ความรู้ด้านความปลอดภัยในงานประกอบและผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่เพื่ออุตสาหกรรม Power Plant Oil & Gas นำเสนอในส่วนงานเตรียมพื้นผิวและการปกป้องพื้นผิว (Surface preparation and coating)

เผยแพร่เมื่อ:  17/07/2564....,
เขียนโดย คุณอนุชา ฉิมเชิด
               ผู้จัดการหน่วยงานความปลอดภัยในการทำงาน 
               
บริษัท เดบโบราห์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด...,

 

เรื่อง ความรู้ด้านความปลอดภัยในงานประกอบและผลิตชิ้นงานขนาดใหญ่เพื่ออุตสาหกรรม Power Plant Oil & Gas
นำเสนอในส่วนงานเตรียมพื้นผิวและการปกป้องพื้นผิว
(Surface preparation and coating)

 

          ปัจจุบันผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของพนักงานทั้งที่ผ่านการอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับต่างๆ และจบสายตรงสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ สามารถที่จะทำงานตามประเภทกิจการ แบ่งเป็น 2 ประเภท คืองานในโรงงานอุตสาหกรรมหรืองานในสำนักงาน และประเภทงานภาคสนามหรือไซท์งานก่อสร้าง ในบทความนี้จะกล่าวถึงงานที่ปฏิบัติการในภาคสนามเป็นการประกอบโครงสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อผลิตเสร็จแล้วผ่านการทดสอบระบบการควบคุมการใช้งานเบื้องต้นแล้วจะต้องมีการเคลื่อนย้ายไปติดตั้งประกอบกับส่วนอื่นๆในพื้นที่ทำการผลิตและใช้งานจริง เช่นการประกอบโครงสร้างแท่นขุดเจาะและผลิตน้ำมัน ชุดท่อส่งก๊าซและน้ำมัน ซึ่งในขั้นตอนการผลิตชิ้นงานพวกนี้ต้องเริ่มจากกระบวนการประกอบงานตัด งานเชื่อมโลหะ งานทดสอบ งานทำสีเคลือบพื้นผิว งานยกเคลื่อนย้าย ฯลฯ ในตอนนี้จะนำเสนอในส่วนงาน เตรียมพื้นผิวและการปกป้องพื้นผิว ซึ่งในกระบวนการนี้จะเป็นประโยชน์กับ จป.ที่มีความสนใจและมีโอกาสปฏิบัติงานด้านนี้

          ตอนที่ 1 กระบวนการแรกในการทำการเคลือบพื้นผิว
                    ถ้าเป็นงานทั่วไปที่ไม่ต้องการคุณภาพสูงก็คือการขัดกระดาษทรายที่ผิวโลหะก่อนจะทาสีนั่นเองแต่เนื่องจากชิ้นงานที่ผลิดเพื่อติดตั้งในทะเลหรือกระบวนการผลิตที่ติดตั้งใช้งานกลางแจ้งจะต้องมีความทนทานต่อการกัดกร่อนเป็นพิเศษ จึงต้องใช้วิธีพ่นทราย (Sand Blast)  เพื่อเตรียมพื้นผิว วิธีการคือจะใช้แรงดันจากปั๊มลมเพื่อนำพาวัสดุพ่นที่มีอนุภาคขนาดเล็กให้เคลื่อนที่ผ่านหัวพ่น (Nozzle) ด้วยความเร็วสูงไปกระทบผิวของชิ้นงานจุดประสงค์ของการพ่นทรายนั้นมักเป็นการกำจัดสนิมบนโลหะบางประเภท หรือเตรียมผิวชิ้นงานให้มีความขรุขระเพื่อให้วัสดุเคลือบยึดติดที่ผิวของชิ้นงานได้ดีขึ้น โดยอุตสาหกรรมก่อสร้างโครงสร้างที่เป็นเหล็กขนาดใหญ่ทั่วไปที่อยู่บนฝั่ง (Onshore) เช่นโครงสร้างเหล็กรองรับท่อ (Pipe Rack) ส่งจ่ายในระบบกระบวนการผลิตในโรงกลั่นน้ำมันโรงผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างที่ใช้งานกลางทะเล (Offshore) แท่นขุดเจาะชิ้นงานดังที่กล่าวมานี้จะใช้กระบวนการพ่นทรายนี้ มาเตรียมผิวโลหะเพื่อการทำสีป้องกันการเกิดออกไซด์ที่พื้นผิวเหล็กก่อให้เกิดสนิม

 

          อันตรายที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้คือ
                    1. 
ฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กๆที่เกิดขึ้นจากการแตกตัวเมื่อการพ่นวัสดุขัดผิว (Abrasive) อนุภาคที่นำมาใช้ในการพ่นหลายอย่างแต่ที่นิยมใช้ได้แก่ เม็ดเหล็ก (Steel Grit) อลูมินัมซิลิเกต (Aluminum Silicate) และทรายการ์เน็ท (Garnet Sand) ซึ่งการเลือกใช้อนุภาคต่างๆ นั้นจะขึ้นกับวัตถุประสงค์ของชิ้นงานที่นำไปใช้
                        
