การทำงานแบบดับกระแสไฟฟ้า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย
เผยแพร่เมื่อ 11/08/2564...,
เขียนโดย ว่าที่ร้อยตรีมนัสชัย เนื่องนิกร
นักปฏิบัติงานเทคนิค ระดับ 5 (จป.วิชาชีพ)
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดชลบุรี...,
เรื่อง การทำงานแบบดับกระแสไฟฟ้า จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะปลอดภัย
การปฏิบัติงานด้านระบบไฟฟ้าของ กฟภ. ไม่ว่างานก่อสร้าง/ปรับปรุงระบบจำหน่าย ในกรณีเมื่อพิจารณาแล้วจำเป็นต้องทำงานแบบไม่มีไฟในระบบจำหน่าย (ดับไฟทำงาน) มาตรการป้องกันอันตรายที่ผู้ปฏิบัติงานต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยในการทำงานอย่างสูงสุด ต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
(1) ปลดสวิตช์ตัดตอนออกให้หมดทุกสาย ทั้งต้นทางและปลายทางของจุดที่ปฏิบัติงาน
(2) ติดตั้งป้ายห้ามสับสวิตช์ “ห้ามสับสวิตช์เด็ดขาด ช่างไฟฟ้ากาลังปฏิบัติงาน" ที่อุปกรณ์ที่ได้ปลดสวิตช์ออกแล้วทุกจุด
(3) เมื่อได้รับแจ้งว่ากระแสไฟฟ้าดับแล้ว ให้สอบถามศูนย์ควบคุมการจ่ายไฟด้วยตนเองอีกครั้งเพื่อให้เกิดความแน่ชัดของการสื่อสารที่ถูกต้องแม่นยำ
ก่อนลงมือปฏิบัติงานต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่ายังมีแรงดันไฟฟ้าอยู่หรือไม่ ด้วยการใช้เครื่องมือตรวจสอบแรงดันไฟฟ้า ที่เรียกว่า Voltage Detector โดยการตรวจสอบแรงดันในระบบจำหน่าย 22/33 Kv. ควรยืนให้ร่างกายอยู่ห่างอย่างน้อยที่สุด 1 เมตร และในระบบสายส่ง 115 Kv. ควรยืนให้ร่างกายอยู่ห่างอย่างน้อยที่สุด 3 เมตร และต้องสวมถุงมือ รัดเข็มขัดนิรภัยติดกับเสา เมื่อตรวจสอบพบว่าไม่มีแรงดันไฟฟ้าแล้ว ให้ติดตั้งชุดเครื่องมือต่อสายลงดิน (Short Ground) ต้องต่อลงดินจำนวน 3 จุด ด้วยกัน ได้แก่ ต้นทาง จุดปฏิบัติงานและปลายทาง โดยมีขั้นตอนของการต่อลงดิน (Short Ground) ที่ถูกวิธี ดังนี้
(1) ผู้ปฏิบัติงานยืนให้ร่างกายอยู่ในระยะห่างที่ปลอดภัย
(2) การ Short Ground ในระบบ 22/33 Kv. เริ่มที่เฟส B A C ตามลำดับหรือเฟสที่ใกล้ตัวที่สุดก่อน ส่วนในระบบสายส่ง 115 Kv. เริ่มที่เฟส C B A ตามลำดับอย่างเคร่งครัด
(3) ต้องสวมถุงมือและรัดเข็มขัดนิรภัยติดกับเสา ก่อนดำเนินการ Short Ground ทุกครั้ง หลังจากนี้ลงมือปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
เพียงเท่านี้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนก็จะเกิดความปลอดภัยในการทำงาน หากเกิดกระแสไฟฟ้าย้อนเข้ามาในระบบก็จะลดความเสียหายได้เช่นกัน ความปลอดภัยต้องมาก่อนการปฏิบัติงานเสมอ ตามคำที่กล่าวไว้ว่า “คนสำคัญ งานสำเร็จ และปลอดภัย"