เทคนิคการเลือกรองเท้านิรภัยให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน

เผยแพร่เมื่อ 25/07/2564...,
เขียนโดย คุณศศิวลัย สุขโข 
               จป.วิชาชีพ
               บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด...,

 

เรื่อง เทคนิคการเลือกรองเท้านิรภัยให้เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงาน 

          รองเท้านิรภัยนั้นเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ในการทำงานที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่มีในส่วนของโรงงาน คลังสินค้า หรือกิจการที่มีความเสี่ยงในการใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมในการทำงานเป็นหลัก ถึงแม้ว่าการเลือกซื้อรองเท้านิรภัยจะไม่ใช่เรื่องยากเพราะมีตัวแทนจำหน่าย รวมถึงข้อมูลสินค้าของรองเท้านิรภัยอยู่แล้ว แต่การเลือกซื้อให้ได้มาตรฐานของรองเท้านิรภัยนั้น ผู้สั่งซื้อจำเป็นที่จะต้องมีความรู้และเข้าใจเรื่องมาตรฐาน และคุณภาพของรองเท้านิรภัย ที่สำคัญคือต้องเลือกรองเท้านิรภัยมาใช้งานให้ถูกกับประเภทของการปฏิบัติงานของพนักงานด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการเลือกซื้อรองเท้านิรภัยที่ได้มาตรฐาน และใช้งานได้ตรงตามประเภทของงานด้วย

 

          ความสำคัญของการเลือกรองเท้านิรภัย
                    
รองเท้านิรภัยถูกนำไปใช้เมื่อต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย เช่น เขตก่อสร้าง งานในโรงงานที่มีการใช้เครื่องจักร หรืองานคลังสินค้าที่มีการใช้รถ Forklift หรือ Hand lift รวมถึงการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีวัตถุระเบิด หรือกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งสามารถเกิดอุบัติเหตุกับเท้าของผู้ปฏิบัติงานได้ หากไม่ระมัดระวังในการทำงาน และอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคาดคิดได้ ดังนั้นจึงควรสวมใส่รองเท้านิรภัยที่ถูกประเภทเพื่อเป็นการป้องกันเท้าไว้ก่อนดีที่สุด ด้วยองค์ประกอบและวัสดุที่ใช้ผลิตรองเท้านิรภัย สามารถลดอุบัติเหตุได้จากการถูกทิ่มแทง การเจาะ หรือถูกกดทับด้วยของหนักและเครื่องจักร รวมถึงรองเท้านิรภัยยังป้องกันกระแสไฟฟ้าได้อีกด้วย

 

          วิธีเลือกรองเท้านิรภัยให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อผู้ปฏิบัติงาน ใช้หลักการที่สำคัญ 3 ประการ คือ
                    
1. เลือกให้เหมาะสมกับงาน
                        
งานที่ต้องสวมใส่รองเท้านิรภัยนั้น โดยปกติแล้วจะเป็นลักษณะของงานที่ต้องอยู่ในโรงงาน งานประกอบรถยนต์ เครื่องบิน งานซ่อมแซมอาคาร หรืองานที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เป็นต้น และเนื่องจากรองเท้านิรภัยแต่ละประเภทมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ทำให้เหมาะกับลักษณะของงานที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ก็ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีคุณสมบัติในการป้องกันไฟฟ้าสถิต เพราะเมื่อใดก็ตามที่ต้องทำงานในสถานที่ที่มีไฟฟ้ารั่ว ความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุจากไฟฟ้าก็ย่อมมีมากขึ้นด้วย การใส่รองเท้านิรภัยที่มีเป็นฉนวนกันไฟฟ้าจึงเป็นการช่วยลดความเสี่ยงได้ โดยเราสามารถตรวจสอบคุณสมบัติของรองเท้านิรภัยแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อ แต่ละประเภทได้จาก Product DATA Sheet จากบริษัทผู้ให้บริการได้เพื่อความมั่นใจก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ตัวอย่างเช่น

 

                    2. เลือกขนาดรองเท้านิรภัยให้เหมาะสมกับเท้า
                       
ขนาดของรองเท้านิรภัยก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่น้อยในการนำมาพิจารณาเลือกซื้อ เพราะหากพนักงานใส่รองเท้านิรภัยที่หลวมเกินไป โอกาสที่รองเท้าจะหลุดขณะปฏิบัติงานก็มีมากทำให้เกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้ง่าย นอกจากนี้การใส่รองเท้านิรภัยที่คับเกินไปก็ยังทำให้รู้สึกอึดอัดเท้าและเจ็บเท้าได้ รวมถึงด้วยสภาพแวดล้อมส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ใช้งานรองเท้านิรภัย จะมีทั้งความชื้น หรือร้อนเกินไป ทำให้เท้าอับชื้นได้ง่าย ฉะนั้นแล้วการเลือกรองเท้านิรภัยให้เหมาะสมกับสรีระของเท้า ไม่ว่าจะเป็นขนาด หรือเข้ากับทรงเท้าได้ดีก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและปลอดภัยในการทำงานได้มากขึ้น

