หลักความปลอดภัย ในการใช้รถยก (Reach Truck)
เผยแพร่เมื่อ 17/07/2564...,
เขียนโดย คุณพัฒน์ศิริ ทองหวาน
Safety and Risk Management Officer Department Manager
บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด สาขาคลังสินค้า...,
หลักความปลอดภัยในการใช้รถยก (Reach Truck)
บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด (สาขาคลังสินค้า) นั้นมีการใช้เครื่องจักรเพื่อเป็นเครื่องทุ่นแรงนั่นคือ รถยก (Forklift) เป็นจำนวนมาก ทางบริษัทจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้รถยก (Forklift) อันจะส่งผลให้เกิดการสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือสุขภาพของพนักงาน ทั้งนี้จึงได้จัดทำหลักความปลอดภัยในการใช้รถยก ขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้ปฏิบัติงานกับรถยก และพัฒนาระบบมาตรฐานการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้เป็นตามมาตรฐานสากล
หลักความปลอดภัยในการใช้รถยก
1. ผู้ขับขี่รถยกจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ซึ่งผ่านการฝึกอบรม มีใบอนุญาตขับขี่และได้รับการมอบหมายให้ขับขี่โดยเฉพาะเท่านั้น
2. รถยกต้องอยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้งานและได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง (ตรวจเช็ครถยกก่อนปฏิบัติงานทุกวัน)
3. ผู้ขับขี่รถยกต้องมีสภาพร่างกายสมบูรณ์พร้อมสำหรับการขับขี่
4. ผู้ขับขี่ต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ที่กำหนดให้ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน
5. ผู้ขับต้องคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานกับรถยก
6. ก่อนออกรถมองหน้า–หลังต้องแน่ใจว่าเสา งา ของที่บรรทุกและเส้นทางอยู่ในสภาพเรียบร้อยและไม่มีสิ่งกีดขวางเส้นทางเดินรถ
7. ห้ามปรับแต่งหรือดัดแปลงอุปกรณ์แจ้งเตือนอันตรายของรถยกโดยเด็ดขาย (สัญญานไฟ,เสียงแตร)
8. ห้ามโดยสารรถยก และห้ามยืนหรือเดินผ่านใต้งาไม่ว่าจะบรรทุกของอยู่หรือไม่
9. ต้องปฏิบัติตามกฎจราจรในการขับขี่และใช้ความเร็วไม่เกินตามที่กำหนดไว้ (9 กิโลเมตร/ชั่วโมง)
10. ขณะขับรถ อย่ายื่นมือหรือเท้าออกไปเกินส่วนที่เป็นเสาของรถยก เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ ผู้ขับขี่ได้
11. ลดความเร็ว ให้สัญญาณเสียงและไฟทุกครั้งเมื่อเจอทางเลี้ยว ทางแยก ช่องประตูและมุมอับ (ห้ามแซงซึ่งกันและกันในบริเวณมุมอับ และทางแยกฯ)
12. ลดความเร็วเมื่อเจอพื้นเปียกหรือลื่น เพราะอาจทำให้เสียหลักและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
13. เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้า ต้องยกงาให้พ้นจากพื้นไม่น้อยกว่า 10 ซ.ม. และในขณะที่รถวิ่งระดับงาต้องสูงกว่าระดับพื้นไม่เกิน 30 ซ.ม. พร้อมทั้งยกปลายงาเข้าหาคนขับเพื่อป้องกันวัตถุที่ยกไหลตกลงมา
14. ห้ามบรรทุกของที่หนักเกินพิกัด หรือน้ำหนักที่กำหนดไว้ และห้ามบรรทุกของที่มีความสูงเกินไป เพราะอาจบังวิสัยทัศน์ของผู้ขับได้
15. ต้องเว้นระยะห่างในการขับขี่ที่เหมาะสมให้สามารถเคลื่อนย้ายหรือเดินรถได้ง่าย
16. น้ำหนักของสิ่งของที่บรรทุกบนงาควรจัดให้ได้ศูนย์ถ่วง รวมทั้งจัดวางตำแหน่งให้เกิดความปลอดภัย
17. เมื่อเลิกใช้งาน ต้องปล่อยให้งาลงต่ำแตะพื้น ในลักษณะขนานกับพื้น แล้วจึงดับเครื่อง
18. จอดรถยกบริเวณจุดจอด ห้ามจอดกีดขวางทางเดิน ช่องประตูเข้า-ออก อุปกรณ์ฉุกเฉิน และประตูทางหนีไฟโดยเด็ดขาด