ข้อคิดของคนอยู่ไกล กรณีเพลิงไหม้ซอยกิ่งแก้ว ทำให้เราคิดทำอะไรบ้าง

เผยแพร่เมื่อ: 09/07/2564....,
เขียนโดย รศ.สราวุธ สุธรรมาสา, นายกสมาคม ส.อ.ป.,

 

เรื่อง ข้อคิดของคนอยู่ไกล กรณีเพลิงไหม้ซอยกิ่งแก้ว
ทำให้เราคิดทำอะไรบ้าง

          เดิมทีตั้งใจมากที่จะเสาะหาจป.วิชาชีพในซอยกิ่งแก้ว ที่อยู่ใกล้หรืออยู่ละแวกโรงงานที่เกิดเพลิงไหม้ในรัศมี 7-8 กิโลเมตร เพื่อจะได้อารมณ์ของคนใกล้เหตุการณ์ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง รับมืออย่างไรต่อนายจ้าง ผู้บริหาร และลูกจ้าง และการตัดสินใจต่าง ๆ นั้นมาจากการเฝ้าติดตามและประเมินอย่างไร รวมถึงจากประสบการณ์นี้ จะคิดปรับปรุงการทำงานที่ผ่านมาอะไรบ้าง ที่จะทำให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นอีก ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มาก ๆ ต่อจป.วิชาชีพโรงงานอื่น และคนในวงการ HSE
          อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ผู้บริหารไม่อนุญาตให้จป.วิชาชีพที่ผมได้พูดคุย จนเข้าใจประเด็นความต้องการเรียบร้อย และมีความกระตือรือร้นมากที่จะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงให้กับเพื่อน ๆ ในวงการ ด้วยเหตุผลจริง ๆ ที่ไม่เปิดเผย
          ก็ให้กำลังใจกับจป.วิชาชีพไปว่าไม่เป็นไร เราต้องการช่วยเหลือ แต่เมื่อผู้บริหารไม่เข้าใจเจตนา และกลัวในสิ่งที่ไม่ใช่เรื่อง ก็รอไปโอกาสหน้า ผู้บริหารคงไม่ขี้กลัวจนเกินเหตุไปตลอดชีวิต (มั๊ง) และก็ขอถือโอกาสนี้ ขอโทษสมาชิกสอป. และเพื่อน ๆ HSE ที่สอป. ไม่สามารถจะจัดสนทนาในเรื่องนี้ได้

          เอาละครับ ก็มาดูว่าสำหรับผมที่อยู่ไกลจากสถานที่เกิดเหตุ จะมีข้อคิดอะไรต่อเรื่องที่เกิดขึ้นบ้าง ดังนี้
                    ก. ในวันเกิดเหตุ
                        หากย้อนเวลาได้ ในเช้าวันเกิดเหตุ เมื่อเข้าที่ทำงาน (หรือจะโทรเข้าหาทีมงานตอนเกิดเหตุ- ตามแต่กรณีของแต่ละแห่ง) สิ่งที่น่าจะดำเนินการก็คือ
                                1. ตรวจสอบโครงสร้างต่าง ๆ ของอาคาร เครื่องจักร ระบบท่อต่าง ๆ
                                           - อย่าลืมว่ากรณีนี้ (ตามข่าว) มีเสียงระเบิดดังขึ้น โครงสร้างโรงงานที่เกิดเหตุพัง กระจกของชาวบ้านแตกกระจาย นี้คือสิ่งบอกเหตุว่ามีความรุนแรง อีกทั้งความรู้เดิมของเรา น่าจะจำได้ว่าอันตรายจากแรงระเบิดของสารเคมีอันตรายนั้น จะเกิดรังสีความร้อน ซึ่งสามารถประเมินผลกระทบได้ดังนี้
                                            >>>>> ที่ระดับ 37.5 กิโลวัตต์/ตารางเมตร สามารถทำลายโครงสร้างของอาคาร หรือถังเก็บกักได้
                                            >>>>> ที่ระดับ12.5 กิโลวัตต์/ตารางเมตร จะมีผลต่อโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง เช่นพวกไม้ (จะติดไฟ) พวกพลาสติก (จะละลาย) เป็นต้น
                                            >>>>> ที่ระดับ 4.0 กิโลวัตต์/ตารางเมตร เป็นระดับที่ชุมชนเริ่มรู้สึกว่ามีปัญหาเกิดขึ้น
                                           - ดังนั้นจึงต้องให้ทีมงาน เช่นฝ่ายซ่อมบำรุง เดินสำรวจ ตรวจตราอย่างละเอียดว่าโครงสร้างอะไรเสียหายบ้างหรือไม่ อาทิหลังคาแตก? ผนังร้าว? โครงสร้างฝ้าเสียหาย? ถังบรรจุเอียง ทางเดินท่อเสียหาย? เป็นต้น
                                2. ตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ว่ายังอยู่ในตำแหน่งเดิม เช่นถังดับเพลิง Detectors ต่าง ๆ Alarm ต่าง ๆ หรือมีอะไรเสียหายหรือไม่
                                3. ค้นหาหรือชี้บ่งอันตราย (Hazard Identification) ว่าตกลงที่เกิดเพลิงไหม้ ไหม้สารอะไร มี by product อะไร ไปค้นหา SDS ทันที ว่าสารพวกนี้ที่เราชี้บ่งได้นั้น มีอันตรายต่อสุขภาพอะไร อย่างไร ค่ามาตรฐานการสัมผัสมีกำหนดไว้หรือไม่ หนักหรือเบากว่าอากาศ ไวไฟหรือไม่ ระคายเคืองมากไหม ฯลฯ และอุปกรณ์ PPE โดยเฉพาะ respirators ที่มีอยู่ มันสามารถป้องกันสารมลพิษจากการเผาไหม้สารเคมีหรือไม่ (นั่นคือเมื่อเราทราบว่าสารนั้นคือ Styrene Monomer แล้ว ยังมีสารอื่นอีกหรือไม่) วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่เรามี จะได้รับผลกระทบอย่างใดหรือไม่ เป็นต้น
 การค้นหาข้อมูลอันตรายเหล่านี้ จะช่วยให้เราสามารถตอบคำถามของนายจ้าง ผู้บริหาร และลูกจ้างได้เป็นอย่างดี
                                4. ติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อหาข้อมูลให้มากพอที่จะตัดสินใจเรื่องต้องปิดโรงงาน ต้องอพยพลูกจ้างหรือไม่ รวมถึงทิศทางลม สภาพอุตุนิยมวิทยา
                                5. ประเมินความเสี่ยงด้วยการใช้โปรแกรมที่มีประโยชน์ เพื่อประเมินการรั่วไหลของสารเคมี (คิด worst case) ใช้เครื่องตรวจวัดทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม (หากมี) ก็อาจจะทำให้ได้ข้อมูลในระดับหนึ่งประกอบการตัดสินใจ
                                6. สื่อสารกับนายจ้าง ผู้บริหาร และลูกจ้างเป็นระยะ ๆ อย่าลืมว่าในสภาวะเช่นนี้ การสื่อสารความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องไม่พลาดดำเนินการ ด้วยข้อมูลที่พร้อมและถูกต้อง
                                7. ทวนสอบแผนรับมือเหตุฉุกเฉินที่มีอยู่เดิม ว่าหากเหตุการณ์ยังคงไม่น่าไว้วางใจ แผนที่ออกแบบไว้เดิม จะพอใช้งานได้หรือไม่ หากต้องปรับแผน ก็ต้องสื่อสารทำความเข้าใจด้วย