                    3. เลือกรองเท้านิรภัยที่ได้มาตรฐาน
                        
ตามหลักสากลนั้นมาตรฐานรองเท้านิรภัยถูกกำหนดให้มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ มาตรฐานรองเท้านิรภัยยุโรป EN345 และมาตรฐานรองเท้านิรภัย ANSIZ41.1 โดยมาตรฐานของรองเท้าทั้งสองประเภทนั้นมีข้อกำหนดดังนี้
                              
3.1 มาตรฐานรองเท้านิรภัยของสหภาพยุโรป EN345
                                     
รองเท้านิรภัยคู่ใดจะได้รับเครื่องหมายมาตรฐาน EN345 อันเป็นข้อบังคับหลักของยุโรปหรือเครื่องหมายมาตรฐาน ISO EN20345 ซึ่งได้กำหนดขึ้นมาใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
                                                  
1) หัวรองเท้าจะต้องมีการป้องกันแรงกระแทกได้สูงถึง 200 จูล
                                                  
2) ผ่านการทดสอบของแรงบีบอัดได้
                                                  
3) บริเวณส่วนบนของรองเท้านั้นจะต้องมีความหนาที่เพียงพอและสามารถต้านทานของการขัดสีได้ในระดับที่มาตรฐานกำหนดไว้
                                                  
4) พื้นรองเท้าต้องสามารถที่จะทนต่อความร้อนได้ดี ต้านทานการขัดสี และสามารถรับแรงกระแทกได้ดี นอกจากนี้ยังต้องทนทานต่อสารเคมีหรือน้ำมันบางชนิดที่มีข้อกำหนด

                                        นอกจากนี้ยังมีข้อบังคับให้ผู้ผลิตระบุอักษรย่อเพื่อบอกคุณสมบัติของรองเท้านิรภัย ดังนี้
                                                  
1) SB (Safety Basic) สำหรับรองเท้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐาน
                                                  
2) SBP (SB with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นต้านทานการแทงทะลุ
                                                  
3) S1 (SB with anti-static sole and cushioned heel area) สำหรับรองเท้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต
                                                  
4) S1P (S1 with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมทั้งพื้นต้านทานการแทงทะลุ
                                                  
5) S2 (S1 with water resistant upper) สำหรับรองเท้ามีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต รวมทั้งส่วนบนต้านทานน้ำ
                                                  
6) S3 (S2 with pierce resistant midsole) สำหรับรองเท้าที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของมาตรฐานพร้อมพื้นและบริเวณส้นต้านทานไฟฟ้าสถิต ส่วนบนต้านทานน้ำ รวมทั้งพื้นต้านทานการแทงทะลุ

                              3.2 มาตรฐานรองเท้านิรภัย ANSIZ41.1
                                        
1) หัวของรองเท้าต้องทนต่อการถูกตกกระแทก หรือแรงบีบได้
                                        
2) รองเท้าจะต้องมีแผ่นป้องกันกระดูกเท้าส่วนบน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่กระดูกเท้าด้านบนจะแตกหรือหักจากแรงตกกระแทกได้
                                        
3) รองเท้าจะต้องสามารถกระจายไฟฟ้าสถิตได้ โดยไม่เพียงแต่ต้องป้องกันการถูกไฟดูดเท่านั้น แต่รองเท้ายังต้องเป็นตัวนำไฟฟ้าให้กระจายลงสู่พื้นได้ด้วย
                                        
4) รองเท้าตัวนำ จะต้องมีคุณสมบัติปล่อยไฟฟ้าสถิตจากร่างกายลงสู่พื้นได้ดี เพื่อป้องการไฟฟ้าสถิตสะสม และอาจเป็นอันตรายได้เมื่อเข้าไปทำงานในจุดที่มีวัตถุหรือสารระเบิด
                                        
5) รองเท้าจะต้องมีความทนทานเพียงพอไม่ให้มีการถูกเจาะทะลุ ส่วนสำคัญของรองเท้านิรภัยตามมาตรฐานข้อนี้อยู่ที่พื้นรองเท้า
                                        
6) รองเท้ากระจายไฟฟ้าสถิต ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นำคุณสมบุติเรื่องการกระจายไฟฟ้าสถิตออกจากตัวผู้สวมใส่ ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถต้านทานกระแสไฟฟ้าไม่ให้ไฟดูดได้

 

          สรุป การเลือกซื้อรองเท้านิรภัยเป็นเรื่องสำคัญและควรใส่ใจ ไม่ใช่เพราะลักษณะรูปทรงที่สวยงามทันสมัย แต่เพราะพื้นที่ที่เราหรือพนักงานต้องเข้าไปปฏิบัติงานนั้นมีความเสี่ยงอันตรายที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับความร้อน/ประกายไฟ งานที่เกี่ยวข้องกับกระแสไฟฟ้า งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี/น้ำมัน งานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถ Fork lift หรือ Hand lift รวมไปถึงงานก่อสร้างหรืองานทั่วไปที่มีความจำเป็นต้องสวมใส่รองเท้านิรภัยเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น จป.วิชาชีพหรือผู้จัดซื้อจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกรองเท้านิรภัยและวิธีการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมกับหน้างานแต่ละประเภทที่มีความเสี่ยงแตกต่างกัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอุบัติเหตุจนเกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ เพียงเท่านี้ก็เป็นการช่วยลดอุบัติเหตุในองค์กรของเราได้แล้ว

 

 

Visitors: 414,929