การปฏิบัติงานกับสารเคมีเบื้องต้น
เผยแพร่เมื่อ 04/08/2564...,
เขียนโดย คุณสิริโสภา ตันเฮง
ศิษย์เก่า ภาควิชาสุขศาสตร์อุ
เรื่อง การปฏิบัติงานกับสารเคมีเบื้องต้น
สารเคมีตามกฎกระทรวงฯ หมายถึง ธาตุ สารประกอบ หรือสารผสม ซึ่งมีสถานะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของเส้นใย ฝุ่น ละออง ไอ หรือฟูม สารเคมีเหล่านี้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพที่ปฏิบัติงานกับสารเคมีจากการรับสัมผัสผ่านช่องทางต่างๆของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ปาก จมูก ดวงตา และผิวหนัง มีทั้งในรูปแบบอาการเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่น ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อดวงตา ผิวหนังที่ถูกสัมผัสกับสารเคมี สายตาพร่ามัว หรือการเป็นพิษต่ออวัยวะภายในร่างกาย นอกจากจะเกิดอันตรายต่อร่างกายแล้วยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินได้อีกด้วย เช่น การระเบิดของสารเคมี การรั่วไหล หรือการเกิดอัคคีภัย เป็นต้น ดังนั้นการปฏิบัติงานกับสารเคมีจึงต้องใช้ความระมัดระวังและมีความละเอียดรอบคอบอย่างมาก ในการทำงานนั้นผู้ปฏิบัติงานกับสารเคมีต้องทราบถึงคุณสมบัติทางเคมีและลักษณะการก่อให้เกิดอันตรายของสารเคมี รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment : PPE) สำหรับสารเคมีนั้นๆด้วย โดยทราบได้จากการอ่านเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (Safety Data Sheet : SDS) ซึ่งเป็นเอกสารข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยที่ประกอบไปด้วย 16 หัวข้อ และในสถานที่ทำงานควรมีการระบายอากาศที่ดี เหมาะสมกับชนิดของสารเคมีนั้นๆ รวมไปถึงการถ่ายเทสารเคมีต้องทำด้วยความระมัดระวัง และติดฉลากภาชนะบรรจุทุกครั้ง ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานเองก็ควรมีสุขนิสัยในการทำงานที่ดีด้วย ควรล้างมือและทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากปฏิบัติงาน และที่สำคัญควรมีการตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อเฝ้าระวังและติดตาม ประเมินว่าผู้ที่ปฏิบัติงานกับสารเคมีได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ นอกจากนี้ควรมีแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมี เช่น การปฐมพยาบาลเมื่อได้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย การรั่วไหล หรือการเกิดอัคคีภัย เป็นต้น ควรมีการวางแผนและซ้อมแผนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งจัดการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานกับสารเคมีและการจัดการเหตุฉุกเฉินจากสารเคมีแก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน