550). ทฤษฎีและเทคนิคการปรับพฤติกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : สำานักพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.
          4. 
Schwartz, S.H., 1977. Normative influences on altruism. In:Berkowitz, L. (Ed.). Advances in experimental social psychology 10, New York, NY, USA, p. 221–279.
          5. 
บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด. (2563). เอกสารรายงานสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานระหว่างพ.ศ. 2561 – พ.ศ. 2563. 1-3.
          6. 
Rogers, E., & Shoemaker, F. (1978). Communication of innovations: A cross-cultural approach. New York: Free Press.
          7. 
ปรัชญา ไชยอิ่นคา. (2556).ปัจจัยต่อการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล. [วิทยานิพนธ์] หลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี.
          8. 
พรธิดา เทพประสิทธิ์ และประสพชัย พสุนนท์. (2560). ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของนักวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับการรับรองระบบมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ISO /IEC – 17025 ในเขตกรุงเทพมหานคร. วารสารสาธารณสุขมหาวิทยาลัยบูรพา, 12(1),66-75.
          9. 
สุรชัย ชัยขวัญงาม. (2552). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการยอมรับอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของพนักงาน บริษัท อเมริกัน บิวเดอร์ จำกัด.
          10. 
จินตนา เนียมน้อย มัณฑนา ดำรงศักดิ์ และวนลดา ทองใบ. (2556). ปัจจัยทำนายการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จังหวัดสมุทรปราการ.พยาบาลสาร, 40(3),30-9.

 

Visitors: 414,907