                    ข. หลังเหตุการณ์ผ่านพ้นไป
                                เอาละครับ หากไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่น่าจะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป แต่ต้องเอามาเป็นประโยชน์ให้ได้ ด้วยการ
                                1. สำรวจรอบโรงงานเราในรัศมี 10 กิโลเมตร (หรือมากกว่า หากผลประเมินความเสี่ยงพบว่าจำเป็นต้องไกลกว่านี้) ว่ามีโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตรายอะไรบ้าง อยู่แถวไหน (การใช้ Google Map จึงมีประโยชน์มาก) หาข้อมูลปริมาณการจัดเก็บ (หากทำได้) เพื่อนำมาประเมินอันตรายว่าหากเกิดการระเบิดก็ดี รั่วไหลก็ดี จะมีขอบเขตการครอบคลุมถึงโรงงานเราไหม เป็นต้น
                                สิ่งนี้จะทำให้หากเกิดเหตุร้ายขึ้นมาจริง ๆ ในวันหน้า เราก็สบาย ๆ พร้อมรับมือ เพราะเรารู้แล้วว่าอะไรเป็นอะไร (ซึ่งไม่เหมือนในครั้งนี้ ที่เรามืดแปดด้าน ได้แต่คอยฟังข่าวสาร ซึ่งจริงบ้างเท็จบ้าง) (หมายเหตุ หากมีความสัมพันธ์ที่ดี อาจขอข้อมูลผลการประเมินของโรงงานนั้น ๆ มาเลย จะได้ไม่ต้องทำ)
                                2. จัดทำบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของโรงงานเหล่านั้น ที่เราอาจต้องใช้งานในอนาคต
                                3. ทวนสอบ Layout โรงงานเรา จุดติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ตำแหน่งวาล์วปิดเปิดสารเคมีในสถานที่/ภาขนะบรรจุต่าง ๆ หากพบว่ายังไม่มี หรือไม่เป็นปัจจุบัน ก็ปรับปรุงทันที และจากกรณีเพลิงไหม้ครั้งนี้ จะเห็นว่าเมื่อโครงสร้างเสียหาย การค้นหาตำแหน่งวาล์วปิดเปิดทำได้ยากลำบากมาก เราจึงต้องใช้เทคโนโลยี Simply the Best คือปักหมุดตำแหน่งต่าง ๆ ไว้ เป็นต้น
                                4. ทวนสอบแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน ว่าต้องปรับปรุงส่วนใดให้รับกับอันตรายหรือสิ่งคุกคามใหม่ ๆ จากการสำรวจในข้อ 1 หรือไม่ (เหมือนเช่นอดีตที่ไม่เคยมีเรื่องน้ำท่วมในแผนประเภทนี้มาก่อน จนเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เรื่องน้ำท่วมจึงถูกบรรจุเข้ามาในแผนดังกล่าว)

          ข้อเขียนนี้อาจไม่สมบูรณ์ แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ และให้ข้อคิดที่จะทำให้เราฉุกใจคิดได้ว่ามีอะไรนอกจากนี้อีกไหมที่เราควรคิดทำหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้

#Meet_OHSWA_President
 
 
 
Visitors: 421,705