การพ่นทรายมักทำในพื้นที่ปิดเพื่อป้องกันฝุ่นที่เกิดจากการพ่นทรายรูปแบบของพื้นที่ที่ใช้ขึ้นอยู่กับชนิด รูปร่างลักษณะของชิ้นงานเช่น โรงพ่นที่สร้างขึ้นในลักษณะถาวรผนังปิดคลุมมิดชิด มีระบบระบายอากาศ ระบบบำบัดฝุ่น
                        
โดยทั่วไปนั้นอนุภาคที่แตกตัวจะมีขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอนจัดว่าเป็นฝุ่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพ (Respirable Dust) ซึ่งถือเป็นขนาดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานบริเวณรอบพื้นที่โรงพ่นทราย
                        
ฉะนั้นจึงต้องมีการควบคุมอันตรายในกระบวนการปฎิบัติงาน โดยการกำจัดฝุ่นที่เกิดขึ้นด้วยระบบบำบัดฝุ่น (Dust collector) เพื่อให้ลดปริมาณฝุ่นไม่ให้ออกสู่ภายนอกป้องกันอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานอื่นโดยรอบ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานพ่นทรายได้รับผลกระทบไปด้วย ตัวผู้ปฏิบัติงานต้องใช้ระบบส่งลมขณะเข้าปฏิบัติ งานในพื้นที่พ่นทราย

                    2. อากาศที่ส่งผ่านเครื่องกรองอากาศเพื่อช่วยให้อากาศหมุนเวียนในชุดปฏิบัติงาน อากาศที่ส่งมาจากเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) ต้องมีการกรองอากาศและผ่านเครื่อง ปรับคุณภาพอากาศ (Air Purify) นอกจากนี้ยังต้องมีเครื่องตรวจสอบก๊าซที่เป็นอันตรายที่อาจจะปนเข้าไปในระบบเช่น คาร์บอนมอนนอคไซด์ (Co Monitor) ซึ่งจะมีการตั้งค่าไว้เมื่อมีคาร์บอนมอนนอคไซด์ เกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานจะมีสัญญาณแจ้งเตือน
                    3. เสียงที่เกิดจากการพ่นทรายโดยปกติจะมีความดังอยู่ที่ 100-110 dBA ซึ่งผู้ปฏิบัติงานต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเสียงดังตลอดเวลา
                    
4. อันตรายที่เกิดจากแรงดัน ทรายหรือวัสดุขัดผิวที่ออกจากปลายหัวพ่น (Nozzle) จะถูกพามากับลมและเมื่อกระทบกับพื้นผิว ถ้าพลาดไปถูกร่างกายก็อาจจะเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้
                    
5. การปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศ นอกจากจะมีการพ่นทรายในโรงพ่นแล้วบางชิ้นงานจะต้องมีการทำการเคลือบพื้นผิวภายในถัง ท่อขนาดใหญ่ เมื่อมีการเข้าไปทำการพ่นทรายภายในถัง ท่อ ก็ถือเป็นการทำงานใน พื้นที่อับอากาศต้องมีมาตรการควบคุมตามหลักความปลอดภัยในการทำงานและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
                    
6. อันตรายจาการสะดุด ล้ม ตกจากที่สูง เนื่องจากพื้นที่การปฏิบัติงานเมื่อเริ่มทำการพ่นทรายฝุ่นที่เกิดขึ้นจะค่อยๆหนาแน่นและทัศนวิสัยการมองเห็นจะลดลงถ้าสภาพพื้นที่การปฏิบัติงานไม่มีการจัดระเบียบวางแผนงานไม่ดีก็จะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้
                    
7. อันตรายจากฝุ่นที่เกิดขึ้นในขั้นตอนเก็บทรายที่พื้นในโรงพ่นและทำความสะอาดชิ้นงาน การกวาดรวบรวมทรายที่ผ่านการใช้งานแล้วเพื่อนำไปกำจัดจะมีฝุ่นเล็กๆปะปนกับผิวของโลหะลอยในอากาศซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจซึ่งขณะทำการทำความสะอาดจะต้องสวมอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นด้วย

          จป.ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไร
                    - 
เตรียมความพร้อมในการศึกษาข้อมูล SDS ของวัสดุที่นำมาใช้ในการพ่น
                    - 
จัดหาอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยให้เหมาะสมกับลักษณะงาน และการบำรุงรักษาการตรวจสอบ อายุการใช้งานของกรองอากาศ (Air Filter) เครื่องปรับคุณภาพอากาศ (Air Purify)
                    - 
มีความรู้เรื่องการทำงานในที่อับอากาศ การใช้เครื่องมือตรวจสอบสภาพอากาศ การควบคุมสถานะการณ์ฉุกเฉิน
                    - 
ระบบการขออนุญาตทำงาน (Permit to work)

          เมื่อทำการเตรียมพื้นผิวเรียบร้อยแล้วลำดับต่อไปต้องทำการพ่นสีเพื่อป้องกันพื้นผิวซึ่งจะเป็นงานต่อเนื่อง จะมีขั้นตอนกระบวนการปฏิบัติและ สิ่งที่ จป.ควรทราบติดตามได้ใน ตอนที่ 2 งานเคลือบและป้องกันพื้นผิว (Coating protection surface) 

 

Visitors: 422,197